ประเทศไทยในปี 2568  “รัฐบาล” ผลักดันให้เป็นปีแห่งการท่องเที่ยวไทยภายใต้นโยบาย IGNITE THAILAND’S TOURISM “เพื่อเป็นศูนย์กลางของภูมิภาค” ในการดึงดูดนักท่องเที่ยวต่างชาติคุณภาพส่งผ่านนโยบายสู่ “การท่องเที่ยว แห่งประเทศไทย” ที่รับไม้ต่อ ตั้งเป้าสร้างรายได้ 3.4 ล้านล้านบาท

อันเกิดจากตลาดต่างชาติที่จะเข้ามา 39 ล้านคน สร้างมูลค่า 2.2 ล้านล้านบาท “เน้นส่งเสริมเสน่ห์ไทย และเมืองน่าเที่ยว” ทั้งจะ ดึงคนไทยเที่ยวรายได้จากตลาดในประเทศอยู่ที่ 1.2 ล้านล้านบาท ในแง่เชิงเศรษฐกิจจะขับเคลื่อนรายได้ท่องเที่ยว 7.5% สูงกว่าการเติบโต GDP ประเทศไทยในปี 2568 ถึง 1.7 เท่า

นับเป็นความท้าทายมาก…ในวันครบรอบ 40 ปี คณะวิทยาการจัดการ มรภ.บ้านสมเด็จเจ้าพระยา จัดปาฐกถาพิเศษต่อยอดอนาคตด้านการท่องเที่ยว โดย มงคล วิมลรัตน์ รองปลัดกระทรวงการท่องเที่ยว และกีฬา บอกว่า

ประเทศไทยมีข้อดีคือ “ตั้งอยู่ในใจกลางเอเชียตะวันออกเฉียงใต้” มีความหลากหลายของเชื้อชาติ ทรัพยากรธรรมชาติ ศิลป วัฒนธรรม “แถมคนไทยมีจิตบริการ” คนทั่วโลกอยากมาสัมผัสวัฒนธรรม จนเติบโตขึ้นทุกปี ทำให้ถูกกำหนดเป็นยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี ปัจจุบันใช้แผนพัฒนาการท่องเที่ยวแห่งชาติฉบับที่ 3 (พ.ศ.2566-2570)

โดยเฉพาะปี 2562 “นักท่องเที่ยวต่างชาติเข้ามาเกือบ 40 ล้านคน ติดอันดับ 1 ใน 10 ของโลก” แต่ต้องมาปิดประเทศจากโควิด-19 ตั้งแต่ 1 เม.ย.2563 “นักท่องเที่ยวกลายเป็นศูนย์” มาจน ปี 2564 ก่อเกิดภูเก็ตแซนด์บ็อกซ์ ทดลองเปิดประเทศรับนักท่องเที่ยวต่างชาติเข้ามาโดยไม่ต้องกักตัว ทำให้การท่องเที่ยวดีขึ้นเรื่อยๆ

กระทั่งปี 2567 “ตัวเลขต่างชาติกลับคืนมา 96%” คาดว่าสิ้นปี น่าจะอยู่ที่ 34-35 ล้านคน ส่วนปี 2568 “กระทรวงการท่องเที่ยว และกีฬา” ประกาศเป็นปี Grand Tourism and Sports Year 2025 จัดกิจกรรมส่งเสริมการท่องเที่ยวตลอดปี ทั้งกระตุ้นมาตรการสนับสนุนสายการบิน โรงแรมที่พัก OTAs และมาตรการวีซ่า

ปัญหาว่า “พฤติกรรมนักท่องเที่ยวเปลี่ยนไปทางดิจิทัล” ด้วยโครงสร้างประชากรนักท่องเที่ยวเป็นชาว GenY และ GenZ เพิ่มขึ้น ลักษณะการเดินทางบ่อยแต่ระยะสั้นใช้การค้นหาข้อมูลท่องเที่ยวผ่านโทรศัพท์มือถือไม่ว่าจะแนะนำสถานที่ท่องเที่ยว การเดินทาง  การบริการ ทำให้คนกลางรูปแบบกรุ๊ปทัวร์อาจถูกตัดออกไปในอนาคต

