![แชร์ลูกโซ่ท่ามกลางวิกฤตเศรษฐกิจ เตือนภัยผู้ลงทุน แชร์ลูกโซ่ท่ามกลางวิกฤตเศรษฐกิจ เตือนภัยผู้ลงทุน](https://static.thairath.co.th/media/dFQROr7oWzulq5Fa6rMm2nI3SE1FNFKaKBLBb3bfM12P3xlnjm7Y5lysoZ5su8pST66.jpg)
นับแต่การฟื้นตัวทางเศรษฐกิจ “หลังโควิด-19 คลี่คลาย” บริษัทหลายแห่งพากันปรับเปลี่ยนวิธีทำธุรกิจเป็นแบบดิจิทัล “ก่อเกิดการลดพนักงานอย่างกว้างขวาง” ส่งผลให้คนไทยตกงานต่างพยายามดิ้นรนหารายได้เสริมหันมาเรียนคอร์สทำธุรกิจผ่านออนไลน์เพิ่มขึ้น
แต่กลับเคราะห์ซ้ำกรรมซัดหลายคนต้องมาเจอ “ธุรกิจขายตรงแบบหลายชั้น (MLM) แฝงลักษณะแชร์ลูกโซ่” อย่างบริษัทบรรดาบอสคนดังที่เป็นข่าวตามข้อมูลกรมพัฒนาธุรกิจการค้า (DBD) “ในช่วงปี 2021 มีรายได้เกือบ 5 พันล้านบาท” สะท้อนให้เห็นถึงธุรกิจค่อนข้างประสบความสำเร็จการสร้างเครือข่ายในช่วงนั้นได้อย่างมาก
ด้วยการใช้ระบบ “สร้างแรงจูงใจ” ทำให้อยากเพิ่มลูกข่าย downline มากกว่าการเน้นขายสินค้า “แบบค้าส่ง” แบ่งเป็นระดับขนาดกลาง 2.5 หมื่นบาท และขนาดใหญ่ 2.5 แสนบาท “จะได้กำไร 5 ต่อ” จากกำไรขายปลีก กำไรราคาขายส่ง ส่วนแบ่งเพิ่ม การเป็นหุ้นส่วน โปรโมชันประจำเดือน และได้รับกำไรสะสมคะแนน
![](https://static.thairath.co.th/media/Dtbezn3nNUxytg04aveXmSBYqeLDcRCxlO1j6eq80mQ9OO.jpg)
แล้วเริ่มกักตุนสินค้าระบายให้มากขึ้นเพื่อส่วนแบ่งที่เพิ่มนำไปสู่ “เครือข่ายขายตรง” กลายร่างเป็นแชร์ลูกโซ่ทำผิดไม่รู้ตัว ผศ.ดร.ธนสิน ถนอมพงษ์พันธ์ ประธาน คกก.ดำเนินงานศูนย์กิจการนานาชาติ คณะเศรษฐศาสตร์ ม.เกษตรศาสตร์ บอกถึงผลกระทบของแชร์ลูกโซ่ : บทเรียนจากผู้เสียหายทางการเงินผ่านทางเพจสถานีวิทยุ ม.ก.ว่า
จริงๆแล้วธุรกิจ MLM แฝงแชร์ลูกโซ่เป็นเหมือน “เก้าอี้ดนตรี” เมื่อลงทุนแล้วระบายสินค้าไม่ได้ “สินค้าหมดอายุต้องสูญเสียเงินลงทุน” ถ้าหากลงทุนในสินค้ามากเกินไปก็มักจะนำไปสู่การแย่งกันปล่อยสินค้าเพื่อรักษาตำแหน่ง ดังนั้นคนเข้าไประบบนี้จะไม่ได้แข่งขายสินค้าให้ผู้บริโภคเท่านั้น แต่กำลังแข่งกับตัวแทนขายตรงเจ้าอื่นด้วย
![](https://static.thairath.co.th/media/Dtbezn3nNUxytg04aveXmSBYqeLDcRCxHvb9VFRghZF1cw.jpg)
สิ่งสำคัญคือ “การชักชวนผู้อื่นเข้าร่วมธุรกิจใหม่” จะต้องซื้อสินค้า หรือร่วมลงทุนแล้วผลตอบแทนที่ผู้ชักชวนได้มาจากยอดซื้อของผู้ที่ถูกชักชวนใหม่นั้นส่งผลให้ระบบมีลักษณะการหมุนเงินจากคนใหม่จ่ายให้กับคนเก่า และยิ่งชักชวนคนเข้าร่วมมาก ยอดขาย หรือยอดซื้อสินค้าได้มาก “ผู้อยู่ลำดับสูง” ก็จะได้รับผลตอบแทนมากขึ้น
