อุบัติเหตุสุดสลดรถบัสทัศน ศึกษาจากจังหวัดอุทัยธานีครั้งล่า…เป็นอีกบทเรียนสำคัญของการสูญเสียครั้งใหญ่ จำเป็นอย่างยิ่งที่ทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้องจะต้องหันมา ร่วมมือกันเยียวยารักษาญาติผู้สูญเสียและผู้บาดเจ็บให้กลับคืนมาใช้ชีวิตได้ตามปกติ

นับรวมไปถึงสร้างขวัญและกำลังใจให้กับผู้ที่ได้รับผลกระทบจากฝันร้ายให้กลายเป็นดีขึ้นมาให้ได้ แน่นอนว่าทุกๆฝ่ายต้องช่วยกันหามาตรการป้องกันและแก้ไขเพื่อในวันข้างหน้ามิให้เกิดเรื่องร้ายเช่นนี้ขึ้นมาอีก

“ก่อนอื่นต้องแสดงความเสียใจกับความสูญเสียที่เกิดขึ้นในครั้งนี้ เป็นการสูญเสียเด็กนักเรียนที่กำลังจะเจริญเติบโตขึ้นมาเป็นทรัพยากรของสังคม…ประเทศชาติ อาตมาขอให้นำเอาเหตุการณ์ในครั้งนี้มาเป็นบทเรียนเป็นสติเตือนใจ แล้วนำไปสู่การป้องกันของหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในวันข้างหน้า”

พระครูจินดาสุตานุวัตร (พระมหาสมัย จินฺตโฆสโก) ประธานมูลนิธิกลุ่มแสงเทียน เจ้าอาวาสวัดบางไส้ไก่ กทม. บอกอีกว่า ประการแรก…ขอจงตั้งตนอยู่ในความไม่ประมาท เป็นคำสอนที่พระพุทธองค์ได้ตรัสสอนมวลมนุษยชาติผ่านมาแล้วกว่า 2,500 ปี…

“ปมาโท มจฺจุโน ปทํ” แปลว่า…ความประมาทเป็นหนทางแห่งความตาย การใช้ชีวิตประจำวันจำเป็นต้องมีสติ สัมปชัญญะรู้ตัวอยู่เสมอ มีความรอบคอบในการดำเนินชีวิต ไม่ใช้ของมึนเมาที่ผิดศีลธรรมและผิดกฎหมายเพราะจะเป็นหนทางที่นำไปสู่ “ความประมาท” และ “ความสูญเสียติดตามมา”

…ไม่ว่าจะยืน เดิน นั่ง นอน ทุกอิริยาบถขอจงตั้งอยู่ในความไม่ประมาทโดยเฉพาะการขับรถ ไม่ว่าจะเป็นรถส่วนตัวหรือรถที่มีผู้โดยสารร่วมไปด้วย การเคลื่อนที่ออกแต่ละครั้งจะต้องสมบูรณ์ไปด้วยสติและสัมปชัญญะ หมั่นตรวจสอบยานพาหนะของตนเองที่ใช้ประจำวันอย่างสม่ำเสมอ

ถ้าพบเห็นว่าไม่สมบูรณ์หรือมีข้อบกพร่องให้รีบแก้ไขอย่าได้คิดว่าจะไม่เป็นอะไร ก่อนที่ความหายนะหรือความสูญเสียจะติดตามมา เมื่อใช้ประโยชน์เสร็จแล้วก็คอยดูแลอย่าง สม่ำเสมอ บำรุงรักษาให้สามารถใช้ประโยชน์ได้ในครั้งต่อไป และคงทนนานแสนนาน

แต่…เมื่อพบว่าพาหนะได้ชำรุดทรุดโทรมหรือหมดอายุการใช้งานแล้วก็ขอให้เลิกใช้ตลอดไป อย่าได้นำสิ่งที่หมดอายุหรือหมดสภาพมาใช้งานอีกต่อไป ความเสียหายและสูญเสียอาจจะเกิดขึ้นอย่างที่ไม่สามารถเรียกร้องให้กลับคืนมาได้ ดังนั้นไม่ว่าจะเป็นท่านใดก็ขอให้…“ตั้งตนอยู่ในความไม่ประมาท”

ประการที่สอง…การอนุญาตให้รถบัสผู้โดยสารที่มีสองชั้นใช้รับส่งผู้โดยสารชนิดขึ้นเหนือล่องใต้อย่างไม่มีกำหนดตามที่ผ่านมานั้น ควรจะหันมาทบทวนถึงความปลอดภัยของผู้โดยสารกันได้แล้ว ถึงแม้ว่าโครงสร้างของรถได้มาตรฐานสากลและเชื่อว่าสร้างความปลอดภัยให้กับผู้โดยสารแล้วก็ตาม

“ถนนหนทางของประเทศไทยที่มีอยู่ก็น่าจะยังไม่สร้างความปลอดภัยในการขับขี่อยู่พอสมควร โดยเฉพาะรถที่ขับขึ้นเขาลงเขา ถนนคดเคี้ยว…ยิ่งสร้างความไม่ปลอดภัย หน่วยงานที่เกี่ยวข้องต้องหันมาทบทวนกันใหม่ได้แล้ว ก่อนที่จะเกิดความเสียหายและความสูญเสียขึ้นมาเป็นบทเรียนราคาแพง”

