ฝ่ากระแสเสียงคัดค้าน “กิตติรัตน์” เตรียมนั่งเก้าอี้ ปธ.บอร์ดแบงก์ชาติ เปิด 3 โจทย์ใหญ่ดันเศรษฐกิจไทย ลุยไฟลดดอกเบี้ย “รศ.ดร.อนุสรณ์ ธรรมใจ” ชี้ ต้องเร่งปรับโครงสร้างหนี้ ผสานการทำงานเป็นทีม พร้อมใช้เทคโนโลยีเข้ามาเปลี่ยนระบบการเงินยุคใหม่
ท่ามกลางเสียงคัดค้าน กิตติรัตน์ ณ ระนอง อดีต รมว.คลัง เตรียมเข้าวิน นั่งประธานบอร์ด ธปท.คนที่ 5 ซึ่งขณะนี้กำลังเข้าสู่กระบวนการพิจารณาของคณะรัฐมนตรี แม้ที่ผ่านมามีเสียงคัดค้านถึงความไม่เห็นด้วยของบางฝ่าย มีการให้ความคิดเห็นว่า กลัวการเข้ามาแทรกแซงของการเมืองในการบริหาร และอาจส่งผลต่อสภาวะเศรษฐกิจ โดยเฉพาะความพยายามเข้ามาแทรกแซง เรื่องการปรับอัตราดอกเบี้ย เพราะหลังจากพรรคเพื่อไทย ก้าวขึ้นมาเป็นแกนนำรัฐบาล พยายามให้หน่วยงานเกี่ยวข้องในการกำหนดนโยบายดอกเบี้ยลดลง
แต่การใส่ชื่อ “กิตติรัตน์ ณ ระนอง” อดีต รมว.คลัง ในการเสนอแต่งตั้งเป็นประธานบอร์ด ธปท.คนที่ 5ท่ามกลางการประชุมคัดเลือกครั้งนี้ ใช้เวลาเกือบ 5 ชั่วโมง โดยไม่มีการแถลงข่าว หรือให้สัมภาษณ์หลังการประชุมเสร็จสิ้น โดยมีการส่งจดหมายน้อยถึงสื่อมวลชน ที่มารอทำข่าวจำนวนมาก
โดยเนื้อหาจดหมายระบุว่า ประธานกรรมการคัดเลือกฯ แจ้งว่า วันที่ 11 พ.ย.67 กระบวนการคัดเลือกประธานกรรมการและกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิในคณะกรรมการ ธปท. ได้เสร็จสิ้นแล้ว และเลขานุการฯ จะดำเนินการตามขั้นตอนที่กฎหมายกำหนดต่อไป กล่าวคือ กรณีประธานกรรมการฯ จะนำเสนอชื่อต่อ รมว.คลัง เพื่อเสนอคณะรัฐมนตรี (ครม.) พิจารณาให้ความเห็นชอบ และเมื่อ ครม.เห็นชอบแล้ว ให้ทูลเกล้าฯเพื่อทรงแต่งตั้ง ส่วนกรณีกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิ จะนำเสนอต่อ รมว.คลังพิจารณาแต่งตั้งต่อไป
ขณะที่กระแสข่าวส่วนใหญ่ฉายไปที่ นายกิตติรัตน์ ณ ระนอง ซึ่งในมุมมองของ รศ.ดร.อนุสรณ์ ธรรมใจ คณบดีคณะเศรษฐศาสตร์ ม.หอการค้าไทย และอดีตกรรมการและกรรมการตรวจสอบ ธนาคารแห่งประเทศไทย วิเคราะห์ว่า สิ่งแรกที่ประธานบอร์ดแบงก์ชาติ ต้องเร่งทำคือ 3 โจทย์ใหญ่ ในการกระตุ้นเศรษฐกิจไทย ดังนี้
1. ควรทำให้เกิดเอกภาพในการทำงานร่วมกันมากขึ้น โดยประสานนโยบายการเงิน นโยบายการคลัง และมาตรการเศรษฐกิจ เพื่อให้เกิดประโยชน์ต่อประชาชน
ตลอดจนให้สามารถขับเคลื่อนเศรษฐกิจ เพื่อการขยายตัวเพิ่มขึ้น ทำให้ครัวเรือนและธุรกิจรายเล็กรายย่อยเข้าถึงบริการทางการเงินได้ดีขึ้น แก้ปัญหาหนี้สินและปรับโครงสร้างหนี้
นอกจากนี้ ควรเตรียมความพร้อมสำหรับระบบการเงินที่จะเปลี่ยนแปลงไปจากความก้าวหน้าเทคโนโลยี และเปลี่ยนผ่านสู่ ระบบการเงินกระจายศูนย์ ที่ทำให้บทบาทของธนาคารกลางเปลี่ยนแปลงไป
2.ทำความเข้าใจว่า การกำกับดูแล และแทรกแซงต่างกัน รัฐบาลและกระทรวงการคลังสามารถกำกับดูแลแบงก์ชาติได้ และเป็นหน้าที่ที่ต้องทำ
อย่างไรก็ตาม ไม่ควรแทรกแซงการดำเนินงาน หากการดำเนินงานเป็นไปตามกรอบที่ตกลงกันไว้ ภายใต้นโยบายการเงินแบบเป้าหมายเงินเฟ้อ Inflation Targeting Monetary Policy แต่หากอัตราเงินเฟ้อหลุดกรอบย่อมเป็นหน้าที่ของกระทรวงคลังต้องกำกับให้เป็นไปตามกรอบเป้าหมาย
3.การเข้ามาของ คุณกิตติรัตน์ ณ ระนอง ในการประธานบอร์ดแบงก์ชาติ คาดว่าจะมีการปฏิรูปการทำงานให้ตอบสนองต่อประชาชนมากขึ้น และควรทำให้เกิดการทำงานที่เป็นทีมให้มากกว่าเดิม
ส่วนการลดอัตราดอกเบี้ยเป็นอำนาจหน้าที่ของคณะกรรมการกำหนดนโยบายทางการเงินพิจารณาให้เหมาะสม และสอดคล้องกับภาวะเศรษฐกิจ โดยเฉพาะต้องทำอย่างไรให้อัตราเงินเฟ้อเป็นไปตามกรอบเป้าหมาย นี่จึงเป็นความท้าทายแรก ที่ประชาชนในภาพรวมเฝ้ารอ และเป็นการกระตุ้นเศรษฐกิจในภาพรวมด้วย.
แหล่งข่าว: ไทยรัฐ