เจ้าหน้าที่เร่งวางแผนกู้ซาก “คานสะพานถล่ม” ถนนพระราม 2 คาดใช้เวลารื้อถอน 2–3 วัน ล่าสุดยังไม่ทราบสาเหตุพังถล่ม
เมื่อเวลาประมาณ 10.30 น. วันที่ 29 พฤศจิกายน 2567 นายวรณัฎฐ์ หนูรอต รองผู้ว่าราชการจังหวัดสมุทรสาคร เป็นผู้แทนของนายนริศ นิรามัยวงศ์ ผู้ว่าราชการจังหวัดสมุทรสาคร ลงพื้นที่ตรวจสอบเหตุคานปูน (Segment) และเครน (Launching Gantry Crane) ซึ่งเป็นชิ้นส่วนและอุปกรณ์ที่ใช้ก่อสร้างทางยกระดับ โครงการก่อสร้างทางหลวงพิเศษหมายเลข 82 สายทางยกระดับบางขุนเทียน – บ้านแพ้ว ช่วงเอกชัย – บ้านแพ้ว (ช่วงที่ 3) ตอนที่ 1 ถล่มขณะกำลังเชื่อมคานปูนเข้าด้วยกัน ส่งผลให้คนงานที่ปฏิบัติงานเสียชีวิตและได้รับบาดเจ็บ บนพื้นที่ กม.21+600 – กม.22+100 ถนนพระราม 2 ขาออกกรุงเทพฯ หมู่ที่ 2 ต.คอกกระบือ อ.เมือง จ.สมุทรสาคร โดยได้มีการประชุมร่วมกับฝ่ายต่างๆ
ทางรองผู้ว่าฯ กล่าวว่า ได้รับมอบอำนาจจากผู้ว่าราชการจังหวัด โดยได้เรียนเชิญส่วนราชการและผู้รับจ้างมาปรึกษาหารือกัน เพื่อประเมินสถานการณ์และรายงานข้อเท็จจริง การประเมินสถานการณ์เบื้องต้นในวันนี้ ได้เรียนเชิญทางวิศวกรรมสถาน บริษัทผู้รับจ้าง และกรมทางหลวงที่รับผิดชอบโครงการได้มาประเมินสถานการณ์ เริ่มตั้งแต่ขนาดเครน วันเวลาที่จะยก อุปกรณ์ที่เราต้องใช้ ซึ่งได้ประเมินเบื้องต้น
จากนั้นจะนัดผู้เชี่ยวชาญทุกฝ่ายมาตกลงตัดสินใจกัน แต่ในเบื้องต้นได้สั่งเครนที่จะมาทำการยกมาเรียบร้อยแล้ว คาดว่าบ่ายสามโมงน่าจะมาถึงสถานที่เพื่อจะเข้าดำเนินงานในแต่ละส่วน สำหรับเรื่องของการเยียวยาทั้งเรื่องของการเสียชีวิตและบาดเจ็บนั้น ทางผู้ตรวจราชการของประกันสังคมได้ลงพื้นที่ และจะไปเยี่ยมผู้บาดเจ็บเบื้องต้นโดยผู้เสียชีวิตที่อยู่ประกันสังคม เรามีกองทุนที่จะจ่ายให้ราวๆ 800,000 บาทเศษ ส่วนผู้บาดเจ็บ ใช้เงินกองทุนดูแลจนกระทั่งหายเป็นปกติ
นอกจากนี้ ได้รับแจ้งจากทางผู้รับจ้างว่าทางบริษัทจะดูแลเยียวยาให้ดีที่สุด ส่วนในเรื่องของการบริหารการจราจรทางสารวัตรทางหลวงได้ประสานทาง จส.100 ในการอำนวยความสะดวกในการประชาสัมพันธ์ให้พ่อแม่พี่น้องหลบเลี่ยงเส้นทางนี้ ขณะที่เรายังไม่สามารถคืนพื้นผิวจราจรให้ได้ ส่วนการที่จะรื้อเศษซากนั้นจะใช้รถเครนขนาด 220 ตัน ขนาด 360 ตัน และขนาด 400 ตัน รวม 3 คัน
