ก่อนหนังสือปกสวยเล่มล่า (สวยจนน่าอยู่ในตู้โชว์ในบ้าน) สรรพลักษณะไทย ศิลปวัฒนธรรม ประเพณี และพระราชพิธี (แสงดาวพิมพ์ พ.ศ.2567) มาถึงมือ แปลกกว่าหนังสือที่จรัญ หอมเทียนทอง เคยส่ง ตรงที่ พินิจ หุตะจินดา ผู้เขียน โทรศัพท์มาบอกข่าวก่อน

ผมรู้จักพินิจตั้งแต่ปี 2535 นานโข! นักข่าวหัวก้าวหน้า แนะนำตัวด้วย “รักแรก” พ็อกเกตบุ๊กเล่มแรก ฝีมือเขียนลุ่มลึกละเมียดละไมมาก เห็นชื่ออีกทีในหนังสือคุณภาพของแสงดาวอีกหลายๆเล่ม

เล่ม คนสำคัญในราชสำนักจากอยุธยาถึงรัตนโกสินทร์ ผมจึงรู้ว่า พินิจทำละครเวทีเข้าวงการละครโทรทัศน์ รับงานละครอิงประวัติศาสตร์ คร่ำหวอดกับการค้นคว้าหาความรู้ด้านนี้กว่า 20 ปี…

ไม่แปลกใจ ทำไม เล่มสรรพลักษณะไทยฯ เรื่องราวเก่ามัวซัวในซอกหลืบลึกเร้น ที่ผมเคยอ่านแบบแตกกระจัดพลัดพราย จึงได้ตกผลึกเป็นเรื่องเดียว…ให้ความรู้เจิดจ้าเหมือนฟ้ากระจ่าง

หัวข้อแรก การละเล่นในงานพระราชพิธีสมโภช พินิจบอกว่า การละเล่นต่างๆ โมงครุ่ม ระบำ ระเบ็ง กุลาตีไม้ เป็นการแสดงโดยกรมมหาดเล็ก แทงวิไสย รำโคม กระอั้วแทงควาย แสดงโดยกรมญวนหก

และ ไต่ลวด รำแพน หกคะเมน ลอดบ่วง โยนมีด นอนดาบ พุ่งหอก ยิงธนู การละเล่นนี้ ผู้เล่นมักเป็นชายล้วน

ต่อมาในสมัย ร.5 โปรดเกล้าฯให้ผู้หญิง “ฝ่ายใน” เล่น “ระเบ็ง” “แทงวิไสย” และกระอั้วแทงควาย ซึ่งถอดเล่นการเล่นจากผู้ชาย ในงานพระราชพิธีโสกันต์ พระเจ้าน้องยาเธอ และพระเจ้าน้องนางเธอ รวม 5 พระองค์ ในปี 2415

การละเล่นของหลวง แสดงในงานสำคัญ เช่น งานฉลองพระแก้ว วัดพระเชตุพนฯ ในรัชกาลที่ 1 งามสมโภชพระบรมอัฐิสมเด็จพระปฐมบรมมหาชนก พ.ศ.2339

โมงครุ่ม หรือโหม่งครุ่ม เล่นเป็นประเพณีนิยมมาตั้งแต่สมัยกรุงศรีอยุธยา เช่นเดียวกับระเบ็ง แสดงกลางสนามเวลาบ่ายหรือเย็น โมงครุ่มเป็นการแสดงที่มีการฟ้อนรำไม่ได้จับเรื่องเล่นเป็นละคร

ผู้แสดงเป็นผู้ชาย สองมือถือแส้ เล่นวงเดียวหรือหลายวงก็ได้ สมัยรัตนโกสินทร์ โมงครุ่มเปลี่ยนจากถือแส้เป็นไม้กำพต (หรือตะพด) คล้ายไม้ตีกลองทัด แต่มีด้ามยาว และมีผู้แสดงอีกหนึ่งคนตีฆ้องโหม่งกับจังหวะและให้อาณัติสัญญาณบอกทำนองเพลง และบอกท่ารำ

เสียงฆ้องเสียงกลองนี้ จึงเป็นเหตุแห่งการเรียกโมงครุ่ม นั่นคือ เสียงฆ้องที่ดัง “โมง” และเสียงกลองสองใบที่ตีลองพร้อมกันดัง “ครุ่ม”

สมเด็จเจ้าฟ้าฯ กรมพระยานริศรานุวัดติวงศ์ ทรงพระนิพนธ์ท่ารำโบราณไว้ในสาส์นสมเด็จว่า

“การเล่นแบบนี้ บางท่านเรียก “อีหลัดถัดทา” ที่เรียกว่า “โมงครุ่ม” สันนิษฐานว่าคงจะเรียกชื่อตามเสียงโหม่งและเสียงกลองที่ดังนั่นเอง”

ตรงกับพระวินิจฉัยของสมเด็จฯ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ ในสาส์นสมเด็จว่า

“…ระบำซ้ายขวาโหม่งครุ่มกายก…คำ “กายก” ที่เรียกต่อคำโหม่งครุ่ม คิดว่าน่าจะเป็นตัวชื่อของการเล่นอย่างนั้นดอกกระมัง เพราะคำที่เรียก “โหม่งครุ่ม” เรียกตามเสียงฆ้องเสียงกลองเพื่อสะดวกปาก…”

อนึ่ง คำว่า “โหม่ง” ที่เป็นเสียงตีฆ้องโหม่ง ได้กลายเป็นคำว่า “โมง” ตามเสียงบอกเวลากลางวันของนาฬิกาวันนี้

พระยาเทวาธิราช (โป้ย มาลากุล) ค้นพบบท ระเบ็ง กุลาตีไม้และชื่อท่ารำโมงครุ่ม ที่เจ้าพระยาธรรมาธิกรณาธิบดี (ม.ร.ว.ปุ้ม มาลากุล) สั่งให้จดไว้ในกองพิธีกระทรวงวัง เช่น

จักรวรรดิงามงอนทรงเครื่อง มังกรเยื้องย้ายหาง พระจันทรกุมกรกางกลด เทพประณตประนมกรเทพประนม

ชื่อท่าตีโมงครุ่มเหล่านี้ พินิจบอกว่า กลายเป็นท่ารำต่างๆของละคร มาจนปัจจุบัน

นี่แค่บทคัดย่อ ตอนแรกๆนะครับ…ผมยังไปไม่ถึงเรื่องที่ผมทึ่ง พินิจค้นพบ “เสี้ยวกาง” จิตรกรรมแกะสลักบานประตูหน้าโบสถ์วัดบวรฯ ที่เราเคยรู้กันว่าชอบฝิ่น (มีคนบนฝิ่นไปปาดที่หนวด)

เป็นต้นแบบของการละเล่น “จรีแทงวิไสย”

และการละเล่นหลวง เริ่มแต่โมงครุ่ม เชื่่อมโยงไปถึงการละเล่นต่อ และต่อไปอย่างไร ผมคงต้องเขม้นสายตา อ่านมาเล่าให้รู้กันในวันหลัง.

กิเลน ประลองเชิง

คลิกอ่านคอลัมน์ “ชักธงรบ” เพิ่มเติม