เปิดกลโกง “ทนายคนดัง” หลอกลงทุน ลอตเตอรี่ออนไลน์กินเงินส่วนต่างซื้อรถหรู พาดหัวข่าว…“ยอดภูเขาน้ำแข็ง” ที่น่าจะเป็นอีกกรณีศึกษา สะท้อนภาพ…“ใต้ภูเขาน้ำแข็ง” ที่มีความเชื่อมโยงในหลายมิติกว่าจะเกิดคดีนี้ขึ้นมา และไม่แน่ว่าจะเป็นกรณีสุดท้ายในสังคมไทยหรือไม่?
ความสัมพันธ์ระหว่าง “สื่อ”…“คนดัง” และ “การหลอกลวง ฉ้อโกง” เป็นเหรียญอีกด้านที่ต้องยอมรับความจริงกันว่า นี่เป็นประเด็นปัญหาการใช้ “ชื่อเสียง” และสื่อในการสร้าง “ความเชื่อมั่น” ที่เป็น “ภัย”
ในยุคที่เทคโนโลยีและสื่อสังคมออนไลน์เข้าถึงง่าย… แพร่หลายอย่างรวดเร็ว “คนดัง” มีบทบาทสำคัญในฐานะผู้ที่ส่งผลกระทบต่อ “ทัศนคติ” และ “พฤติกรรม” ของสังคม โดยเฉพาะกลุ่มแฟนคลับ…ผู้ติดตามที่ให้ความศรัทธา ความไว้วางใจเป็นพิเศษ
อย่างไรก็ตาม อิทธิพลเหล่านี้สามารถถูกนำมาใช้ในทาง ที่เป็นอันตรายได้ ซึ่งการหลอกลวงและฉ้อโกงในรูปแบบต่างๆ มักเกิดขึ้นผ่านการอาศัยชื่อเสียงของคนดัง และการใช้สื่อเป็นเครื่องมือในการสร้างความน่าเชื่อถือให้กับกลุ่มเป้าหมาย
“คนดัง”…มักถูกมองว่ามีความน่าเชื่อถือ และหลายครั้งมีฐานแฟนคลับที่ติดตาม…เชื่อในตัวตนของพวกเขาอย่างมาก ดังนั้น เมื่อคนดังออกมาสนับสนุนสินค้า หรือบริการ ผู้ติดตามก็มักจะเชื่อถือว่าสิ่งเหล่านั้นมีคุณภาพหรือปลอดภัย
“การหลอกลวง” หรือ “ฉ้อโกง” ก็มักแอบอ้างหรือใช้ความน่าเชื่อถือของคนดัง เพื่อเพิ่มความมั่นใจให้กับ…“เหยื่อ”
พุ่งเป้า “คนดัง” ภาพลักษณ์ที่น่าเชื่อถือในสายตาสาธารณะ
คนดังมีบทบาทเป็น “ผู้มีอิทธิพล” ในสายตาของคนในสังคม เมื่อคนดังพูดหรือแสดงออกอย่างใดอย่างหนึ่ง มักมีผู้คน ที่ยินดีรับฟัง เชื่อถือ พร้อมทำตาม
ในโลกการตลาดยุคปัจจุบัน การใช้คนดังมาเป็นพรีเซนเตอร์หรือแบรนด์แอมบาสเดอร์จึงได้รับความนิยมอย่างมาก แต่ในขณะเดียวกันคนดังที่สนับสนุนสินค้าหรือบริการโดยขาดการตรวจสอบหรือพิจารณาอย่างรอบคอบ อาจทำให้เกิดการฉ้อโกงทางการตลาด
หรือ…แม้กระทั่งนำไปสู่การหลอกลวงที่เป็นอันตรายต่อผู้บริโภคได้
ในบางกรณี คนดังก็อาจถูกใช้เป็น “เหยื่อ” ของการหลอกลวงด้วยตนเอง เช่น การถูกแอบอ้างชื่อเสียงเพื่อสร้างความน่าเชื่อถือในสินค้า หรือการถูกดึงเข้าร่วมในโปรแกรมฉ้อโกงต่างๆโดยที่ไม่รู้ตัว ซึ่งส่งผลให้แฟนคลับและผู้ติดตามที่ศรัทธาในตัวของคนดังนั้นอาจตกเป็นเหยื่อโดยไม่ตั้งใจ
มิติต่อมาคือ…การใช้ “สื่อ” เพื่อขยายการเข้าถึง
ในยุคที่สื่อเป็นเครื่องมือที่ทำให้การเข้าถึงข้อมูลรวดเร็ว…ได้กว้างขวางมากขึ้น เมื่อสื่อกระจายข่าวสาร หรือโปรโมตสิ่งใด ผู้คนจำนวนมากสามารถเห็นและรับรู้ได้ในเวลาอันสั้น
