
เปิดตัว “ตู้ห่วงใย” บริการ “การแพทย์ทางไกล” เชิงรุกในชุมชนภายใต้นโยบาย “30 บาทรักษาทุกที่” ที่ชุมชนเคหสถานเจริญชัยนิมิตใหม่ แขวงลาดยาว เขตจตุจักร กรุงเทพฯ กันไปแล้ว… เมื่อต้นเดือนพฤศจิกายนที่ผ่านมา
“ตู้ห่วงใย” จะมีลักษณะเป็น “สถานีสุขภาพ (Health Station)” ภายในเครื่องจะติดตั้งอุปกรณ์สื่อสาร อุปกรณ์วัดสัญญาณชีพต่างๆ ในการตรวจค่าสุขภาพพื้นฐานที่แม่นยำและรับผลการตรวจได้ทันที ที่สำคัญยังสามารถพบแพทย์ผ่านระบบวิดีโอคอล โดยในผู้ป่วยที่ต้องรับยา ยังสามารถเลือกรับยาที่บ้าน…
หรือ…ไปรับที่ร้านยาที่เข้าร่วมโครงการ 30 บาทรักษาทุกที่ ด้วยตัวเองก็ได้
น.ส.ชัชฎา อภิชาสุทธาสกุล ประธานคณะกรรมการบริหาร บริษัท ทัช เทคโนโลยี จำกัด ผู้ให้บริการ “ตู้ห่วงใย” อธิบายว่า นวัตกรรมตู้ห่วงใยหรือที่ในโซเชียลมีเดียรู้จักในชื่อ “หมอตู้” เป็น “Advance Telemedicine” ที่มีการนำอุปกรณ์ IoT (Internet of Things) มาเชื่อมกับแพลตฟอร์ม
และ…มีการใช้ระบบปัญญาประดิษฐ์ (AI) ในการประเมินความเสี่ยงสุขภาพของผู้รับบริการแต่ละคน…ผู้มีอาการเจ็บป่วยเล็กน้อย 42 กลุ่มอาการสามารถมารับบริการและพบแพทย์ออนไลน์ได้
“เราคิดว่าการติดตามอาการโรคไม่ติดต่อเรื้อรัง (NCDs) ก็เป็นเรื่องสำคัญ ดังนั้นผู้ป่วยโรคเรื้อรังเองก็สามารถเข้ามาใช้บริการตู้ห่วงใยเพื่อวัดความดัน วัดออกซิเจนในร่างกายได้เช่นกัน ซึ่งจะช่วยให้ประชาชนมีความรู้ด้านสุขภาพ สามารถปรับพฤติกรรมให้เหมาะสมได้”
ย้ำว่า…การดูแลอาการเจ็บป่วยเล็กน้อยและลดผู้ป่วย NCDs จะช่วยลดค่าใช้จ่ายด้านสุขภาพของประเทศไทยได้ถึง 30% ปัจจุบันค่าใช้จ่ายด้านการรักษาของไทยอยู่ที่ 2 แสนล้านบาท ถ้าตู้ห่วงใยสามารถให้บริการได้ครอบคลุมทุกจังหวัด เชื่อว่าจะมีส่วนช่วยลดงบประมาณรายจ่ายด้านสุขภาพลงได้ถึง 6,000 ล้านบาท

