สภาวะเศรษฐกิจที่เปลี่ยนแปลงอยู่ตลอดเวลานี้ “โครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริ” นับเป็นอีกหนึ่งทางเลือกสำคัญ “อันเป็นแหล่งเรียนรู้ฝึกอาชีพ” ที่จะเป็นแนวทางช่วยในการปรับตัวรับกับยุคข้าวยากหมากแพงให้คนไทยในชนบทพึ่งตนเองสามารถดำรงชีวิตอยู่ได้อย่างยั่งยืน
ด้วยหลักปรัชญา “เศรษฐกิจพอเพียง” อันเป็นแนวทางการปฏิบัติบนทางสายกลางในการนี้ “ทีมข่าวสกู๊ป” จึงเดินทางไปศึกษาดูงานกับสำนักงาน กปร.ตามโครงการสื่อมวลชนสัญจรครั้งที่ 2 และมีโอกาสเยี่ยมชม “ศูนย์บริการการพัฒนาปลวกแดงตามพระราชดำริ จ.ระยอง” ที่เป็นศูนย์ฝึกปฏิบัติการด้านประกอบอาชีพต่างๆ
ตั้งแต่เกษตรตามแนวทางเศรษฐกิจพอเพียง ด้านพืชสวน ด้านประมง ด้านข้าว ด้านวิชาการเกษตร การศึกษาปศุสัตว์ เลี้ยงไก่ไข่เลี้ยงไก่พื้นเมืองระบบอินทรีย์ พัฒนาแหล่งน้ำ และแปรรูปผลิตภัณฑ์ผลผลิตการเกษตร
ทั้งยังมีการปรับปรุงบำรุงดิน และการจัดทำบัญชีต้นทุนประกอบอาชีพโดยมีเกษตรกรตัวอย่างในโครงการฯ นำองค์ความรู้การผลิตเห็ดจากศูนย์พัฒนาปลวกแดงแห่งนี้ไปใช้ในการผลิตจำหน่ายก้อนเห็ด รวมทั้งแปรรูปเป็นผลิตภัณฑ์สร้างรายได้ยกระดับชีวิตได้อย่างดีนั้น ปุญญิสา สมบูรณ์ดี เกษตรกรเจ้าของฟาร์มเห็ด บอกว่า
เดิมทำงานโรงงานใน จ.ชลบุรี มานานกว่า 5 ปี และเริ่มมีปัญหาสุขภาพทำให้ลาออกกลับมาอยู่บ้าน “ประกอบอาชีพเพาะเห็ดขายลองผิดทองถูกมา 1 ปี” ก่อนมีเพื่อนบ้านแนะนำให้มาศูนย์พัฒนาปลวกแดง เพื่อเรียนรู้ขั้นตอนการเพาะเห็ดอย่างถูกวิธี คราวนั้นเรียนได้เพียง 3 เดือน ก็มีลูกค้าสั่งซื้อก้อนเชื้อเห็ดนางฟ้ามาต่อเนื่อง
แต่ปัญหามีอยู่ว่า “ไม่มีพื้นที่สร้างโรงเรือนขนาดใหญ่” จึงได้ไปลงทะเบียนขอที่ดินทำกินแล้วต่อมา ส.ป.ก.ก็มอบที่ดินทำกินให้ 3 ไร่ กลับเป็นเนินหินทำการเกษตรไม่ได้ “ศูนย์พัฒนาปลวกแดง” ก็เข้ามาช่วยแก้ปัญหาทั้งจัดพื้นที่โรงเรือนบ่มก้อนเชื้อเห็ด แนะนำวางแผนการผลิต และสอนขั้นตอนแผนดำเนินโครงงานต่างๆ
คราวนั้นสามารถขายก้อนเชื้อเห็ดราคาก้อนละ 8 บาท จำนวน 1 หมื่นก้อน/เดือน “หักต้นทุนจะได้กำไรก้อนละ 2 บาท” แล้วก็ขยายการแปรรูปสินค้าสร้างมูลค่าเพิ่มจากเห็ด เช่น แหนมเห็ดนางฟ้าในช่วงแรกคนสนใจค่อนข้างเยอะ เคยขายได้สูดสุดวันละ 100 กก. ทั้งยังมีการแปรรูปเห็ดหูหนูเห็ดนางฟ้าทอดกรอบ และขนมเปี๊ยะไส้เห็ด
