ช่วง 1-2 ปีนี้ ประเด็นการเปลี่ยนผ่านไปสู่สังคมคาร์บอนต่ำ กำลังเป็นเทรนด์ที่ทุกประเทศในโลกให้ความสำคัญมาก และในประเทศไทยได้กลายเป็นประเด็นหลักในงานสัมมนาด้านพลังงานแทบทุกงาน เช่นเดียวกับงานแสดงสินค้าและเทคโนโลยีด้านอุตสาหกรรมด้านน้ำมัน ก๊าซและปิโตรเคมี (OGET 2024) ที่จัดขึ้นเมื่อ 16-18 ต.ค.ที่ผ่านมา
ซึ่งในงานนี้พบว่า มีข้อเท็จจริงในเรื่อง “การเปลี่ยนผ่านพลังงานของไทย” ที่น่าสนใจเพราะหากเราจะเปลี่ยนผ่านสู่สังคมคาร์บอนต่ำ เราก็ต้องแก้ที่ภาคพลังงานก่อนใคร เพราะภาคพลังงานเป็นภาคที่ปลดปล่อยก๊าซเรือนกระจกสูงที่สุด 69-70% ของทั้งหมด แต่ในช่วงแรกๆเราคงไม่สามารถลดการใช้พลังงานฟอสซิสลงได้ทันที
ดร.คุรุจิต นาครทรรพ ผู้อำนวยการสถาบันปิโตรเลียมและพลังงานแห่งประเทศไทย อดีตปลัดกระทรวงพลังงาน ระบุว่า ในบรรดาเชื้อเพลิงฟอสซิลที่เราใช้กันอยู่ “ก๊าซธรรมชาติ” ปล่อยคาร์บอนไดออกไซด์ต่ำสุด ทำให้ในช่วงเปลี่ยนผ่านนี้เรายังต้องใช้ก๊าซธรรมชาติเป็นเชื้อเพลิงหลักในการผลิตไฟฟ้าและปิโตรเคมี ทำให้ในแผนก๊าซธรรมชาติที่อยู่ระหว่างจัดทำ คาดว่าในปี 2580 จะมีความต้องการใช้ก๊าซฯ อยู่ที่ 4,747 ล้านลูกบาศก์ฟุตต่อวัน
แต่ปัญหาคือ หลายปีที่ผ่านมาเรานำเข้าก๊าซธรรมชาติเหลวหรือ LNG เพิ่มขึ้น ขณะที่ราคามีแนวโน้มผันผวนต่อเนื่อง จากปัญหาภูมิอากาศแปรปรวน และความขัดแย้งทางภูมิรัฐศาสตร์ที่ตึงเครียดขึ้น โดยในปี 2566 เรานำเข้า LNG ในสัดส่วน 31.2% ของทั้งหมด จัดหาก๊าซฯ ภายในประเทศ 56.88% ที่เหลือนำเข้าจากเมียนมาอีก 11.92% แต่ในปีต่อๆไปการนำเข้า LNG จะเพิ่มขึ้นอีก ผลจากการผลิตก๊าซฯในอ่าวไทยลดลง ซึ่งจะส่งผลต่อต้นทุนการผลิตไฟฟ้า เพราะ LNG มีราคาสูงกว่าก๊าซฯในอ่าวไทย
ขณะเดียวกัน ยังมีความกังวลถึงปริมาณก๊าซฯในอ่าวไทย ซึ่งเราค้นพบมาตั้งแต่ยุคโชติช่วงชัชวาลที่วันนี้มีปริมาณน้อยลงเรื่อยๆด้วย เพราะคาดกันว่า เราอาจใช้ก๊าซจากอ่าวไทยต่อไปได้อีกไม่เกิน 10 ปี
ข้อมูลแผนก๊าซธรรมชาติยังระบุด้วยว่า ประเทศต้องจัดหานำเข้า LNG ในปี 2580 เพิ่มอีก 1,768 ลบ.ฟุต ทำให้สัดส่วนการพึ่งการนำเข้า LNG เปลี่ยนเป็น 43% การจัดหาก๊าซฯ ในประเทศลดลงเหลือ 36% และก๊าซฯจากเมียนมาจะลดลงเหลือ 5% การได้ก๊าซฯเพิ่มเติมมาจากพื้นที่ทับซ้อนไทย-กัมพูชา (Overlapping Claimed Area : OCA) จึงกลายเป็นสิ่งที่นักวิชาการด้านพลังงานของไทยให้ความสนใจและสอดคล้องกับนโยบายรัฐบาลที่จะดำเนินการ
ดร.คุรุจิตกล่าวว่า “การเปิดเจรจาพื้นที่ OCA ควรเร่งดำเนินการ โดยให้ยึดถือ MOU 2544 ที่ทำไว้ โดยเฉพาะการเร่งจัดตั้งคณะกรรมการร่วมด้านเทคนิค (JTC) ไทย-กัมพูชา
เป็นเจ้าภาพหลัก รวมถึงต้องเร่งสร้างความรู้ความเข้าใจให้กับทุกฝ่าย หารือกับทุกภาคส่วน โดยต้องคำนึงผลประโยชน์ของประเทศไทยเป็นหลัก และเข้าใจว่าเรื่องนี้ไม่ได้เป็นเรื่องง่าย หากเริ่มวันนี้น่าจะต้องใช้เวลาอย่างน้อย 3 ปี จะได้ข้อยุติที่ได้ประโยชน์มากที่สุด”
ที่สำคัญควบคู่กับการหาแหล่งก๊าซฯใหม่ ไทยต้องเร่ง “พัฒนาพลังงานสะอาด” เพิ่มเติมให้เร็วที่สุด เพราะเวลานี้เรามีสัดส่วนพลังงานหมุนเวียนอยู่ไม่ถึง 20%.
มิสเตอร์พี
คลิกอ่านคอลัมน์ “กระจก 8 หน้า” เพิ่มเติม
แหล่งข่าว: ไทยรัฐ