แน่นอนว่า “การหลอกลวง” หลายครั้งจึงอาศัยการใช้สื่อ เพื่อเข้าถึงเหยื่อในวงกว้าง สร้างกระแสให้คนสนใจ กระทั่งอาจนำไปสู่การหลอกลวงหรือฉ้อโกงได้
เชื่อมโยงไปถึง…การโฆษณาผ่านสื่อโซเชียล น่าสนใจด้วยว่าปัจจุบันการโฆษณาบนสื่อโซเชียล เช่น Instagram, Facebook, TikTok และ YouTube กลายเป็นเรื่องธรรมดา
“การโฆษณาที่ไม่โปร่งใสหรือขาดการตรวจสอบที่เพียงพอ อาจกลายเป็นช่องทางให้การหลอกลวงผ่านการแนะนำสินค้า…บริการโดยคนดังเกิดขึ้นได้ โดยเฉพาะหากมีผู้ติดตามมาก คนร้ายมักใช้ช่องทางนี้ดึงความสนใจจากกลุ่มเป้าหมายที่เชื่อฟังหรือศรัทธาคนดังคนนั้น”
เมื่อคนดังเข้ามามีส่วนร่วมในคดี…หลอกลวงหรือฉ้อโกง อาจทำให้ผู้บริโภคเสียความเชื่อมั่นต่อสื่อและคนดังทั่วไป
ส่งผลต่อความไว้วางใจในการใช้สื่อออนไลน์ คนทั่วไปอาจระมัด ระวังการตัดสินใจทางการเงินมากขึ้น เมื่อเห็นเหตุการณ์ดังกล่าว เหล่านี้อยู่บ่อยครั้ง
อีกมิติที่น่าสนใจก็คือการบิดเบือนข้อมูลและข่าวปลอม บางครั้งคนดังอาจตกเป็นเหยื่อของข่าวปลอมหรือการหลอกลวงจากบุคคลอื่นโดยไม่รู้ตัว เมื่อคนดังแชร์ข้อมูลที่ไม่ได้ตรวจสอบหรือถูกแอบอ้างในทางที่ผิด สื่อก็อาจกระจายข่าวสารนี้ออกไป ทำให้ข้อมูลที่บิดเบือนหรือฉ้อโกงเข้าถึงผู้คนได้ง่ายเช่นกัน
ในยุคที่ข่าวสารสื่อและแชร์ได้ฉับไวเช่นนี้ “ผู้รับสาร” คงต้องระมัดระวัง ตรวจสอบข้อมูลก่อนตัดสินใจในทุกๆเรื่องอย่างรอบคอบ รอบด้าน
ทุกวันนี้…ในโลกดิจิทัลที่เต็มไปด้วยสื่อหลายรูปแบบ ไม่ว่าจะเป็นโทรทัศน์ วิทยุ เว็บไซต์ โดยเฉพาะ “สื่อโซเชียลมีเดีย” ที่เชื่อมต่อทุกคนทั่วโลกเข้าหากัน การแพร่กระจายข้อมูล เป็นไปได้อย่างรวดเร็วและกว้างขวาง ย่อมเปิดโอกาสให้การหลอกลวง และฉ้อโกงสามารถเข้าถึงผู้บริโภคจำนวนมากได้ง่ายขึ้น
เพียงแค่มีการโพสต์วิดีโอ รูปภาพจากคนดัง…สื่อก็ สามารถขยายการรับรู้ไปสู่คนจำนวนมากได้ในเวลาไม่นาน
อีกด้านหนึ่ง สื่อที่ขาดการตรวจสอบข้อมูลที่เข้มงวดอาจทำให้ข่าวลวงหรือการแอบอ้างได้รับการเผยแพร่ไปสู่ผู้คนอย่างง่ายดาย การกระจายข่าวหรือเรื่องราวที่ไม่ได้รับการตรวจสอบอาจทำให้ประชาชนรับข้อมูลผิดๆ ส่งผลให้กลายเป็นเหยื่อโดยไม่รู้ตัว
เหรียญด้านมืด…สื่อผ่านกลยุทธ์การตลาดสวยหรู ภาพลักษณ์ดูดีจากบรรดา “คนดัง”…ขั้วลบที่สร้างปัญหา ทำให้สังคมวันนี้เปราะบางมากขึ้น…นำไปสู่การระแวง ส่งผลเสียต่อความไว้วางใจ แนะนำได้เพียงว่า “ผู้คน” จะต้อง “เสพสื่อ” อย่างมีสติ…“เชื่อในสิ่งที่เฮ็ด เฮ็ดในสิ่งที่เชื่อ”
คลิกอ่านคอลัมน์ “สกู๊ปหน้า 1” เพิ่มเติม
แหล่งข่าว: ไทยรัฐ