23 ปี “MOU 44” เกาะกูด บันทึกข้อตกลงไทย–กัมพูชา แม้ผ่านมาหลายนายกฯ แต่ยังหาข้อสรุปชัดเจนไม่ได้ ในการใช้ประโยชน์ร่วมกันจากก๊าซธรรมชาติ “แพทองธาร” เดินหน้าปัดฝุ่นเจรจารอบใหม่ ด้าน “บิ๊กป้อม” พร้อมคัดค้าน แม้ที่ผ่านมาเคยมีส่วนร่วมเจรจา

ปมร้อน เกาะกูด จ.ตราด ถูกปลุกขึ้นมาเป็นประเด็นการเมืองอีกครั้ง หลังรัฐบาลมีแผนเจรจาใช้ผลประโยชน์ร่วมกันของก๊าซธรรมชาติ ระหว่างไทย-กัมพูชา ถึงการจัดการพื้นที่ทับซ้อน 26,000 ตารางกิโลเมตร เพราะมีกระแสความกังวล ด้านนายกฯ “แพทองธาร ชินวัตร” ออกมาให้

ข้อมูลถึงการหารือพรรคร่วมรัฐบาล กรณี MOU 44 บันทึกข้อตกลงไทย – กัมพูชา เกี่ยวกับกรอบเจรจาพื้นที่ทับซ้อนทางทะเล พร้อมยืนยันเกาะกูดเป็นของไทย และทั้ง 2 ประเทศต่างรับรู้ว่าเกาะกูดเป็นของไทย ซึ่งเป็นไปตามสนธิสัญญาฝรั่งเศส แน่นอนว่ารัฐบาลจะไม่ยอมเสียพื้นที่ของไทย แม้แต่ตารางนิ้วเดียวไปให้ใครก็ตาม

สำหรับ MOU 44 บันทึกข้อตกลงไทย – กัมพูชา หากย้อนไทม์ไลน์ตลอด 23 ปี มีการเจรจาแบบล้มลุกคลุกคลานมาตลอด น่าสนใจว่า เมื่อใดที่นายกฯ ของไทย ในกลุ่มการเมืองที่มีความแน่นแฟ้นกับฝั่งกัมพูชา มักถูกหยิบยกมาพูดคุยด้วยท่าทีนิ่มนวล แต่ทางตรงกันข้าม ก็มีหลายครั้งที่เป็นการเจรจาอย่างแข็งกร้าวของทั้ง 2 ฝั่ง ซึ่งสามารถสรุปได้ดังนี้

ปฐมบท MOU 44 ยุคทักษิณ

MOU 44 ที่เริ่มมีการเจรจาในยุค อดีตนายกฯ ทักษิณ ชินวัตร ประเด็นหลักคือ เพื่อตกลงข้อพิพาททางทะเลด้วยสันติวิธี และวิธีการทางทูต โดยมี 2 เรื่อง ประกอบด้วย 1.การปักปันเขตแดนว่าอะไรเป็นของไทย แล้วมีพื้นที่ร่วมหรือไม่ 2.สำรวจทรัพยากรธรรมชาติใต้ทะเล โดยเฉพาะก๊าซธรรมชาติ ซึ่งหลังจากนั้น ด้วยปัญหาการเมืองภายในประเทศไทย ทำให้อดีตนายกทักษิณ ได้เดินทางไปอยู่ในต่างประเทศ

มาจนถึงปี 2551 มีแนวคิดนำ MOU 44 กลับขึ้นมาเจรจากับกัมพูชาอีกครั้ง สมัยนายกฯ สมัคร สุนทรเวช แต่ต้องพับเก็บไว้ เนื่องจากไทยและกัมพูชา ในช่วงนั้นมีข้อพิพาท ที่เกิดจากความตึงเครียด ด้านพรมแดนฝั่งเขาพระวิหาร จนมีการนำมวลชนลงไปเรียกร้องถึงพื้นที่ ก่อนมีการยื่นเรื่องให้ศาลโลกตัดสิน เลยทำให้บรรยากาศที่ไทยพยายามเจรจาผลประโยชน์ใต้ทะเลในพื้นที่ทับซ้อนไม่ประสบความสำเร็จ

ปมไทยขอยกเลิก MOU 44 ยุคอภิสิทธิ์

ไทย-กัมพูชา หลังมีความขัดแย้งในเรื่องเขาพระวิหาร ทำให้บรรยากาศการเจรจาของทั้งสองประเทศ เต็มไปด้วยความหวาดระแวง โดยปี 2552 รัฐบาลของนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ ที่มีกลุ่มเห็นต่างใช้กรณี MOU 44 โจมตีฝั่งผู้สนับสนุนอดีตนายกฯ ทักษิณ ถึงข้อพิรุธ ที่อาจมีการแทรกแซงเกี่ยวกับผลประโยชน์ในพื้นที่ทับซ้อน และกลายเป็นประเด็นลุกลาม เมื่อ “ฮุน เซน” นายกรัฐมนตรีของกัมพูชา ช่วงเวลานั้น แต่งตั้งอดีตนายกทักษิณ เป็นที่ปรึกษา ขณะลี้ภัยอยู่ในต่างประเทศ จึงมีการพยายามยกเลิก MOU 44 แต่ผู้รู้หลายท่านมองว่า ไม่สามารถยกเลิกได้ เพราะต้องเป็นความยินยอมของทั้งสองฝ่าย และต้องมีมติของคณะรัฐมนตรี