นอกจากการให้บริการที่ครอบคลุมและช่วยลดงบประมาณค่าใช้จ่ายของรัฐแล้ว ยังเชื่อว่าการสะสมข้อมูลด้านสุขภาพซึ่งเริ่มจากใน กทม. และขยายไปในทุกจังหวัดในอนาคต จะเป็นการสะสมฐานข้อมูล “Big Data” ด้านสาธารณสุขของไทยที่สามารถนำไปใช้ในการวางแผนนโยบายได้ในอนาคต
กรรณิกา อุดมวัฒนา อาสาสมัครสาธารณสุขกรุงเทพมหานคร (อสส.) ศูนย์บริการสาธารณสุข (ศบส.) 17 ชุมชนประชาร่วมใจ 1 เขตจตุจักร รู้สึกมีอาการปวดแขน เดิมทีก็ตั้งใจไปหาหมออยู่แล้วพอมีตู้ห่วงใยจึงมาลองใช้รู้สึกว่าสะดวก รวดเร็ว…ได้พบคุณหมอผ่านระบบออนไลน์ วินิจฉัยสั่งจ่ายยาให้โดยเลือกจะรับยาที่บ้าน
วิเชียร แสงพลอย ประธานชุมชนเคหสถานเจริญชัยนิมิตใหม่ บอกว่า บ่อยครั้งที่มีคนในชุมชนมักเกิดภาวะเจ็บป่วยและมีความจำเป็นต้องได้รับการรักษาพยาบาลหรือพบแพทย์ หากต้องการใช้สิทธิบัตรทอง จะต้องเดินทางไปที่สถานพยาบาลในระบบเท่านั้น ทำให้ไม่สะดวก แม้ว่าจะเจ็บป่วยด้วยโรคทั่วไปก็ตาม
“การติดตั้งตู้ห่วงใยทำให้ชาวชุมชนสามารถเข้ารับบริการรักษาพยาบาลสิทธิบัตรทองได้ง่ายและสะดวกยิ่งขึ้น ทั้งยังช่วยลดค่าใช้จ่ายต่างๆ ทั้งค่ารักษา ค่ายา ค่าเดินทาง ที่สำคัญ… ช่วยเพิ่มคุณภาพชีวิตที่ดีให้กับชาวชุมชน”
เกียรติศักดิ์ มีสมพร ประธานสหกรณ์เคหสถานเจริญชัยนิมิตใหม่ ย้ำว่า ที่นี่เรามีคนในชุมชนที่ใช้สิทธิบัตรทอง 1,043 คน ซึ่งจะได้รับประโยชน์จากนวัตกรรมตู้ห่วงใยนี้รวมถึงคนที่อยู่ละแวกใกล้เคียง ช่วยให้ไม่ต้องเดินทางและไม่ต้องเสียเวลารอคอยเข้ารับบริการที่สถานพยาบาล
หากเป็นไปได้อยากให้เพิ่มโอกาสให้ประชาชนทุกสิทธิสามารถเข้ารับบริการที่ตู้ห่วงใยนี้ได้
บริการนวัตกรรมตู้ห่วงใยนี้เป็นเรื่องที่ดีและมีประโยชน์อย่างยิ่ง เพราะช่วยให้ประชาชนเข้ารับการรักษา…ตรวจวินิจฉัยกับแพทย์ที่มีคุณภาพและมาตรฐาน ผ่านระบบวิดีโอคอลได้อย่างสะดวก รวดเร็ว…ใกล้บ้านโดยไม่ต้องเสียค่าใช้จ่าย วันนี้…ครอบคลุมถึง 42 กลุ่มโรค พร้อมบริการจัดส่งยาถึงบ้าน

นอกจากนี้ยังเป็นผลดีต่อ “ระบบสุขภาพ” โดยรวม ช่วยลดความแออัดในโรงพยาบาล สอดคล้องกับเป้าหมายรัฐบาล 30 บาทรักษาทุกที่
“ตู้ห่วงใย” ใช้พื้นที่ในการติดตั้งไม่เกิน 5 ตารางเมตรโดยประมาณ ภายในตู้จะมีระบบการตรวจสุขภาพและตรวจสัญญาณชีพ การชั่งน้ำหนัก วัดส่วนสูง วัดอุณหภูมิ ค่าออกซิเจนในเลือดและความดันโลหิต พร้อมระบบการปรึกษาแพทย์ออนไลน์ผ่านการวิดีโอคอล พร้อมข้อมูลค่าสุขภาพเบื้องต้น
สมศักดิ์ เทพสุทิน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) บอกว่า นี่คือหนึ่งในนวัตกรรมภายใต้ 30 บาทรักษาทุกที่ ผ่านความร่วมมือกับบริษัท ทัช เทคโนโลยี จำกัด เพื่อดูแลประชาชนผู้ใช้สิทธิหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ ให้เข้าถึงสิทธิและการรักษาพยาบาลโรคทั่วไป
“ที่ผ่านมาเราได้เปิดให้บริการตู้ห่วงใยจุดแรกในชุมชนสหกรณ์เคหสถานเจริญชัยนิมิตใหม่แล้ว และจะติดตามประเมินผล หากได้รับการตอบรับบริการก็จะขยายให้ครอบคลุมชุมชนต่างๆ ครบทั้ง 50 เขตใน กทม. เพื่อให้ผู้ที่อาศัยอยู่ในกรุงเทพฯ แม้เป็นคนต่างจังหวัด…ก็นำบัตรประชาชนใบเดียวมาใช้สิทธิที่ตู้ห่วงใยใกล้บ้านได้”
“ตู้ห่วงใย” รองรับให้บริการได้ 72 คนต่อวัน หรือให้บริการเฉลี่ย 6 คนต่อชั่วโมง

นพ.จเด็จ ธรรมธัชอารี เลขาธิการสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) เสริมว่า ระบบบริการของตู้ห่วงใยมีความคล้ายคลึงกับระบบการแพทย์ทางไกลเพียงแต่จากที่ต้องใช้สมาร์ทโฟน เป็นการเข้ารับบริการที่ตู้ห่วงใยแทน ทำให้ประชาชนสิทธิบัตรทอง ที่ไม่มีอุปกรณ์เทคโนโลยี ใช้สิทธิเข้ารับบริการได้
อัปเดตทิ้งท้าย “ตู้ห่วงใย” นอกจากจุดบริการที่ชุมชนเคหสถานเจริญชัยนิมิตใหม่แล้ว หลังจากนี้จะขยายการติดตั้งเพิ่มเติมที่…สถานีกลางบางซื่อ โครงการเคหะชุมชนดินแดง 1, 2 ในพื้นที่แยกประชาสงเคราะห์ เขตห้วยขวาง ต่อไป
คลิกอ่านคอลัมน์ “สกู๊ปหน้า 1” เพิ่มเติม
แหล่งข่าว: ไทยรัฐ