กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม โดยนางสาวศุภมาส อิศรภักดี รมว.อว. ร่วมกับหน่วยบริหารและจัดการทุนด้านการพัฒนาระดับพื้นที่และมหาวิทยาลัยนราธิวาสราชนครินทร์ ส่งมอบเรือกู้ภัย Wi-Fi ผลงานความสำเร็จจากภูมิปัญญานักวิชาการไทย อันเกิดจากการบูรณาการทำงานของหน่วยงานในกระทรวงการอุดมศึกษาฯ จำนวน 8 ลำ แก่มูลนิธิอาสาเพื่อนพึ่ง (ภาฯ) ยามยาก สภากาชาดไทย ไปใช้ช่วยเหลือบรรเทาความเดือดร้อนประชาชนใน 7 จังหวัด ครอบคลุมภาคเหนือ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ และภาคใต้ ที่ประสบอุทกภัย

กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม มอบเรือกู้ภัย Wi-Fi ให้แก่มูลนิธิอาสาเพื่อนพึ่ง (ภาฯ) ยามยาก สภากาชาดไทย เพื่อนำไปช่วยเหลือประชาชนในหลายจังหวัดที่ประสบอุทกภัย มีขึ้นเมื่อวันที่ 17 ต.ค. นางสาวศุภมาส อิศรภักดี รมว.การอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) กล่าวในโอกาสส่งมอบเรือกู้ภัย Wi-Fi แด่มูลนิธิอาสาเพื่อนพึ่ง (ภาฯ) ยามยาก สภากาชาดไทย มีนายวีระศักดิ์ โควสุรัตน์ กรรมการและกรรมการบริหารมูลนิธิฯ เป็นผู้แทนรับมอบว่า เรือกู้ภัย Wi-Fi เป็นผลงานเกิดจากการบูรณาการทำงานร่วมกันอย่างไร้รอยต่อของหน่วยงานในสังกัด อว. คือ หน่วยบริหารและจัดการทุนด้านการพัฒนาระดับพื้นที่ (บพท.) มหาวิทยาลัยนราธิวาสราชนครินทร์ (มนร.) โดยการสนับสนุนของกองทุนส่งเสริมวิทยา ศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (ววน.) เป็นรูปธรรมสะท้อนให้เห็นถึงความสำเร็จของนวัตกรรมทางเทคโนโลยีจากภูมิปัญญานักวิชาการ ไทยในการจัดการภัยพิบัติ

“เรือกู้ภัย Wi-Fi เป็นเรือที่ต้นทุนไม่สูง การใช้งานไม่ซับซ้อน ดูแลรักษาง่าย มีคุณลักษณะพิเศษของเรือท้องแบนที่สามารถใช้งานได้ในพื้นที่น้ำตื้น 20-30 เซนติเมตร สามารถรองรับน้ำหนักบรรทุกได้ 40 กิโลกรัม มีการติดตั้งอุปกรณ์เชื่อมโยงสัญญาณ Wi-Fi ในรัศมีไม่เกิน 30 เมตร มีการติดตั้งกล้องวงจรปิด มีแบตเตอรี่ที่สามารถใช้งานได้ต่อเนื่องถึง 4-6 ชั่วโมง มีอุปกรณ์เก็บประจุไฟฟ้าจากระบบโซลาร์ เซลล์ ที่สามารถจ่ายไฟสำหรับการชาร์จโทรศัพท์มือถือได้ 12 เครื่อง พร้อมกับชุดสวิตซ์เซฟตี้ เพื่อความปลอดภัย ตอบโจทย์พี่น้องประชาชนกรณีการใช้ไฟฟ้าช่วงน้ำท่วม ซึ่งมีภาวะติดขัดเรื่องการจำหน่ายไฟฟ้าให้สามารถสื่อสารกับภายนอกได้” นางสาวศุภมาสกล่าว

รมว.อว.กล่าวต่อว่า หน่วยบริหารและจัดการทุนด้านการพัฒนาระดับพื้นที่ หรือ บพท.ได้ร่วมกับมหาวิทยาลัยนราธิวาสราชนครินทร์ ในการสนับสนุนของกองทุนส่งเสริมวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (ววน.) ได้พัฒนางานวิจัย เรือกู้ภัย Wi-Fi ที่จะส่งมอบแด่มูลนิธิเพื่อนพึ่ง (ภาฯ) ยามยาก สภากาชาดไทย จำนวน 8 ลำ สำหรับจัดสรรกระจายยังเครือข่ายเตือนภัย พิบัติชุมชนเพื่อนพึ่ง (ภาฯ) 8 ชุมชนใน 7 จังหวัด เพื่อนำไปใช้บรรเทาความเดือดร้อนแก่พี่น้องประชาชน ที่ประสบภัยน้ำท่วมในภาคเหนือ ที่ จ.สุโขทัย และ จ.พิษณุโลก จำนวน 2 ลำ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ที่ จ.ชัยภูมิ และ จ.สกลนคร จำนวน 2 ลำ ภาคใต้ ที่ จ.พัทลุง จ.นครศรีธรรมราช และ จ.สุราษฎร์ธานี จำนวน 4 ลำ

ขณะที่ ดร.กิตติ สัจจาวัฒนา ผู้อำนวยการหน่วยบริหารและจัดการทุนด้านการพัฒนาระดับพื้นที่ หรือ บพท.กล่าวถึงที่มาของเรือกู้ภัย Wi-Fi ว่า เป็นส่วนหนึ่งของโครงการแก้จนเร่งด่วน จากผลกระทบภัยพิบัติในพื้นที่ภาคใต้ โดยการบูรณาการร่วมกัน ของมหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตปัตตานี มหาวิทยาลัยนราธิวาสราชนครินทร์ และมหาวิทยาลัยราชภัฏยะลา เพื่อดำเนินการวิจัยและพัฒนานวัตกรรมเรื่องภัยพิบัติแก้ไขปัญหาอุทกภัย ฟื้นฟูชีวิตครัวเรือนที่ได้รับผลกระทบจากภัยพิบัติในพื้นที่ภาคใต้ตอนล่าง

ผู้อำนวยการ บพท.ยังกล่าวด้วยว่า เรือกู้ภัย Wi-Fi ไม่เพียงประสบความสำเร็จอย่างดีในการช่วยแก้ไขปัญหาอุทกภัยในพื้นที่ภาคใต้เท่านั้น เมื่อเร็วๆนี้ยังถูกนำไปใช้ประโยชน์ในการช่วยเหลือชาวบ้าน ที่ได้รับผลกระทบจากภัยพิบัติน้ำท่วมในพื้นที่จังหวัดสุโขทัยอีกด้วย เรือกู้ภัย Wi-Fi คือส่วนหนึ่งของผลสัมฤทธิ์ ที่ตอบสนองต่อนโยบายของ น.ส.ศุภมาส อิศรภักดี รมว.อว.ในการบูรณาการทุกองคาพยพของกระทรวง ทั้งองค์ความรู้ เทคโนโลยี และนวัตกรรม ไปช่วยเหลือประชาชนให้รอดพ้นจากภัยพิบัติ เพื่อช่วยให้ประชาชนมีชีวิตความเป็นอยู่ที่ดีและมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น