ปี 2554 การกลับมาสู่จุดสูงสุดอีกครั้งของตระกูลชินวัตร โดยการนำรัฐบาลของ “ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร” ได้เปิดการเจรจาในเรื่องพื้นที่ทับซ้อนทางทะเลอีกครั้ง แต่กลับมีมวลชนที่เห็นต่าง ปราศรัยโจมตีในประเด็นนี้เหมือนครั้ง “ทักษิณ” อีกครั้ง แม้ท่าทีของรัฐบาลฝั่งกัมพูชา มีท่าทีบวกกับรัฐบาลไทย แต่สุดท้ายการเจรจาพื้นที่ทับซ้อน ภายใต้กรอบMOU 44 ก็ไม่คืบหน้า เนื่องจากเกิดการรัฐประหารเสียก่อน

“พล.อ.ประยุทธ์ – แพทองธาร” ยังไร้ข้อสรุป

ปี 2565 หลัง พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ชนะการเลือกตั้ง หลังก่อนหน้านี้ทำทำรัฐประหาร ได้พยายามให้กระทรวงต่างประเทศ ปัดฝุ่นการเจรจา MOU 44 บันทึกข้อตกลงไทย – กัมพูชา แต่ยังไม่ได้ข้อสรุปชัดเจน

ล่วงมาถึงปี 2567 รัฐบาลนางสาวแพทองธาร ชินวัตร กรอบข้อตกลง MOU44 ถูกหยิบยกเพื่อนำมาพูดคุยอีกครั้ง แต่ยังมีเสียงต่อต้าน กรณีอาจเสียดินแดน แต่นายกฯ ออกมาตอบชัดเจนว่าไม่มีการเสียดินแดนเด็ดขาด แต่เป็นการเจรจาในกรอบข้อตกลงการใช้ประโยชน์ของทรัพยากรร่วมกัน

โดยนายกรัฐมนตรี กล่าวว่า เรื่องนี้ต้องคุยกันระหว่างประเทศพร้อมศึกษารายละเอียดจะสามารถแบ่งกันอย่างไร เพื่อทั้งสองประเทศได้ผลประโยชน์และเกิดความยุติธรรม เพราะหลายคนรู้ว่ามีก๊าซธรรมชาติ และสามารถลดต้นทุนพลังงานได้ จึงจำเป็นต้องส่งคณะกรรมการซึ่งเป็นผู้รู้ในรายละเอียด ไปศึกษาร่วมกันทั้งสองประเทศ เพื่อให้ได้คำตอบต่อประชาชนอย่างชัดเจน ซึ่งอยู่ในกระบวนการต่อไป

ด้านความสัมพันธ์ ที่ดีของ ทักษิณ ชินวัตร เพื่อพูดคุยกับกัมพูชาหรือไม่ นายกรัฐมนตรี กล่าวว่า ความสัมพันธ์ที่ดีสามารถสร้างคอนเนคชั่นดี ๆ ได้ เปรียบเหมือนมีเพื่อนสนิท ก็สามารถคุยกับเพื่อนสนิทได้ แต่เรื่องผลประโยชน์แต่ละประเทศต้องใช้คณะกรรมการ เพื่อจะได้ไม่เกิดการต่อต้าน ซึ่งเรื่องของประเทศบางอย่างที่สำคัญต้องใช้กรรมการคุยกัน เพื่อจะเกิดความรู้ รู้ครบ และมีความยุติธรรม เป็นสิ่งสำคัญและยืนยันรัฐบาลนี้ปกป้องผลประโยชน์ของประเทศอย่างสูงสุด

ต้องจับตาว่า “พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ” หัวหน้าพรรคพลังประชารัฐ แม้ที่ผ่านมาเคยมีส่วนร่วมในการเข้าไปเจรจาเรื่องนี้ แต่ตอนนี้ กลับเปิดไฟเขียวให้ลูกพรรค ล้มแผนเจรจา MOU 44 ที่รัฐบาลแพทองธาร กำลังเจรจาเพื่อหาข้อยุติ

23 ปีของบันทึกข้อตกลงไทย – กัมพูชา หรือ MOU 44 ในการหาข้อสรุปเกี่ยวกับการใช้ทรัพยากรร่วมกัน ในพื้นที่ทับซ้อนทางทะเลของทั้งสองประเทศ แม้ที่ผ่านมามีการปัดฝุ่น เพื่อให้ได้ข้อสรุป แต่สุดท้ายแล้วก็ไม่ประสบความสำเร็จ ซึ่งในรัฐบาลชุดล่าสุดต้องจับตาว่า จะสามารถจัดการประเด็นนี้ได้หรือไม่?