สิ่งนี้ล้วนได้เรียนรู้มาจาก “ศูนย์พัฒนาปลวกแดงตามพระราชดำริ” ในการส่งเสริมพัฒนาฝึกอาชีพแบบฟรีๆ “ไม่คิดเงิน” จนสามารถสร้างฟาร์มเพาะเห็ดเติบโตมีรายได้อยู่ทุกวันนี้ ทำให้อยากตอบแทนคืนด้วยการเปิดบ้านเป็นศูนย์เรียนรู้ตามแนวทางพระราชดำริด้านเกษตรผสมผสาน เกษตรทฤษฎีใหม่ และการผลิตเห็ด การแปรรูปอาหาร
ปัจจุบันมีหนุ่มสาวพนักงานโรงงานต่างแวะเวียนเข้ามา “ฝึกอาชีพเพาะเห็ดฟรีๆอยู่ตลอด” อย่างล่าสุดชาวบ้านในอำเภอใกล้เคียงมานั่งร้องไห้จากการตกงานเลยเข้าไปช่วยเหลือจนทุกวันนี้เปิดฟาร์มเห็ดใหญ่โตมากแล้วยิ่งเราเห็นยิ่งภูมิใจที่นำ “องค์ความรู้ได้จากโครงการพระราชดำริ” ไปช่วยคนตกละกรรมลำบากลุกขึ้นมายืนได้
เช่นเดียวกับ บุญธรรม คชรินทร์ ปราชญ์เกษตรเศรษฐกิจพอเพียง อ.บ้านค่าย จ.ระยอง บอกว่าเดิมเคยทำธุรกิจมาก่อนแล้ว “ประสบปัญหาฟองสบู่แตกปี 2540” กลายเป็นคนไม่มีเงินติดตัวล้มลุกคลุกคลานหลายปีแล้วทุกวันนั่งดูโทรทัศน์ก็เห็น “พ่อหลวงรัชกาลที่ 9” เสด็จไปทุกแห่งหนทรงเห็นความสำคัญของการทำการเกษตร
ทรงริเริ่มโครงการในพระราชดำริหลายโครงการ “ช่วยเหลือเกษตรกร” ทำให้หันมาเรียนรู้ฝึกอาชีพจากศูนย์พัฒนาปลวกแดงก่อนจะน้อมนำ “ศาสตร์พระราชา” ไปใช้จัดสรรพื้นที่ที่มีอยู่ 5 ไร่ให้เกิดประโยชน์โดยยึดหลัก “ปลูกทุกอย่างที่กิน กินทุกอย่างที่ปลูก ทำกินให้พอ เหลือค่อยแจกจ่าย และขาย” ในการทำเกษตรผสมผสาน
อย่างเช่น การทำประมง ทำปศุสัตว์ ปลูกพืชผักสวนครัวและไม้ผล จนสามารถพึ่งพาตนเองได้ ลดค่าใช้จ่ายในการซื้อผัก ผลไม้ และเนื้อสัตว์ ทั้งยังมีรายได้เพิ่มขึ้นจากการจำหน่ายผลิตผลทางการเกษตร เช่น ไข่ไก่ ไข่เป็ด ผัก และผลไม้ ภายใน 3 ปีสร้างรายได้ปีละไม่ต่ำกว่า 1-2 แสนบาท แถมยังแบ่งปันให้กับเพื่อนบ้านได้อีกด้วย
ตรงนี้เริ่มเข้าใจหากเดินตามรอยพ่อหลวงในการกินน้อยใช้น้อยรู้จักมัธยัสถ์เก็บออม “ครอบครัว” ก็จะอยู่ได้อย่างมีความสุข “ไม่มีหนี้” ด้วยการทำบัญชีรายรับ-รายจ่ายครัวเรือนไว้ตลอด และจดบันทึกแผนงานการทำการเกษตรให้ชัดเจน แม้แต่ฝนตกเมื่อไหร่นานแค่ไหนก็ต้องลงบันทึกไว้ เพื่อประมวลภาพในปีต่อไปจะวางแผนได้