เรื่องนี้ในต่างประเทศที่เจริญเติบโตมากๆ อย่าง “สหรัฐอเมริกา” ก็เคยเกิดขึ้นเหมือนกัน เช่น “เฮอร์บาไลฟ์ (2016)” มีผู้เข้าไปเกี่ยวข้องหลายแสนคน มูลค่าความเสียหาย 200 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ “เทเล็กซ์ฟรี (204)” ผู้เสียหาย 1 ล้านคน มูลค่าความเสียหาย 1.7 พันล้านดอลลาร์สหรัฐฯ (6 หมื่นล้านบาท) และผู้ก่อตั้งก็ติดคุกไป
ในส่วนกรณี “ดาราคนดังเข้ามาร่วมธุรกิจ MLM แฝงแชร์ลูกโซ่” ล้วนเป็นการเข้ามารับรองสินค้า หรือผลิตภัณฑ์ที่ผู้จำหน่ายผลิตออกมาตอบสนองกับความต้องการของลูกค้า “ดาราคนดัง” เข้ามาสร้างความสนใจให้ลูกค้าอยากมาซื้อ “เสมือนขายความน่าเชื่อถือของตัว” ทำให้เข้าข่ายร่วมกระทำผิดนี้ด้วยก็ได้
![](https://static.thairath.co.th/media/PZnhTOtr5D3rd9odAgFbgGZv5aloQuXh1ANRr5opeFyJMMo.jpg)
เรื่องนี้เป็นบทเรียนกรณีศึกษาสำคัญให้กับ “บรรดาดาราคนดัง” อนาคตหากจะรับงานในการใช้ชื่อเสียงความโด่งดังที่สะสมมาไปการันตีสินค้า หรือบริการใดๆ จำเป็นต้องใช้เวลาคิดไตร่ตรอง ให้รอบคอบ เพราะความศรัทธาจากประชาชนที่มีต่อดารา หรือซุปเปอร์สตาร์มักมีผลต่อแรงจูงใจ จึงควรต้องระวังให้มากในยุคนี้
ส่วนสัญญากฎหมายและการปราบปรามแชร์ลูกโซ่ในไทย เลิศศักดิ์ รักธรรม ผอ.กองคุ้มครองผู้บริโภคด้านสัญญา สคบ. ให้ข้อมูลว่า ตาม พ.ร.บ.ขายตรงและตลาดแบบตรง พ.ศ.2545 “นิติบุคคลขายของผ่านออนไลน์” ต้องขึ้นทะเบียนกับ สคบ.ก่อนเสมอ เว้นแต่ธุรกิจ SMEs หรือบุคคลธรรมดารายได้ไม่เกิน 1.8 ล้านบาท/ปี
เพื่อการคุ้มครองผู้บริโภค “หากไม่พอใจคืนสินค้ารับเงินคืนได้ใน 7 วัน” ยิ่งกว่านั้นผู้ประกอบการต้องออกสัญญาซื้อขายส่งให้ผู้บริโภคด้วยทุกครั้ง “อันเป็นการยืนยันตัวตน” ที่เป็นหลักฐานสำหรับการซื้อขายนั้น
เช่นเดียวกับ “ตลาดแบบตรง (Direct Marketing)” อันเป็นการทำตลาดบริการลักษณะการสื่อสารข้อมูลเสนอขายสินค้าหรือบริการโดยตรงต่อผู้บริโภคผ่านทางสื่อสิ่งพิมพ์ ใบปลิว แค็ตตาล็อก หรือทางแพลตฟอร์มออนไลน์ที่เป็นสื่อกลางให้ผู้บริโภคสนใจสินค้า หรือบริการ ก็จำเป็นต้องมาจดทะเบียนกับ สคบ.เหมือนกัน
ปัญหามีอยู่ว่า “ในช่วงแรกๆผู้ประกอบการมักทำตามแผนที่ได้รับอนุญาต” แต่ภายหลังพอมีประสบการณ์ก็เริ่มเปลี่ยนแผนธุรกิจ “กลายพันธุ์เป็นแฝงแชร์ลูกโซ่ลักษณะฉ้อโกงประชาชน” ที่มักใช้กลยุทธ์ลักษณะอวดสถานะร่ำรวย ชีวิตหรูหรา ฟู่ฟ่า มีเงินมีทอง อยู่ในสังคมที่ดี และเที่ยวต่างประเทศออกสื่อบ่อยๆ
