แพทย์ผู้เชี่ยวชาญ หวั่นกลุ่มเปราะบาง 608 เสี่ยงเสียชีวิตจากโควิด แนะวัคซีนยังจำเป็น
รองศาสตราจารย์ นายแพทย์ภิรุญ มุตสิกพันธุ์ นายกสมาคมโรคติดเชื้อแห่งประเทศไทย เผยว่า การระบาดของโควิดยังคงมีอัตราสูง โดยตั้งแต่ต้นปี 2567 จนถึงวันที่ 16 กันยายน 2567 มีผู้ติดเชื้อไปแล้วมากกว่า 7 แสนราย ต้องเข้ารักษาตัวในโรงพยาบาลกว่า 48,000 ราย และเสียชีวิต 205 ราย ถือว่าเป็นสถิติการติดเชื้อและเสียชีวิตสูงสุดในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้
โดยากลุ่ม 608 เมื่อป่วยเป็นโควิด มีความเสี่ยงที่จะป่วยหนักสูงขึ้นประมาณ 2 ถึง 3 เท่า โอกาสเสียชีวิตสูงขึ้นประมาณ 2 ถึง 10 เท่า เมื่อเทียบกับผู้มีอายุน้อยกว่าหรือผู้ที่ไม่ได้มีโรคร่วม ไม่เพียงแต่เมื่อติดเชื้อแล้วจะมีอาการรุนแรงขึ้น แต่ยังส่งผลต่อภาวะโรคที่คนไข้เป็นอยู่ เพราะโควิด-19 ไม่ใช่โรคของทางเดินหายใจเท่านั้น
แต่เป็นโรคที่สามารถมีอาการแสดงได้ในหลายอวัยวะ เนื่องจากเชื้อสามารถแพร่ไปได้ทั่วร่างกาย ก่อให้เกิดภาวะแทรกซ้อนต่อระบบอวัยวะต่าง ๆ เช่น ลิ่มเลือดอุดตัน กล้ามเนื้อหัวใจอักเสบ หัวใจล้มเหลว ไตวาย ทำให้เพิ่มความเสี่ยงต่อการเสียชีวิตเพิ่มขึ้น
สำหรับผู้ป่วยโรคไตเมื่อรับเชื้อโควิด ชื้อจะโจมตีอวัยวะต่างๆ รวมถึงไตซึ่งมีหน้าที่กรองของเสียออกจากร่างกายด้วย เชื้อโควิด-19 จะทำลายเซลล์ไตรวมทั้งกระตุ้นให้เกิดการอักเสบของไต ทำให้ประสิทธิภาพการทำงานของไตลดลง เกิดภาวะไตวายเฉียบพลัน (Acute Kidney Injury – AKI) ดังนั้น แพทย์ผู้เชี่ยวชาญจึงแนะนำอย่างหนักแน่นว่าผู้ป่วยกลุ่มเปราะบาง ควรได้รับวัคซีนที่จะช่วยลดความรุนแรง ลดอัตราการตายได้
ศาสตราจารย์ แพทย์หญิงศศิโสภิณ เกียรติบูรณกุล ผู้แทนจากราชวิทยาลัยอายุรแพทย์แห่งประเทศไทย กล่าวว่า วัคซีนโควิดเข็มกระตุ้นยังมีความจำเป็นอยู่เพราะโควิด-19 มีการกลายพันธุ์ไปเรื่อย ๆ ทำให้ผู้ที่เคยฉีดวัคซีนหรือเคยติดเชื้อไปนานแล้ว ภูมิคุ้มกันที่มีอยู่อาจไม่สามารถป้องกันโรคได้
โดยเฉพาะในกลุ่มเสี่ยง จึงมีความจำเป็นที่ต้องรับวัคซีนเข็มกระตุ้น ซึ่งข้อมูลปัจจุบันประสิทธิภาพของวัคซีนเข็มกระตุ้นจะอยู่ที่ประมาณ 60-70% ในการป้องกันการป่วยหนักและเสียชีวิต ซึ่งถ้าพิจารณาจากความเสี่ยงของการป่วยหนักและเสียชีวิตที่เพิ่มขึ้นหลายเท่าในคนกลุ่มนี้แล้ว ยิ่งแสดงให้เห็นถึงความสำคัญของวัคซีนในการลดภาระโรคที่จะเกิดกับคนไข้กลุ่มนี้
