หนังสือวิชาการลุ่มลึกอ่านสนุกเพลิน ของ อาจารย์ ปรัชญา ปานเกตุ เล่ม อักษรศัพท์พินิจฉัย (สถาพรบุ๊คส์ พิมพ์ พ.ศ.2567) ยังไม่ช้ำครับ บอกอาการ ผมยังเปิดอ่านเอามาใช้น้อย

แตง เป็นชื่อไม้เถาล้มลุก เถามีขน มีมือเกาะ บางชนิด ยอดดอก และผลกินได้ ภาษาลาวและภาษาไทในดินแดนอื่น ก็เรียก “แตง” แตงผลเล็กมาก เรียก “แตงหนู” “หนู” หมายถึงเล็ก ใช้เฉพาะพรรณไม้บางอย่างเช่นมีพันธุ์เล็ก

เช่น กุหลาบหนู ชบาหนู แตงหนู

แตงผลเล็ก ใช้เป็นผักเรียก “แตงกวา” คำว่า “กวา” ภาษาจีน แปลว่า แตง “หวงกวา” หมายถึงแตงกวา “หนานกวา” หมายถึงฟักทอง “ขูกวา” หมายถึงมะระ “ตงกวา” หมายถึงฟัก “ซือกวา” หมายถึงบวบ และซีกวา หมายถึงแตงโม

แตงที่ผลโตกว่าแตงกวา เรียกว่า “แตงร้าน” เรียกแตงร้าน เพราะเวลาปลูกต้องปักเสาพาดไม้ข้างบนเป็นร้าน ให้เลี้ยงเบา หมายถึงที่ให้ผลเร็ว ปักษ์ใต้เรียกแตงกวาว่า “แตงเบา”

แตงที่ผลอ่อนใช้เป็นผัก เมื่อสุกกินกับน้ำกะทิเรียก “แตงไทย” ภาษาถิ่นอีสานเรียก “แตงจิง” ภาษาถิ่นล้านนาเรียก “แตงลาย” แตงที่ยอดและผลอ่อนใช้เป็นผัก ผลแก่เนื้อมีรสหวาน เรียก “แตงโม” ภาษาถิ่นใต้เรียก “แตงจีน”

ภาษาลาวเรียก “หมากโม” ภาษาถิ่นอีสานเรียก “บักโม”

เมล็ดแตงโมต้มแล้วตากให้แห้ง ใช้ขบเคี้ยว เรียก “กวยจี๊” หรือ “เม็ดกวยจี๊” ภาษาจีนฮกเกี้ยนว่า “กวยจี๊” หมายถึงเมล็ดแตงโม อาการที่ขบให้เมล็ดกวยจี๊แตกเพื่อกินเนื้อในเรียกว่า “เกล็ด”

เรียกลักษณะเนื้อแตงโมที่มีลักษณะร่วนซุยอย่างทรายว่า  “ทราย” เช่น แตงโมเนื้อเป็นทราย เรียกแตงโมที่แก่ยังไม่จัด ว่า “ตำเนิน”  หรือ “ดำเนิน” เรียกแตงโมที่เสียแต่ยังไม่เน่าว่า “สุ” หรือ “สุๆ”

เรียกลักษณะแตงโมที่เนื้อข้างในแห้งเป็นโพรงเพราะแก่จัด หรือเกิดจากโรคบางชนิดว่า “ไส้ล้ม”

บัญชีอาหารในหมายกำหนดการเรื่อง ฉลองวัดพระศรีรัตน ศาสดาราม จ.ศ.1171 มีแตงโมอยู่ในสำรับคาวด้วย สันนิษฐานว่าจะเป็นกับข้าวที่เรียกว่า “ปลาแห้งแตงโม” เพราะท่านออกชื่อไว้ติดกัน

สำนวน “แตงเถาตาย” หมายถึงหญิงม่ายที่ม่ายที่มีอายุมาก สำนวน “หนุ่มทั้งแท่งมากินแตงเถาตาย” หมายถึงหนุ่มบริสุทธิ์ ที่ได้แม่ม่ายอายุมากเป็นภรรยา

สำนวน “แตงร่มใบ” หมายถึงผิวเป็นนวลใยในวัยสาว

ให้ความรู้ทางภาษา ลึกซึ้ง ซับซ้อน ตามลีลาแล้ว อาจารย์ปรัชญา ก็จบด้วยเรื่องที่ผมอ่านครั้งแรกยิ้มต่อไปนี้

ก่อนแตงโมลูกรีๆสีเขียวอ่อน มีผิวมีริ้วมีลายและขายกันเกลื่อนกลาด ตอนเด็กผมกินแตงโมลูกกลมๆสีเขียวเข้มและกินคนเดียวครั้งละครึ่งลูก…แต่ถึงจะพึงใจอย่างไร ก็กินไม่ได้บ่อยนัก แม่ว่า “ยามันเยอะ”

“ยา” นั้นคือสารฆ่าแมลงที่ชาวไร่เริ่มเคล้ากับเม็ดก่อนฝังลงดินและระดมฉีดพ่นจนกว่าจะเก็บเกี่ยว

เมื่อแรกมาเพชรบุรีแล้วรู้ว่าแตงโมบ้านหนองพลับ ทางไปหาดเจ้าสำราญมีรสฉ่ำหวานวิเศษ

ผมจึงรีบไปตามหาทันที เจ้าของท้องที่เขากินแตงหนองพลับช่วงปลายปีต่อต้นปีปลอดฝน แต่หนประเดิมของผมอยู่ราวๆหลังสงกรานต์ปลายเมษายน ฝนตกแล้วแตงวายแล้วไม่มีใครแสวงหามากินแล้ว

ทุกคนรู้ แฟนคลับรู้ แต่ผมไม่รู้

“แตงหวานมั้ยครับ” หลังจากขับรถวนดูอยู่หลายรอบ ผมเลือกแวะร้านท่านผู้อาวุโส  “หวานนน…” คุณยายเอื้อนเสียงหวานกว่าแตงที่แผงบนลานดิน

“คนแก่ไม่โกหกหรอกจ้ะ” “แตงบ้านเราหรือครับ” ผมชวนคุย “แตงบ้านเราสิจ๊ะ” คุณยายตอบยิ้มๆ

“ฉันจะโกหกคุณทำไม” แกว่าพลางลูบคลำเคาะลูกนั้นดีดลูกนี้ “ไม่ใช่แตงที่สวนสุพรรณนะ” ผมแซวต่อ

 “แตงบ้านเราจริงจริ๊ง” แกพูดแล้วค้อนใส่ “ฉันจะโกหก

คุณทำไม…ก็เพิ่งรับจากตลาดไทเมื่อเช้านี้เอ๊ง!”

อ่านประโยคท้ายครั้งที่สอง ย้อนไปอ่านชื่อเรื่อง “แตงเถายาย” ผมจึงหัวเราะได้ ด้วยประการฉะนี้.

กิเลน ประลองเชิง

คลิกอ่านคอลัมน์ “ชักธงรบ” เพิ่มเติม