
แฟนคลับ “พี่เตี้ย มช.” ยังมั่นใจในการต่อสู้ด้านคดีความ หลังศาลเลื่อนนัดฟังคำพิพากษาเป็นปีหน้า ด้านมูลนิธิวอชด็อกฯ เผยสำนวนการฟ้องอุทธรณ์แน่นหนา-ละเอียดมาก
วันที่ 29 ต.ค. 67 เวลา 09.30 น. ผู้สื่อข่าวรายงานว่า จากคดีของ “เตี้ย มช.” สุนัขขาสั้นพันธุ์ทาง ที่เหล่านักศึกษามหาวิทยาลัยเชียงใหม่ จะรู้จักและคุ้นเคยกันเป็นอย่างดี โดยเฉพาะในงานประเพณีรับน้องขึ้นดอยที่สุนัขตัวดังกล่าวจะร่วมวิ่งขึ้นดอยด้วย แต่ต่อมาได้ถูกบุคคลปริศนาพาขึ้นรถก่อนจะทำร้ายจนถึงแก่ความตาย เมื่อช่วงเดือนพฤษภาคม 2563 กระทั่งเจ้าหน้าที่ได้สืบสวนหาตัวผู้กระทำผิดเจอ และกลายเป็นคดีประวัติศาสตร์ทารุณกรรมสัตว์ โดยศาลชั้นต้นลงโทษจำคุกจำเลย 6 เดือน โดยไม่รอลงอาญา ก่อนจะมีการยื่นอุทธรณ์ต่อ และศาลได้นัดฟังคำตัดสินอีกครั้งในวันนี้นั้น

โดยมี น.ส.รุ้งนภา ชยุติมันต์กุล แฟนคลับของพี่เตี้ย มช. และกลุ่มแฟนคลับ รวมทั้ง นางภูริตา วัฒนศักดิ์ ประธานมูลนิธิและหัวหน้ากฎหมายมูลนิธิวอชด็อกไทยแลนด์ และกลุ่มเจ้าหน้าที่มูลนิธิฯ ได้มารวมตัวกันและเข้ารับฟังคำตัดสินของศาลจังหวัดเชียงใหม่
น.ส.รุ้งนภา ชยุติมันต์กุล แฟนคลับของพี่เตี้ย มช. กล่าวว่า ความคาดหวังในครั้งนี้ คือการบังคับใช้กฎหมาย เป็นสิ่งสำคัญ ในเมื่อมีกฎหมายป้องกันการทารุณกรรมสัตว์และสวัสดิภาพสัตว์ มาตั้งแต่ปี 2557 ช่วง 10 ปีมานี้ ก็มีการทารุณกรรมสัตว์เกิดขึ้นทุกวัน
ในกรณีนี้เป็นเหตุจงใจ และเจตนาฆ่าพี่เตี้ย มีการวางแผนล่วงหน้า จึงอยากให้คดีพี่เตี้ย เป็นคดีตัวอย่าง เป็นการบังคับใช้กฎหมายอย่างจริงจัง แสดงให้เห็นว่ากฎหมายสามารถปกป้องคุ้มครองสัตว์ได้อย่างแท้จริง หากผลในวันนี้ออกมาไม่เป็นไปตามที่คาดหวังก็คงเสียใจ เพราะการบังคับใช้กฎหมาย ถ้ามีแล้วไม่สามารถบังคับใช้ได้ กฎหมายก็เป็นเพียงแค่ตัวอักษรที่ไม่เกิดการปฏิบัติใช้จริง

ดังนั้นการทารุณกรรมสัตว์ ก็จะเกิดขึ้นทุกวันและจะมากขึ้นเรื่อยๆ ไม่มีการลดน้อยลง เพราะคนไม่เกรงกลัวกฎหมาย ก่อนหน้านี้ทางศาลได้ตัดสินโทษกับผู้กระทำความผิดจำคุก 6 เดือน ไม่รอลงอาญา เป็นการตัดสินของศาลชั้นต้น แต่ได้มีการอุทธรณ์ต่อเพื่อขอเพิ่มโทษในคดีนี้ และเป็นคดีที่ประชาชนให้ความสนใจมาก ซึ่งพี่เตี้ย ทำประโยชน์ให้กับสัตว์จรจัดและสัตว์ที่อาศัยอยู่ใน มช. เป็นอย่างมาก เพราะมีเม็ดเงินเข้ามาช่วยสนับสนุน
ในวันนี้เรามั่นใจมากในเรื่องของการต่อสู้ด้านคดี เพราะกฎหมายทารุณกรรมสัตว์ไม่เพียงแต่เจ้าของ เพราะตามกฎหมายคำว่าเจ้าของในเรื่องของการทารุณกรรมสัตว์คือผู้ดูแลด้วย และทุกคนทราบว่า “เพจเตี้ย มช.” เป็นผู้ดูแลสุนัขตัวนี้มาโดยตลอด จึงได้มีชื่อและนามสกุลว่า เตี้ย มช. เป็นที่รับรู้ในทางสาธารณชนโดยทั่วไปว่าพี่เตี้ยเป็นสัตว์ที่มีเจ้าของ โดยสิ่งคาดหวังเรื่องการตัดสินโทษ อยากให้ตัดสินในอัตราโทษสูงสุด คือจำคุก 2 ปี และปรับ 40,000 บาท ในส่วนของการลักทรัพย์กลางคืนก็เป็นส่วนของทางศาลที่จะพิจารณาว่าจะมีโทษอย่างไร

