บนโต๊ะทำงานที่บ้านผมมีหนังสือเล่มหนาเตอะถึง 629 หน้าวางอยู่เล่มหนึ่ง ตั้งชื่อไว้บนหน้าปกว่า “ราตรีประดับดาว” โดย “วิษณุ เครืองาม”

ส่งถึงผมทางไปรษณีย์มาที่หนังสือพิมพ์ไทยรัฐหลายวันแล้ว พอดีผมเข้าไปประชุมกับน้องๆที่กองบรรณาธิการเมื่อวันอังคาร จึงขนกลับบ้าน ตั้งใจว่าจะต้องพยายามอ่านให้จบ

ดังที่ทราบกันดีอยู่แล้วว่า ดร.วิษณุ เครืองาม ไม่เพียงแต่จะ “พูดเก่ง” สามารถพูดจาปราศรัยได้อย่างยอดเยี่ยม ทำเรื่องยากให้เป็นเรื่องง่าย อธิบายได้อย่างฉาดฉานจนได้รับฉายาว่าเป็น “นักปาฐกถา” ระดับเดี่ยวมือหนึ่งของประเทศไทยเราเท่านั้น

ยังได้ชื่อว่า “เขียนเก่ง” เขียนได้ทั้งเรื่องสั้นเรื่องยาวไปจนถึง “บทความ” ตั้งแต่อาหารการกินไปจนถึงการบันทึกเรื่องราวทางการเมืองต่างๆ ชนิดอ่านสนุกวางไม่ลง…ตีพิมพ์มาแล้วหลายเล่ม

ที่สำคัญยังเขียน “นวนิยาย” ได้อย่างน่าอ่านอีกด้วย โดยเฉพาะนวนิยายอิงประวัติศาสตร์ไทยเรื่อง “ข้ามสมุทร” นวนิยายที่เชื่อมยุคระหว่างปัจจุบันสู่อดีตสมัยสมเด็จพระนารายณ์มหาราช และ “ชีวิตใหม่ของประเทศ” อิงประวัติศาสตร์ไทยตั้งแต่อยุธยาล่มสลายจนถึงสร้างกรุงใหม่ธนบุรีมาจนถึงรัชกาลที่ 5 แห่งกรุงรัตนโกสินทร์

ดังนั้น พอเห็นหนังสือหนาเตอะเล่มใหม่ ขึ้นปกว่า “ราตรีประดับดาว” ผมจึงรีบพลิกอ่านคร่าวๆก่อนทันที พบว่าเป็นนวนิยายย้อนยุคอิงประวัติศาสตร์เช่นเคย แต่ชุดนี้จะย้อนไปสู่ยุค พ.ศ. “2475” หรือยุคเปลี่ยนแปลงการปกครองจากระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์มาสู่ระบอบประชาธิปไตย อันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุขนั่นเอง

ถือเป็นนิยายที่อิงเหตุการณ์ใกล้ตัวคนรุ่นเราๆมากที่สุด

เนื่องจากช่วงนี้ผมมี “งานเข้า” อยู่พอสมควร โดยเฉพาะงานสนุกสนานบันเทิงต่างๆ เช่น งานเลี้ยงรุ่น งานเทศกาลโน่นนี่ ประดังเข้ามาเต็มเอี้ยด

ทำให้แทบไม่มีเวลาอ่านหนังสืออะไรเลย เพิ่งจะเปิดอ่านได้ประมาณ 180 หน้าจาก 600 กว่าหน้า เมื่อวันอาทิตย์ที่แล้วนี่แหละครับ

อ่านปุ๊บก็รีบเอามาเขียนให้ทันที เพื่อให้แฟนๆของ ดร.วิษณุได้ทราบว่าหนังสือเล่มใหม่ของท่านวางตลาดแล้ว…จะได้ไปซื้อหามานั่งอ่านไปพร้อมๆกับผม…ว่างั้นเถอะ

นวนิยายของอาจารย์เรื่องนี้เริ่มขึ้นที่ พระตะบอง เมื่อเดือนกันยายน พ.ศ.2484 จังหวัดหนึ่งของกัมพูชาในปัจจุบัน แต่เคยกลับมาเป็นของไทยอย่างสั้นๆอีกครั้งใน พ.ศ.ดังกล่าว

เรื่องราวไม่เพียงแต่จะเป็นตัวละครในยุค 2484 เท่านั้น ยังย้อนยุคกลับไปอีกสู่ พ.ศ.2475 หรือในรัชสมัยของรัชกาลที่ 7 บรรยายเหตุการณ์ตั้งแต่พิธีเปิด สะพานพระพุทธยอดฟ้า (6 เมษายน 2475) มาจนถึงวันที่ 24 มิถุนายนของปีเดียวกัน

ขณะเดียวกัน ก็ยังย้อนกลับไปอีกสู่ยุคก่อนหน้านั้น ว่าด้วย “3 ป.” แห่งประวัติศาสตร์ อันได้แก่ ป.ปรีดี พนมยงค์ ป.แปลก (ขีตตะ สังคะ) พิบูลสงคราม และ ป.ประยูร ภมรมนตรี 3 นักเรียนนอกฝรั่งเศส ที่ไปเจอกัน ณ กรุงปารีส และมีนัดหมายสำคัญเมื่อ 5 กุมภาพันธ์ พ.ศ.2469 ก่อนกลับประเทศไทย

เป็นที่มาของเหตุการณ์ “วันศุกร์ที่ 24 มิถุนายน พุทธศักราช 2475 วันแรม 6 คํ่า ปีวอก จุลศักราช 1294 จัตวาศก”…วันที่ทำให้ประเทศไทยของเรา ไม่เหมือนเดิม นับแต่นั้น

ผมไม่ทราบว่าหนังสือเล่มนี้จะมีวางจำหน่ายที่ใดบ้าง แต่ก็เดาว่าน่าจะวางขายตามร้านหนังสือดังๆต่างๆเรียบร้อยแล้ว

ดร.วิษณุเขียนไว้ในคำนำว่า ท่านมอบหนังสือเล่มนี้ให้ สถาบันพระปกเกล้า รับไปดำเนินการ และมอบรายได้ทั้งหมดให้แก่ สถาบันพระปกเกล้า…ก็ลองแวะไปที่ สถาบันพระปกเกล้า ศูนย์ราชการเฉลิมพระเกียรติ 80 พรรษาฯ หรือจะลองเข้าเว็บ www.kpi.ac.th อาจมีข้อมูลละเอียดมากกว่านี้

ท่านที่สนใจก็ลองไปหาอ่านกันดูนะครับ…อ่านแล้วก็โปรดทำใจเหมือนที่ ดร.วิษณุ เครืองาม เขียนไว้ใน “คำนำ” นั่นแหละครับ…ถึงอย่างไรนิยายก็คือนิยาย…อ่านให้เพลิดเพลินเหมือนอ่านนิยายนะครับ อย่าไปคิดอะไรมาก.

“ซูม”

คลิกอ่านคอลัมน์ “เหะหะพาที” เพิ่มเติม