ทว่าทำการเกษตรผสมผสานตาม “ศาสตร์พระราชา” ต้องเริ่มต้นทำจากน้อยไปมากไม่ใช่เริ่มจากมากไปหาน้อยจะติดหนี้ติดสินจนเดือดร้อน “ไม่ใช่คิดว่าทำแล้วจะต้องรวย” แต่ให้คิดว่าทำแล้วเราสุขใจอยู่ได้อย่างพอเพียงไม่เบียดเบียนใคร หรือไม่ทำให้ตัวเองและผู้อื่นต้องเดือดร้อน เมื่อทำไหวก็ขยายต่อยอดตามความสามารถ
ทำให้ปัจจุบันเปิดพื้นที่บ้านตนเองให้เป็น “ศูนย์เรียนรู้ทางด้านการเกษตรศูนย์เรียนรู้ตามแนวพระราชดำริ” ทั้งเป็นวิทยากรถ่ายทอดองค์ความรู้การทำเกษตรให้ความรู้ทุกคนอย่างเสมอภาคไม่แบ่งแยก สามารถทดลองปฏิบัติได้จริง “จุดประกายความไม่มั่นใจของเกษตรกรยุคใหม่” ที่ไม่กล้าทำการเกษตรให้กล้าลองผิดลองถูก
อีกทั้งยังจุดประกายให้คนที่สนใจว่า “เกษตร” ทำไม่ยากต้องอาศัยเวลาความตั้งใจจริง ดังนั้นจึงได้ตั้งปณิธานไว้ว่า “จะถ่ายทอดความรู้ให้เกษตรกร ผู้ที่สนใจ ด้วยความตั้งใจจริงทุกคนไม่เลือกที่รักมักที่ชอบ” แล้วเดินอย่างนี้ต่อไปจนกว่าชีวิตจะหาไม่ของตัวเอง เพื่อตอบแทนคุณแผ่นดิน
ขณะที่ สลารีวรรณ ทัพทวี รองผู้ว่าฯ ระยอง ให้ข้อมูลเพิ่มเติมว่า ศูนย์พัฒนาปลวกแดงมีจุดเด่นหลายด้านโดยเฉพาะการส่งเสริมวิชาการการเกษตร การพัฒนาอาชีพ เพื่อเป็นแหล่งเรียนรู้ และวิจัยพัฒนา ทั้งยังส่งเสริมการท่องเที่ยวเชิงการเกษตรมีหน่วยงานเข้าดูแลกว่า 10 หน่วยงาน สำหรับรองรับพี่น้องประชาชนที่จะเข้ามา
แล้วที่ผ่านมาเกษตรกร และพี่น้องประชาชนเข้ามาดูงานเรียนรู้มากกว่า 40,000 คน ไม่รวมการจัดงานอีเวนต์ของทาง อบจ.ระยองในปีหนึ่งมากกว่า 200,000 คน ดังนั้นในอนาคต จ.ระยอง มีเป้าหมายทําการวิจัย และการอนุรักษ์พันธุ์พืช และพันธุ์สัตว์ที่เกี่ยวกับพื้นถิ่น
เพื่อขยายผลไปสู่พี่น้องชาวประมง และเกษตรกรนำไปเลี้ยงได้
นี่คือแบบอย่างการยึดหลัก “ความพอประมาณ และความพอดี” อันเป็นพื้นฐานการใช้ชีวิตในยุคการเปลี่ยนแปลงทางเศรษฐกิจ สังคม สิ่งแวดล้อม และวัฒนธรรม ที่ใช้ประโยชน์จากสิ่งรอบข้างให้เกิดประโยชน์สูงสุดจนทำให้ตนเอง และครอบครัวอยู่ได้อย่างมีสุขไม่มีหนี้…
คลิกอ่านคอลัมน์ “สกู๊ปหน้า 1” เพิ่มเติม
แหล่งข่าว: ไทยรัฐ