รายงาน 10 วันอันตราย วันที่ 2 ตายเพิ่ม 38 ราย บาดเจ็บ 257 คน “อยุธยา” เกิดอุบัติเหตุสูงสุด สาเหตุหลักขับรถเร็ว

วันนี้ (29 ธ.ค. 67) เวลา 10.30 น. ศูนย์อำนวยการป้องกันและลดอุบัติเหตุทางถนนช่วงเทศกาลปีใหม่ พ.ศ. 2568 รายงานข้อมูลอุบัติเหตุทางถนนช่วงเทศกาลปีใหม่ 2568 ประจำวันที่ 28 ธันวาคม 2567 ซึ่งเป็นวันที่สองของการรณรงค์ “ขับขี่ปลอดภัย เมืองไทยไร้อุบัติเหตุ” ว่า เกิดอุบัติเหตุ 269 ครั้ง ผู้บาดเจ็บ 257 คน ผู้เสียชีวิต 38 ราย สาเหตุที่ทำให้เกิดอุบัติเหตุสูงสุด ได้แก่ ขับรถเร็ว ร้อยละ 38.29 ทัศนวิสัยไม่ดี ร้อยละ 21.56 ตัดหน้ากระชั้นชิด ร้อยละ 19.33 ยานพาหนะที่เกิดอุบัติเหตุสูงสุด ได้แก่ รถจักรยานยนต์ ร้อยละ 85.40 ส่วนใหญ่เกิดบนเส้นทางตรง ร้อยละ 86.25 ถนนกรมทางหลวง ร้อยละ 44.98 ถนนใน อบต./หมู่บ้าน ร้อยละ 28.25 ช่วงเวลาที่เกิดอุบัติเหตุสูงสุด ได้แก่ เวลา 18.01 – 19.00 น. ร้อยละ 11.90 ผู้บาดเจ็บและเสียชีวิตสูงสุดอยู่ในช่วงอายุ 40-49 ปี ร้อยละ 15.93 จัดตั้งจุดตรวจหลัก 1,770 จุด เจ้าหน้าที่ปฏิบัติงาน 50,835 คน

โดยจังหวัดที่เกิดอุบัติเหตุสูงสุด ได้แก่ พระนครศรีอยุธยา และเชียงราย (จังหวัดละ 13 ครั้ง) จังหวัดที่มีผู้บาดเจ็บสูงสุด ได้แก่ เชียงราย (13 คน) จังหวัดที่มีผู้เสียชีวิตสูงสุด ได้แก่ พังงา และหนองบัวลำภู (จังหวัดละ 3 ราย)

สรุปอุบัติเหตุทางถนนสะสมในช่วง 2 วันของการรณรงค์ (27 – 28 ธันวาคม 2567) เกิดอุบัติเหตุรวม 592 ครั้ง ผู้บาดเจ็บรวม 575 คน ผู้เสียชีวิต รวม 93 ราย จังหวัดที่ไม่มีผู้เสียชีวิต (ตายเป็นศูนย์) มี 51 จังหวัด จังหวัดที่เกิดอุบัติเหตุสะสมสูงสุด ได้แก่ พระนครศรีอยุธยา (27 ครั้ง) จังหวัดที่มีผู้บาดเจ็บสะสมสูงสุด ได้แก่ พระนครศรีอยุธยา (24 คน) จังหวัดที่มีผู้เสียชีวิตสะสมสูงสุด ได้แก่ นครศรีธรรมราช (5 ราย) 

นายชาครีย์ บำรุงวงศ์ ผู้ตรวจราชการกระทรวงคมนาคม เปิดเผยว่า วันนี้ประชาชนส่วนใหญ่เดินทางถึงที่หมายแล้ว ในขณะที่บางส่วนยังอยู่ระหว่างการเดินทางซึ่งยังคงมีจำนวนมาก ทั้งในส่วนของรถโดยสารประจำทางและรถยนต์ส่วนบุคคล ซึ่งจากข้อมูลพบว่าเมื่อวานนี้ (28 ธ.ค.67) มีประชาชนเดินทางออกจากกรุงเทพมหานครเป็นจำนวนมากถึง 1,100,000 เที่ยว และมีอุบัติเหตุเกิดขึ้นระหว่างทาง โดยมีสาเหตุการเกิดอุบัติเหตุเกิดจากการขับรถเร็วเกินกำหนด ศูนย์อำนวยการความปลอดภัยทางถนนจึงได้เน้นย้ำจังหวัดบูรณาการทุกภาคส่วนเพิ่มมาตรการตรวจสอบความพร้อมของคนขับรถ โดยเฉพาะรถโดยสารสาธารณะ และความพร้อมของยานพาหนะในทุกจุดที่มีการรับ-ส่งประชาชน

กรณีเกิดอุบัติเหตุให้สืบสวนพฤติกรรมก่อนเกิดเหตุ อาทิ ขับรถต่อเนื่องกี่ชั่วโมง มีการจอดพักรถที่จุดบริการหรือไม่ มีการดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์และรับประทานยาที่มีฤทธิ์กดประสาทที่ส่งผลให้เกิดอาการง่วงซึมก่อนหรือระหว่างการเดินทางหรือไม่ เพื่อใช้เป็นข้อมูลในเชิงป้องกันที่สาเหตุ ตลอดจนบังคับใช้กฎหมายควบคุมความเร็วในการขับรถอย่างเข้มข้น รวมถึงให้ความสำคัญกับการดูแลความปลอดภัยในการเดินทางของประชาชนทั้งถนนสายหลัก สายรอง และถนนใน อบต.และหมู่บ้าน เน้นการเฝ้าระวังจุดเสี่ยงอุบัติเหตุ ทั้งจุดตัดทางรถไฟ ทางลักผ่าน ทางแยก ทางร่วม และเข้มงวดการจอดรถบนไหล่ทางที่เพิ่มความเสี่ยงต่อการเกิดอุบัติเหตุ อีกทั้งเพิ่มความถี่ในการเรียกตรวจความพร้อมของผู้ขับขี่ในเส้นทางตรงที่มีระยะทางยาว เพื่อป้องกันการง่วงหลับใน