ประเทศไทยเผชิญกับการระบาดของ “โรคไอกรน (Pertussis)” ซึ่งเป็นโรคติดเชื้อทางเดินหายใจที่เกิดจากเชื้อแบคทีเรีย “Bordetella pertussis” โดยพื้นที่ที่ได้รับผลกระทบรุนแรงคือจังหวัดชายแดนภาคใต้ ได้แก่ ปัตตานี นราธิวาส และยะลา
พบผู้ป่วยรวมมากกว่า 180 ราย ส่วนใหญ่อยู่ในกลุ่มเด็กอายุต่ำกว่า 1 ปี และพบว่าประมาณ 66% ของผู้ป่วยไม่ได้รับวัคซีนป้องกันไอกรนมาก่อน ทำให้โรคมีความรุนแรงและอัตราการเสียชีวิตเพิ่มขึ้น
อาการเด่นของโรคคือ…ไอรุนแรงติดต่อกันจนมีเสียงหวีด (Whooping) หรืออาจไอจนหยุดหายใจในบางกรณี เชื้อแพร่กระจายผ่านละอองเสมหะจากการไอหรือจาม และมีระยะฟักตัว 5-10 วัน
ย้ำว่า…เด็กเล็กที่ไม่ได้รับวัคซีนมีความเสี่ยงสูงที่จะเกิดภาวะแทรกซ้อนอาจรุนแรงถึงขั้นเสียชีวิต
ถึงตรงนี้ควรที่จะต้องให้ความสำคัญเกี่ยวกับ “วัคซีน” เพราะโรคไอกรนสามารถป้องกันได้ด้วย วัคซีน DTP (ป้องกันคอตีบ–บาดทะยัก–ไอกรน) ซึ่งเป็นวัคซีนพื้นฐานสำหรับเด็กอายุต่ำกว่า 6 เดือน
หากไม่ได้รับวัคซีนอย่างครบถ้วน ความเสี่ยงในการติดเชื้อจะสูงขึ้น และ…อาจส่งผลกระทบต่อการควบคุมการแพร่ระบาดในชุมชน ลงลึกในรายละเอียด…อาการโรคไอกรน หากเกิดใน “ผู้ใหญ่” ไม่มีความรุนแรง สามารถใช้ชีวิตได้ตามปกติ ไม่มีอาการเหนื่อยหอบ ไม่มีไข้ มีเพียงอาการไอเท่านั้น
แต่…ถ้าหากเกิดกับเด็กเล็กอายุน้อยกว่า 3 ขวบ จะมีความน่ากังวลสูงเพราะมีความเสี่ยงที่จะเกิดภาวะแทรกซ้อนได้ ที่พบบ่อยคือไอหนักจนตัวเขียวหรือไอจนหยุดหายใจ ทำให้สมองขาดออกซิเจน และอาจเสียชีวิตได้ ส่วนอาการชักสามารถพบได้เช่นกันแต่พบไม่บ่อยนัก
อาการไอกรนระยะแรก จะเป็นช่วงที่แยกโรคได้ยาก เพราะอาการที่แสดงออกนั้นคล้ายคลึงกับไข้หวัดธรรมดา ซึ่งมีอาการเริ่มต้นคือ…ไอ น้ำมูกเล็กน้อย อาจมีไข้ต่ำๆ หรือไม่มีไข้เลยก็ได้ จากนั้นอาการไอจะเริ่มหนักขึ้นเรื่อยๆ ซึ่งจะมีอาการอยู่ประมาณ 1-2 สัปดาห์ และมักเป็นอาการไอแบบแห้งๆ
ซึ่ง…ในระยะนี้เป็นระยะที่ “แพร่เชื้อ” ได้มากที่สุด
ถัดมา…อาการไอกรนระยะรุนแรง เป็นระยะที่อาการไอกรนเด่นชัดที่สุดและสามารถเป็นนาน 2-4 สัปดาห์ โดยมีอาการ… ไอซ้อนๆ ไอถี่ๆ ติดกันเป็นชุด สลับกับการหายใจเข้าอย่างรุนแรงจนเกิดเสียงวู๊ปๆ
บางคนไอจนตาแดง น้ำมูก น้ำตาไหล ตาถลน ลิ้นจุกปาก เส้นเลือดคอโป่งพอง หรืออาเจียนได้ เพื่อขับเสมหะที่เหนียวข้นออกมา น่าสนใจด้วยว่า…ในเด็กอายุน้อยกว่า 6 เดือน อาจมีอาการหน้าเขียว ตัวเขียว จากการหยุดหายใจ หรือจากเสมหะอุดตันทางเดินหายใจ
สาม…อาการไอกรนระยะฟื้นตัว เป็นระยะที่ความรุนแรงของอาการทั้งหมดลดลง แต่จะยังคงมีอาการไอติดต่อกันต่อเนื่องไปอีก 2-3 สัปดาห์ และถ้าไม่มีภาวะแทรกซ้อนอะไรเพิ่มเติมก็จะหายจากโรคได้ใน 6-10 สัปดาห์ อาการที่ควรระวังคือ…ปอดแฟบ อาการที่เกิดจากเสมหะที่เหนียวข้นไปอุดตันหลอดลมและถุงลม