ทั้งนี้ ได้สอบถามทางผู้เชี่ยวชาญของวิศวกรรมสถานแล้ว บอกว่าน่าจะเพียงพอ โดยบ่ายสามโมงน่าจะเริ่มเข้างาน คงจะใช้เวลาสักระยะหนึ่งเพราะเป็นโครงสร้างที่ชำรุด มันไม่เหมือนกับการรื้อปกติ เพราะโครงสร้างที่ชำรุดต้องคำนึงถึงความปลอดภัยเป็นหลัก รายละเอียดในเรื่องวันเวลาที่จะรื้อแล้วเสร็จเมื่อไรคงให้ทางทีมงานวิศวกรรมเขาได้ประเมินสถานการณ์กันอีกครั้ง ส่วนสาเหตุยังไม่ทราบ ทางวิศวกรกำลังวิเคราะห์อยู่
ทางด้าน นายวุฒินันท์ ปัทมวิสุทธิ์ ประธานสาขาวิศวกรรมเครื่องกล วิศวกรรมสถานแห่งประเทศไทยในพระบรมราชูปถัมภ์ กล่าวว่า สาเหตุยังไม่ทราบ แต่เบื้องต้นพบว่ามีของที่คาอยู่ข้างบนชิ้นใหญ่ คิดว่าประมาณ 100 ตัน และมีบล็อกที่แขวนคาอยู่คาดว่าเกิน 50 ตัน เวลาที่เราจะรื้อค่อนข้างจะยากนิดหนึ่ง เพราะว่ามันเกี่ยวโยงกัน คือ คานตัวนี้เป็นปั้นจั่นชนิดหนึ่งเอาไว้ยกกล่องคอนกรีต เข้าใจว่าที่มันร่วงก็คือตอนที่เราจัดเรียง ไม่แน่ใจว่าตัวไฮดรอลิกปั๊มหรือสลิงไรเดอร์ที่มันหล่นไป
ซึ่งข้างบนจะรื้อมันยากนิดหนึ่ง เราต้องใช้เครนใหญ่รื้อแน่นอน เนื่องจากโครงสร้างตัวนี้ที่มันพาดอยู่คาดว่าจะหนักเกิน 100 ตัน แต่ว่ามันยึดโยงอยู่และบางส่วนโดยห้อยกับตัวคอนกรีตที่เราเรียกว่า Segment น่าจะใช้เครนหลายตัวเพราะชิ้นหนึ่งน่าจะเกิน 200 ตัน ซึ่งเรามีทีมที่ดูแลเรื่องเครนอยู่
ทั้งนี้ จะให้ทีมงานมาช่วยประเมินและขอให้ผู้เกี่ยวข้อง เช่น ผู้ควบคุมงาน ผู้รับเหมา มาให้ข้อมูลว่าแต่ละท่อนหนักเท่าไรกันแน่ น้ำหนักที่แน่ชัด เพื่อที่เวลาเราเอาเครนมาวางจะได้รู้ว่าเครนที่เรามีอยู่มันใหญ่พอไหม ซึ่งแนวทางเบื้องต้นน่าจะทยอยรื้อจากข้างบนเพื่อที่ข้างล่างพอเรารื้อออกจะได้นำผู้เสียชีวิตออกได้ โดยคาดว่าจะใช้เวลาในการรื้อถอนประมาณ 2–3 วัน
สำหรับผู้เสียชีวิตล่าสุดนั้น รวม 5 ราย คือ นายอภิวัฒน์ พะพันทาง อายุ 30 ปี สัญชาติไทย, นายเอยา อายุ 37 ปี สัญชาติเมียนมา, นายชิต โกโก สัญชาติเมียนมา, นายเพียว โกโก สัญชาติเมียนมา และนายอ่อง เทียนเท สัญชาติเมียนมา ส่วนผู้บาดเจ็บคงเหลืออยู่ในโรงพยาบาลจำนวน 9 คน.
แหล่งข่าว: ไทยรัฐ