เหยื่อโดนหลอกซื้อ “บ้านน็อคดาวน์” ร้อง “ตำรวจไซเบอร์” หลังเจ้าของถูกจับติดคุกแล้ว แต่พบยังเปิดเพจขาย
เมื่อเวลา 10.00 น. วันที่ 22 พ.ย. 2567 ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ที่กองบังคับการตำรวจสืบสวนสอบสวนอาชญากรรมทางเทคโนโลยี 2 (บก.สอท.2) เมืองทองธานี อ.ปากเกร็ด จ.นนทบุรี นายวงศ์สกุล แสงชมพู ทนายความ พร้อมผู้เสียหายกว่า 10 คน ที่ซื้อบ้านน็อคดาวน์ผ่านโซเชียล เดินทางเข้าแจ้งความดำเนินคดีกับห้างหุ้นส่วน “กันยกร” ที่ถูกดำเนินคดีในข้อหาฉ้อโกงไปแล้วก่อนหน้านี้ หลังพบมีการเปลี่ยนชื่อเพจกลับมาหลอกประชาชนอีกรอบ โดยมี พล.ต.ต.นิพล บุญเกิด ผบก.สอท.2 เป็นผู้รับเรื่องร้องทุกข์
น.ส.ขวัญหทัย หัสดินทร ณ อยุธยา อายุ 24 ปี ตัวแทนกลุ่มผู้เสียหาย กล่าวว่า กลุ่มผู้เสียหายที่สั่งซื้อบ้านน็อคดาวน์กับห้างหุ้นส่วนจำกัด กันยกร ซึ่งมีผู้เสียหายรวมกว่า 40 คน มูลค่าความเสียหายรวมกว่า 10 ล้านบาท ซึ่งจากการรวบรวมข้อมูลของผู้เสียหายรายอื่น ๆ พบว่าผู้ก่อเหตุมีคดีความที่ถูกดำเนินคดีและมีคำพิพากษาให้จำคุกไปแล้วเมื่อวันที่ 24 ตุลาคม 2567 แต่ปัจจุบันยังมีผู้เสียหายบางส่วนที่ยังไม่มีความคืบหน้าทางคดีที่เคยแจ้งความไว้ได้มาติดตามคดี
สำหรับเพจของห้างหุ้นส่วนกันยกร จะมีทั้ง Facebook และ TikTok ถึงแม้เจ้าของจะถูกดำเนินคดีไปแล้ว แต่เพจยังคงประกาศขายบ้านน็อคดาวน์สำเร็จรูปอยู่ ซึ่งส่วนใหญ่ที่ทำให้ผู้เสียหายหลงเชื่อเนื่องจากขายราคาไม่แพงมาก มีแบบบ้านที่สวยและดูดี มีการเสนอโปรโมชั่นที่ถูกใจ ส่วนตัวตกลงซื้อบ้านในราคา 310,000 บาท ทำสัญญาจ่าย 4 งวด แบ่งเป็น 30 เปอร์เซ็นต์ 3 งวด และงวดสุดท้ายอีก 10 เปอร์เซ็นต์
ทั้งนี้ จะใช้วิธีถ่ายรูปโครงสร้างของบ้านแล้วส่งมาขอเบิกเงิน และจะทำแบบจนถึงงวดที่ 3 ซึ่งจะต้องเตรียมส่งมอบบ้าน ก็จะอ้างไม่มีคนขนย้ายบ้าง รอช่างบ้าง สุดท้ายก็ไม่ได้บ้านตามที่ตกลง ผู้เสียหายบางรายได้บ้านน็อคดาวน์จริงแต่สภาพบ้านไม่เป็นไปตามสัญญา พอทวงถามกลับบล็อกทุกช่องทางติดต่อ
กระทั่งกลุ่มผู้เสียหายได้มีการรวมตัวกันและเริ่มหาข้อมูล ทำให้พบว่าเจ้าของเพจหจก. กันยกร เป็นคนเดียวกันกับเจ้าของเพจบ้านน็อคดาวน์ “ซุ้มไพบูลย์” ที่ถูกพิพากษาจำคุกในคดีฉ้อโกงไปเมื่อเดือน ต.ค.ที่ผ่านมา ก่อนจะเปลี่ยนเป็นชื่อ “กัลยกร” และยังพบว่าเงินที่โอนค่าสร้างบ้าน มีการถ่ายเทไปยังบัญชีคนในครอบครัว จึงต้องการให้ตำรวจรวบรวมหลักฐาน เพื่อดำเนินคดีบุคคลที่มีส่วนเกี่ยวข้องในการกระทำผิด
ทางด้าน พล.ต.ต.นิพล บุญเกิด ผบก.สอท.2 เผยว่า เบื้องต้นทราบว่ามีผู้เสียหายถูกหลอกลวงเป็นจำนวนมากและหลายพื้นที่ และบางรายยังไม่ได้มีการแจ้งความในระบบแจ้งความออนไลน์ 1441 ซึ่งยืนยันว่าผู้เสียหายสามารถแจ้งความในทุกพื้นที่ได้ ซึ่งหากมีความเชื่อมโยงกันหลายคดีก็จะมีการพิจารณารวบรวมผู้เสียหาย จากนั้นจะมีการมอบหมายให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องดำเนินการต่อไป
ในส่วนมีความเชื่อมโยงกับผู้ต้องหารายคดีเดิมจะมีการรวมคดีหรือไม่ การกระทำผิดที่มีผู้เสียหายเยอะๆ ส่วนนี้ต่างกรรมต่างวาระ สามารถแยกดำเนินคดีได้หรือหากพบว่ามีผู้เสียเยอะมากๆ ก็จะเข้าข่ายความผิดฉ้อโกงประชาชนก็จะแยกเป็นอีกคดี.
แหล่งข่าว: ไทยรัฐ