![](https://static.thairath.co.th/media/Dtbezn3nNUxytg04aveXmSBYqeLDcRCxM7f54os9miH6mf.jpg)
อย่างกรณีบริษัทของบรรดาบอสคนดัง “ตำรวจ” ใช้ข้อหาฉ้อโกงประชาชนเข้าจับกุมตรวจสอบจากผลตอบแทนที่ได้บางส่วนเกินกว่ากฎหมายกำหนด เข้าข่าย พ.ร.ก.กู้ยืมเงินที่เป็นการฉ้อโกงประชาชน พ.ศ.2527 แต่หากเข้าแชร์ลูกโซ่ต้องกล่าวโฆษณาว่า “ลงทุนระยะสั้นได้ผลตอบแทนเร็ว” สร้างความหวังสะกิดต่อมความโลภคนอื่น
ดังนั้นการจะซื้อสินค้าอะไรสักอย่าง “ต้องมีสติในการซื้อ” หากอยากลงทุนธุรกิจควรต้องศึกษาให้รอบคอบก่อน “เวลาตกเป็นเหยื่อก็ไม่ควรนิ่งเฉยอยู่เงียบๆ” แต่ต้องรีบแจ้งความกับตำรวจเพื่อไม่ให้ใครคนอื่นต้องมาถูกหลอกอีก เพราะหากปล่อยผ่านไปเฉยๆ “ยิ่งจะทำให้มีคนตกเป็นเหยื่อ” สร้างความเสียหายเพิ่มมากขึ้น
ขณะที่ สุรกิจ สิงหะพล จนท.กฎหมายและคดี สภาผู้บริโภค แนะแนวทางเรียกร้องสิทธิ บอกเลิกสัญญา และขอเงินคืนการลงทุนขายสินค้าออนไลน์ ว่า รูปแบบแชร์ลูกโซ่ดูได้จากโครงสร้างธุรกิจเน้นการรับสมัครคนใหม่เข้าร่วม “ไม่มุ่งขายสินค้า” ทั้งมีการโฆษณาผลตอบแทนที่สูงเกินจริงโดยไม่อาจทําได้ตามสัญญา
เพื่อแรงจูงใจให้เข้าร่วมแบบนี้เป็นความผิด ม.19 พ.ร.บ.ขายตรงฯ ห้ามให้ผู้ทำธุรกิจขายตรง และตลาดแบบตรงชักชวนบุคคลเข้าร่วมเครือข่ายโดยตกลงว่าจะให้ผลประโยชน์จากการหาผู้เข้าร่วมเครือข่ายนั้น ลักษณะนี้ยกเลิกสัญญา และขอเงินคืนได้เพียงแต่ผู้เสียหายมักไม่แจ้งความทั้งที่เป็นหลักฐานยืนยันเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น
ในนามสภาผู้บริโภคหวังว่า “การลงทุนใดๆ” ควรต้องตรวจสอบข้อมูลรอบด้าน หากสงสัยสอบถาม สคบ.หรือ ก.ล.ต.หน่วยงานกำกับดูแลได้ เมื่อตกเป็นเหยื่อควรรุกขึ้นมาปกป้องสิทธิ์ตัวเอง และปกป้องสิทธิ์ผู้อื่นด้วยการเก็บหลักฐานแจ้งหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง มิเช่นนั้นตกเป็นเหยื่อแล้วยังร่วมชักชวนต่ออีกอาจกลายเป็นอย่างอื่นแทนได้
![](https://static.thairath.co.th/media/Dtbezn3nNUxytg04aveXmSBYqeLDcRCwkTuzEKFL9cQnEG.jpg)
ฝากทิ้งท้ายไว้ว่า “อย่าเชื่อคนง่าย” เพราะไม่มีการลงทุนใดให้ผลตอบแทนสูงในเวลาอันรวดเร็ว และพึงตระหนักว่าการลงทุนที่ให้ผลตอบแทนสูงนั้นย่อมมีความเสี่ยงสูงด้วยเช่นกัน
คลิกอ่านคอลัมน์ “สกู๊ปหน้า 1” เพิ่มเติม
แหล่งข่าว: ไทยรัฐ