กลายเป็นการเข้าสู่ “ท่องเที่ยวแบบใหม่” นิยมเน้นท่องเที่ยวเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม การท่องเที่ยวเชิงอาหารเชิงสุขภาพ และ การท่องเที่ยวเชิงวัฒนธรรม Digital Nomad ตามรอยภาพยนตร์อย่าง Lost in Thailand “คนจีนกว่า 10 ล้านคน มาตามรอยใน จ.เชียงใหม่” ทั้งยังมีการท่องเที่ยวเชิงกีฬา และการท่องเที่ยวเชิงธุรกิจ

ถัดมา “การท่องเที่ยวทางน้ำ” มีเรือสำราญเข้ามาในน่านน้ำไทย ที่จะเพิ่มขีดความสามารถสนับสนุนการท่องเที่ยวอันเป็นความหลากหลายของการมีจุดหมายปลายทาง “การท่องเที่ยวระดับโลก” ดึงดูดนักท่องเที่ยวทุกระดับ เพิ่มสัดส่วนที่มีคุณภาพสูง และสร้างรายได้ กระตุ้นเศรษฐกิจของประเทศ

โดยเฉพาะอย่างยิ่งรัฐบาลต่างให้ความสำคัญกับความหลากหลายทางเพศด้วยการปรับโครงสร้างพื้นฐานรองรับ เช่น ปรับปรุงห้องน้ำให้เหมาะกับกลุ่มความหลากหลายทางเพศตามแหล่งท่องเที่ยวสำคัญ

ตอกย้ำ “ภัยคุกคามการท่องเที่ยว” ก็มีตั้งแต่ภาวะโลกร้อนส่งผลให้อุณหภูมิสูงขึ้น ทำให้กิจกรรมบางอย่างไม่สามารถทำได้

เห็นชัดจาก “จ.เชียงใหม่” เคยหนาวเย็น 4 เดือน แต่ปัจจุบันเหลือ 2 สัปดาห์ถึง 1 เดือนเท่านั้น

ถัดมา “Scamming” จากมิจฉาชีพหลอกลวงบนออนไลน์จนกลายเป็นอุปสรรคต่อการท่องเที่ยวยุคใหม่ที่มักค้นหาข้อมูลการเดินทางบริการผ่านอินเตอร์เน็ต ดังนั้นการทำข้อมูลบนอิเล็กทรอนิกส์ต้องระวังมากขึ้นในยุคนี้

ประเด็นคือ “กฎหมายบางอย่างกลับล้าสมัยไม่เอื้อการดำเนินธุรกิจการท่องเที่ยว” จำเป็นต้องปรับปรุงอย่าง พ.ร.บ.โรงแรม พ.ศ. 2547 โรงแรมทั่วประเทศอยู่ในระบบเพียง 10% ส่วนที่เหลือเป็นรายเล็กรายน้อยไม่อยู่ในกฎหมาย “ต้องปรับแก้กฎหมาย” เพื่อให้ผู้ประกอบการอยู่ในระบบ “ภาครัฐ” จะเก็บภาษีได้เต็มเม็ดเต็มหน่วย

นอกจากนี้ “สงครามความขัดแย้ง” ไม่ว่าจะเป็นความขัดแย้งในยุโรป และตะวันออกกลาง “อันเป็นความเสี่ยงภัยทางด้านภูมิรัฐศาสตร์โลก” ก็ล้วนส่งผลกระทบโดยตรงกับการเดินทางการท่องเที่ยว ทั่วโลก และอาจเป็นโอกาสให้ต่างชาติมาเที่ยวในอาเซียนมากยิ่งขึ้น “หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง” จึงต้องปรับตัวให้สอดรับเรื่องนี้