ด้าน นางภูริตา วัฒนศักดิ์ ประธานมูลนิธิและหัวหน้ากฎหมายมูลนิธิวอชด็อกไทยแลนด์ กล่าวว่า ประเด็นอุทธรณ์เยอะมาก ทั้งฝ่ายเราและฝ่ายจำเลย ทางศาลอุทธรณ์พยายามมากแล้วที่จะให้แล้วเสร็จในวันนี้แต่สุดท้ายก็พบว่าไม่ทัน จึงได้เลื่อนไปเป็นวันที่ 13 มกราคม 2568 ก็ไม่แปลกใจที่มีการเลื่อน เพราะทางเรารู้ดีอยู่แล้วเรื่องสำนวนการฟ้องอุทธรณ์ ซึ่งแน่นหนาและละเอียดมาก ไม่สามารถทำละเอียดมากกว่านี้ได้อีกแล้ว
ถ้าศาลเห็นว่าละเอียดมากพอที่จะพิจารณาเพิ่ม ก็รู้สึกดีใจมากด้วยซ้ำไป เพราะศาลให้ความสำคัญในประเด็นที่เราฟ้องไป ทั้งเรื่องของการเพิ่มโทษการทารุณกรรมสัตว์ และขอให้พิจารณาประเด็นการลักทรัพย์กลางคืน เพราะต้องพิจารณาว่า เตี้ย เป็นสุนัขที่มีเจ้าของหรือมีผู้ดูแล ไม่ว่าจะเป็นคุณลุงสมศักดิ์ หรือเพจเตี้ย มช. และทางเพจเตี้ย มช. ก็ให้ความร่วมมือดีอยู่แล้วในเรื่องของการยอมรับว่า เตี้ยเป็นหมาชุมชน และอยู่ในความดูแลของเพจเตี้ย มช. ซึ่งตรงกับความหมายของเจ้าของสัตว์ ของ พ.ร.บ. ทารุณกรรมสัตว์ ปี 2557

เพราะความหมายของเจ้าของสัตว์คือผู้ครอบครองหรือผู้ดูแล ซึ่งโทษการทารุณกรรมสัตว์ได้พิจารณาแล้ว และสมความปรารถนาของพวกเรา แต่เหลือโทษลักทรัพย์กลางคืนที่ต้องชี้ให้เห็นว่า เตี้ย เป็นหมามีเจ้าของหรือผู้ดูแล ในวันนี้อัยการศาลสูงได้ดำเนินการให้เราอย่างดี ในวันนี้เรามีความหวังมาก แต่จะเลื่อนออกไปอีกสักหน่อยก็ไม่เป็นไร เพื่อให้ศาลอุทธรณ์ได้พิจารณาอย่างครบถ้วนเราก็ยินดี ซึ่งการทารุณกรรมสัตว์ไม่ได้มีแค่ข้อหาการทารุณกรรมสัตว์อย่างเดียว และมีข้อหาที่เป็นกฎหมายอาญาเพิ่มด้วย
อย่างคดีของพี่เตี้ย ซึ่งคดีทารุณกรรมสัตว์ได้พิจารณาแล้วว่าเป็นความจริง เหลือแต่การพิสูจน์เรื่องว่าพี่เตี้ยเป็นสัตว์มีเจ้าของ เพราะคุณลุงสมศักดิ์เป็นผู้ดูแลมาตั้งแต่แรก และทางเพจเตี้ย มช. ได้รับมาดูแลต่อในฐานะหมาชุมชน ก็หมายความว่า เตี้ย มีผู้ดูแลและตรงกับความหมายของกฎหมายอยู่แล้ว จึงรอเรื่องของข้อหาลักทรัพย์กลางคืน เพราะว่าโทษสูงกว่าการทารุณกรรมสัตว์.
แหล่งข่าว: ไทยรัฐ