นายธนพลธ์ ดอกแก้ว ตัวแทนเครือข่ายพลเมืองขับเคลื่อนสิทธิด้านสุขภาพกลุ่มผู้ป่วย Health Forum และสมาคมโรคเพื่อนไตแห่งประเทศไทย กล่าวว่า ตนเป็นผู้ป่วยโรคไตเรื้อรังที่ทำงานด้านสิทธิและสวัสดิภาพของผู้ป่วยอย่างเข้มแข็งมาเป็นระยะเวลายาวนาน เป็นผู้มีประสบการณ์ตรงด้วยตัวเองว่าผู้ป่วยโรคไต มีภูมิคุ้มกันน้อย มีภาวะแทรกซ้อนโรคได้ง่าย
เมื่อติดโควิดจึงมีโอกาสที่จะป่วยรุนแรงกว่าคนทั่วไป โดยเฉพาะผู้ป่วยโรคไตเรื้อรังระยะสุดท้ายที่ฟอกเลือดล้างไตทางหน้าท้องหรือได้รับการปลูกถ่ายไต หากติดโควิด-19 แล้ว อัตราเสียชีวิตสูงถึงร้อยละ 30-40 ดังนั้น คุณเสือจึงทุ่มเทแรงกายแรงใจเพื่อผู้ป่วยกลุ่มเปราะบาง ได้รับการเหลียวแลจากภาครัฐในส่วนที่คนไข้ไม่สามารถจะจัดการหรือรับผิดชอบด้วยตัวเองได้
นายธนพลธ์ กล่าวอีกว่า ภาครัฐควรให้ความสำคัญกับการสร้างเสริมสุขภาพและป้องกันโควิด ด้วยวัคซีนเข็มกระตุ้น โดยเฉพาะกับกลุ่มผู้ป่วยโรคเรื้อรังและประชาชนกลุ่มเสี่ยง กลุ่มผู้ป่วยส่วนใหญ่มีการระมัดระวังตัวมาโดยตลอดตั้งแต่การระบาดของโควิด เป็นการป้องกันตนเองตามที่ได้รับคำแนะนำจากแพทย์และผู้เชี่ยวชาญซึ่งเป็นสิ่งที่เราสามารถทำเองได้
แต่การปกป้องตัวเองด้วยวัคซีนนั้น อยู่นอกเหนือจากความสามารถของเรา จึงอยากเรียกร้องไปถึงผู้มีหน้าที่เกี่ยวข้องให้ช่วยพิจารณาและจัดหาวัคซีนให้เพียงพอสำหรับประชาชน ถึงแม้ว่าวัคซีนอาจไม่จำเป็นสำหรับประชาชนส่วนหนึ่งแล้ว แต่ยังคงมีความจำเป็นสำหรับกลุ่มผู้ป่วยโรคเรื้อรังและประชาชนกลุ่มเสี่ยงอยู่
ทั้งนี้ ภาครัฐควรให้ความสำคัญกับการสร้างเสริมสุขภาพและการป้องกันโควิด-19 ด้วยการสนับสนุนวัคซีนเข็มกระตุ้น โดยเฉพาะกับผู้ป่วยโรคเรื้อรัง ปัจจุบันเราเผชิญปัญหา 1. การเข้าไม่ถึงบริการ เข้าไม่ถึงวัคซีน
2. หากเข้าถึง ก็ต้องกู้หนี้ยืมสิน ต้องล้มละลายเพื่อจะได้รับยา ถ้าภาครัฐเล็งเห็นความสำคัญและอยากให้คุณภาพชีวิตของประชาชนคนไทยดี อยากให้คุณภาพของชีวิตของผู้ป่วยดี ลดภาวะเสี่ยงกับการเจ็บป่วยหนักจนต้องเข้าโรงพยาบาล ซึ่งเมื่อติดโควิด 1 ครั้ง ต้องไปนอนโรงพยาบาล 7 ถึง 14 วัน ค่าใช้จ่ายในการรักษาพยาบาลคิดเป็นเงินเท่าไหร่ ทั้งค่ายา ค่าแพทย์ ค่าอุปกรณ์ทางการแพทย์ เป็นเงินมหาศาลเมื่อเทียบกับวัคซีนที่มีราคาถูกกว่า
แหล่งข่าว: ไทยรัฐ