เพราะปัจจุบัน “เกิดการแย่งชิงนักท่องเที่ยว” นับแต่หลัง

โควิด-19 ในกลุ่มประเทศอาเซียนแย่งชิงนักท่องเที่ยวต่างชาติกันรุนแรงอย่างสิงคโปร์ เวียดนาม มาเลเซีย ที่ปรับรูปแบบท่องเที่ยวเหมือนไทยหลายประการจนกระแสมาแรง แต่เรากลับเดินออกห่าง จากประเทศเหล่านั้นไปเรื่อยๆ

เช่นนี้ประเทศไทย “ต่อยอด FreeVisa 92 ประเทศ” เพื่ออำนวยความสะดวกในการเดินทางเข้ามาท่องเที่ยว ทำงาน อันเป็นการดึงนักท่องเที่ยวต่างชาติเข้ามาเมืองไทยให้สามารถแข่งขันกับประเทศเพื่อนบ้านได้

อย่างไรก็ตาม “นักท่องเที่ยวที่เข้ามาในไทย” ต้องได้รับการดูแล ความปลดภัยสูงสุด ถ้าถูกประทุษร้าย หรือเกิดอุบัติเหตุ “รัฐบาล” มีเงินเยียวยาให้ปีนี้ 50 ล้านบาท ตั้งแต่ 1 ม.ค.-31 ส.ค.2567 อนุมัติเยียวยา 10 ราย หรือประมาณ 10 ล้านบาท แต่หากกระทำผิด วัตถุประสงค์ก็จะต้องถูกดำเนินการทางกฎหมายส่งกลับประเทศ

“ก่อนรัฐบาลจะให้ Free Visa 92 ประเทศ ได้มีการศึกษาความเสี่ยงความปลอดภัยเข้มงวดแล้ว เมื่อนักท่องเที่ยวต่างชาติเข้ามา ก็ต้องถูกตรวจประวัติเชื่อมอินเตอร์โพลเสมอ ถ้าเข้ามาทำผิดกฎหมายจะมีหน่วยงานรัฐคอยตรวจสอบอยู่ตลอด หากกระทำการใดส่งผล ต่อความมั่นคงก็อาจจะพิจารณา Free Visa ต่อไปด้วย” มงคล ว่า

ย้ำล่าสุด ประเทศไทยได้ปรับยุทธศาสตร์ “เปิดเชื่อมเส้นทางท่องเที่ยวกับประเทศเพื่อนบ้าน” ที่จะเป็นช่องทางให้นักท่องเที่ยวต่างชาติสามารถผ่านเข้ามายังไทยได้ง่ายสะดวก “อันมีจุดหมายปลายทางของนักท่องเที่ยวคุณภาพ” จากจำนวนนักท่องเที่ยวที่เหมาะสมและการใช้จ่ายต่อหัวเพิ่มมากขึ้น

เพื่อให้ประเทศไทยได้รับการจัดอันดับเกี่ยวกับการท่องเที่ยวในอันดับโลกที่ดีขึ้น “มีเมืองที่ได้รับรางวัลระดับนานาชาติ” ในการ กระจายประโยชน์อย่างเท่าเทียม และเป็นธรรม “ทุกจังหวัดต้องเป็นเมืองน่าเที่ยวได้ตลอดปี” ที่จะมุ่งเน้นการใส่ใจดูแลสิ่งแวดล้อม และชุมชนไม่เดือดร้อนจากการท่องเที่ยวนั้น

นี่คือการเปลี่ยนแปลงการท่องเที่ยวครั้งสำคัญสู่ยุคใหม่“รัฐบาล” คงต้องปรับยุทธศาสตร์ให้สอดรับนักท่องเที่ยวต่างชาติรุ่นใหม่ที่จะ เข้ามาเพื่อให้ไทยยังเป็นประเทศน่ามาเยี่ยมชมที่สุดในโลกต่อไป

คลิกอ่านคอลัมน์ “สกู๊ปหน้า 1” เพิ่มเติม