“…ปอดอักเสบ อาการแทรกซ้อนสำคัญที่ทำให้เสี่ยงต่อชีวิตในเด็ก และอาการชักจากเลือดไปเลี้ยงสมองไม่เพียงพอ”
สำหรับการรักษา “โรคไอกรน” ในระยะแรกจะเป็นการให้ยาปฏิชีวนะเป็นระยะเวลา 14 วัน ในระยะนี้จะช่วยให้ความรุนแรงของโรคลดลงได้ แต่ถ้าผู้ป่วยอยู่ในระยะรุนแรงที่มีการไอเป็นชุดๆ แล้วการให้ยาจะไม่สามารถเปลี่ยนแปลงความรุนแรงของโรคได้ แต่จะสามารถฆ่าเชื้อโรคที่อาจจะยังมีอยู่ให้หมดไปได้ในระยะ 3-4 วัน
…เป็นการลดการแพร่กระจายของเชื้อได้
รวมทั้งการรักษาตามอาการให้เด็กได้พักผ่อน ดื่มน้ำอุ่น อยู่ในห้องที่มีอากาศถ่ายเทได้ดี หลีกเลี่ยงสาเหตุที่จะทำให้เด็กไอมากขึ้น เช่น การออกแรง ฝุ่นละออง ควันไฟ ควันบุหรี่ อากาศที่ร้อนหรือเย็นจัดเกินไป
ทั้งนี้ทั้งนั้นสำหรับการป้องกันโรคไอกรน…ในวัยเด็กมักเกิดจากการได้รับวัคซีนป้องกันที่ยังไม่ครบหรือบางรายอาจยังไม่เคยได้รับวัคซีนเลย ทำให้เด็กยังขาดภูมิคุ้มกัน เนื่องจากวัคซีนป้องกันไอกรนเข็มแรกจะได้รับเมื่ออายุ 2 เดือน
ในเด็กอายุน้อยกว่า 6 ปี การได้รับวัคซีนป้องกันไอกรน 4-5 ครั้ง นับเป็นมาตรการสำคัญในการป้องกันและควบคุมโรคไอกรน โดยกำหนดการให้วัคซีนเริ่มเมื่ออายุ 2 เดือนและให้อีก 2 ครั้ง
ระยะห่างกัน 2 เดือนคือ…ให้เมื่ออายุ 4 และ 6 เดือน โดสที่ 4 ให้เมื่ออายุ 18 เดือน นับเป็นครบชุดแรก (Primary immunization) โดสที่ 5 ถือเป็นการกระตุ้น (booster dose) ให้เมื่ออายุ 4 ปี เด็กที่มีอายุเกิน 7 ปีแล้วจะไม่ให้วัคซีนไอกรน เนื่องจากพบผลข้างเคียงได้สูง
“การรับเชื้อส่วนมากมักมีการรับมาจากผู้ใหญ่ที่ป่วยและมีอาการไอ ซึ่งในวัยผู้ใหญ่มักไม่ยอมไปพบแพทย์ เนื่องจากอาการไม่รุนแรง ทำให้เกิดการแพร่เชื้อไปยังเด็กที่อยู่ใกล้ชิดในที่สุด”
“โรคไอกรน”…ยังคงเป็นภัยคุกคามที่ต้องเฝ้าระวัง โดยเฉพาะในพื้นที่ที่มีการฉีดวัคซีนต่ำ การให้ความรู้ถึงความสำคัญของวัคซีนและการดูแลสุขภาพ ปัจจัยสำคัญในการลดการระบาดความรุนแรงของโรค
“ไอกรนน่ะไม่ประมาทป้องกันตัวให้ดี ติดได้ทุกช่วงวัย สอนลูกหลานให้ดูแลตนเอง รักษาความสะอาด คอยสังเกตเลี่ยงคลุกคลีคนป่วย มีอาการไปฉีดวัคซีนให้ครบตามมาตรฐาน ไม่มีโรคอะไรที่จะป่วยแล้วชิลชิล…ไม่ป่วยย่อมดีกว่า ไม่ควรเชื่อข่าวลวงที่ปั่นให้ละเลยเพิกเฉยมองเป็นเรื่องจิ๊บๆ” นพ.ธีระ วรธนารัตน์ ทิ้งท้ายว่า
“เพราะเมื่อแจ็กพอตป่วยขึ้นมา ไม่ว่าวัยไหนย่อมมีความเสี่ยงมากน้อยแตกต่างกันไป แต่ก็ต้องเผชิญหน้ารับมือกับภัยนั้นด้วยตนเอง ไม่มีใครมารับและลำบากด้วยนอกจากคนใกล้ชิด หลายปีที่ผ่านมาควรเรียนรู้จากบทเรียนมากมายว่าควรทำอย่างไร เพื่อให้มีสวัสดิภาพและความปลอดภัยในชีวิต”
“Health consciousness is essential”…“จิตสำนึกด้านสุขภาพเป็นสิ่งสำคัญ”.
คลิกอ่านคอลัมน์ “สกู๊ปหน้า 1” เพิ่มเติม
แหล่งข่าว: ไทยรัฐ