เราสามารถป้องกันเหตุร้ายได้ ตราบใดที่นำเอา “เหตุร้าย” ที่ผ่านมานั้นมาเป็น “บทเรียน” แล้วป้องกันและแก้ไขกันต่อไป

ประการที่สาม…เด็กนักเรียนยังเป็นผู้อ่อนเยาว์ที่จะต้องเรียนรู้…ทำความเข้าใจในชีวิตประจำวันและในการศึกษาเล่าเรียน การให้ความรู้ความเข้าใจแก่พวกเขาย่อมมีทางเลือกอีกหลายทาง เพราะโลกของเรานี้ได้ก้าวหน้าไปอย่างมาก แต่การเดินทางไปเรียนรู้หรือไปสัมผัสกับสิ่งที่เป็นจริงของชีวิต ไปเรียนรู้กับธรรมชาติ

ได้เรียนรู้…ประวัติศาสตร์ของชาติ ความแปลกใหม่ ความ อัศจรรย์ของสังคมไทยก็ยังจำเป็นต้องเรียนรู้ไป หนทางใดในการ เดินทางไปเรียนรู้นั้นจะสร้างความปลอดภัยจึงถือว่าเป็นหัวใจอันสำคัญยิ่ง

ทั้งนี้ “ความปลอดภัย” จำเป็นต้องมาเป็น “อันดับหนึ่ง” ก่อนที่เด็กจะได้เรียนรู้ในสิ่งนั้นๆเด็กจำเป็นต้องเรียนรู้ในห้องเรียนและนอกห้องเรียนอยู่แล้ว จะป้องกันอย่างไรในการเรียนรู้ นอกห้องเรียนว่าจะต้องได้รับความปลอดภัย ได้รับการอำนวยความสะดวกจากผู้ที่เกี่ยวข้อง

ประการที่สี่…อุปกรณ์ป้องกันให้เกิดความปลอดภัยเมื่ออยู่บนรถบัสโดยสารเป็นสิ่งจำเป็นอย่างยิ่ง เมื่อเกิดเหตุฉุกเฉินขึ้นมาแล้วเด็กนักเรียนสามารถออกจากที่เกิดเหตุได้อย่างทันท่วงที มีอุปกรณ์ใช้ในการแก้ไขปัญหา อย่างเช่นประตูออกฉุกเฉิน อุปกรณ์ที่ใช้ให้สามารถออกจากที่เกิดเหตุได้อย่างทันที

นับรวมไปถึงอุปกรณ์ระงับเหตุที่เกิดขึ้นจะต้องมีให้พร้อม อย่างเช่นถังดับเพลิง ย้ำว่า…“ทุกชีวิตมีคุณค่า ทุกชีวิตมีความหมายและมีความสำคัญ” ถ้ามีอุปกรณ์เช่นนี้จากเหตุร้ายก็อาจจะกลายเป็นดี จากเหตุที่อาจจะหนักก็อาจจะเป็นเหตุที่เบาลงไป

ประการที่ห้า…สำนึกในการรับผิดชอบร่วมกันของผู้คนในสังคมก็มีความจำเป็นอย่างยิ่ง เช่น การมีมารยาทที่ดีในการใช้ท้องถนนร่วมกัน การรู้จักผ่อนปรนให้อภัยซึ่งกันและกัน การรู้จักเคารพกติกาของการใช้ถนนรักษากฎจราจรอย่างเคร่งครัด การมีระเบียบวินัยที่ดีของการใช้ยานพาหนะบนท้องถนน การรู้จักขอโทษขออภัย

“เมื่อตนเองเป็นฝ่ายผิดพลาดในการขับขี่ การไม่ใช้อารมณ์ที่กำลังคุกรุ่นอยู่กลั่นแกล้งคนขับยานพาหนะคันอื่น เหล่านี้เป็นสิ่งจำเป็นอย่างยิ่งในการใช้รถใช้ถนนร่วมกัน ยิ่งถ้าเป็นรถโดยสารที่มีผู้โดยสารไปด้วยเป็นจำนวนมาก…ยิ่งจะต้องตระหนักในสิ่งเหล่านี้”

ชัดเจนว่า “จิตสำนึก” ของผู้ขับขี่และผู้ร่วมเดินทางจึงเป็น “หัวใจที่จะสร้างความปลอดภัย” จนการเดินทางไปถึงเป้าหมายและไม่ก่อให้เกิดปัญหาแก่คนอื่น

“ไม่ตั้งอยู่ในความประมาท”…ทุกกรณี จักสามารถป้องกันเหตุไม่คาดฝันได้ไม่มากก็น้อยทั้งในระยะสั้นระยะยาว อุบัติภัยหรืออุบัติเหตุจะต้องไม่เกิดขึ้นกับเด็กนักเรียน ลูกหลานของเราอีกต่อไป.

คลิกอ่านคอลัมน์ “สกู๊ปหน้า 1” เพิ่มเติม