สังคมไทยผ่านมาหลายยุคสมัย “การทุจริตสอบเข้ารับราชการ” ยังเกิดขึ้นอยู่เหมือนเดิม แถมกลโกงก็แยบยลซับซ้อนตรวจสอบยาก ทำให้คนมีความรู้พลาดโอกาสได้แค่ข้าราชการ ที่ทุจริตเข้ามาทำงาน

แม้ที่ผ่านมา “กรรมการจัดสอบจะตรวจสอบเข้มงวด” แต่กลับมีเกลือเป็นหนอนเปิดช่องให้โกงกันได้จนถึงปัจจุบันนี้ ทำให้ช่วง 10 ปีมานี้การคอร์รัปชันเพิ่มสูงรุนแรงมากขึ้น แล้วที่น่ากลัวคือ “โกงกันแบบซึ่งหน้า” เหมือนเป็นเรื่องทำถูกระเบียบถูกขั้นตอน แต่ เบื้องหลังมีการล็อกสเปก-ฮั้วกัน จนเป็นรากเน่าในระบบที่ไม่อาจแก้ได้

ดร.มานะ นิมิตรมงคล เลขาธิการองค์กรต่อต้านคอร์รัปชัน (ประเทศไทย)
ดร.มานะ นิมิตรมงคล เลขาธิการองค์กรต่อต้านคอร์รัปชัน (ประเทศไทย)

กระทั่งนำมาซึ่ง “พ่อค้า นักธุรกิจ และนักลงทุนเข้าไปมีส่วนร่วมทุจริต” จนทำให้การสมยอมทำได้ง่ายแล้วเงินสินบนไม่ว่าจะสายงานใดก็มีเส้นทางส่งต่อเป็นทอดๆ “จบที่ผู้ใหญ่บางคน” ซึ่งบังคับให้ข้าราชการระดับล่างส่งส่วยหรือไม่อย่างไร ดร.มานะ นิมิตรมงคล เลขาธิการองค์กรต่อต้านคอร์รัปชัน (ประเทศไทย) บอกว่า

การคอร์รัปชันหาก “หยุดกลไกลระดับบนได้การทุจริตก็จะลดลง” แล้วกรณีครูมีเส้นสายซื้อขายตำแหน่งเข้ารับราชการ หรือพนักงานราชการก็จะไม่เกิดขึ้น แต่เมื่อวันนี้หยุดไม่ได้เด็กฝากก็ยังมีให้เห็นกันไปเรื่อยๆ

ถ้าหากย้อนดูในสมัยก่อน “การสอบข้าราชการครู” โรงเรียนมักจะเป็นผู้จัดสอบแข่งขันคัดเลือกเอง กระทั่งมาปรากฏ “การล็อกตัวผู้เข้ารับราชการมากขึ้นบ่อยๆ” กระทรวงศึกษาธิการจึงต้องเร่งแก้ไขปัญหานำมาสู่การปรับเปลี่ยนให้ สนง.คณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) เป็นผู้ทำหน้าที่จัดการสอบคัดเลือกแทน

สุดท้ายก็มีข้อร้องเรียนล็อกตำแหน่งเช่นเดิมตั้งแต่เตรียมกรรมการออกข้อสอบ กำหนดล็อกตำราให้ผู้เข้าโครงการเน้นอ่าน ผ่านเข้าขั้นตอนสัมภาษณ์ก็ใช้กรรมการกลุ่มเดิม “เด็กกลุ่มนี้” เมื่อเข้าทำงานมักไม่มี ปากเสียงกลัวเสียตำแหน่ง โดยเฉพาะลูกจ้างในสังกัดท้องถิ่นที่มี
ข้อร้องเรียนก่อนหมดสัญญา ผู้ใหญ่จะเรียกรับเงินแลกกับการต่อสัญญา

แล้วปัจจุบัน “การล็อกตำแหน่งครูและลูกจ้าง” ก็ยังมีข่าวการ ร้องเรียนทำกันได้ง่ายอยู่เหมือนเดิม

ถัดมาหากเป็น “ทุจริตสอบเข้ารับราชการอื่น” ในช่วงหลังมานี้ได้รับร้องเรียนน้อยลง ส่วนหนึ่งมาจาก “สนง.ก.พ.” ออกกฎเกณฑ์ระเบียบการสอบชัดเจน โดยคนจะเข้ารับราชการต้องสอบ ภาค ก.ไปสู่ภาค ข. และภาค ค.

แต่ก็มาเกิดปัญหาตรง “ระบบติวสอบ” โดยเฉพาะการสอบทหาร ตำรวจที่มีข้อร้องเรียนมาก กรณีติวสอบถูกที่จ่ายเงินเข้าโครงการจะได้แนวเนื้อหาข้อสอบกลับไปอ่านมีโอกาสสอบผ่านสูง และบางแห่งหากจ่ายเงินมากขึ้นก็จะรู้ข้อสอบจากคนในร่วมล็อกเนื้อหาไว้ก่อนนำกรรมการไปเก็บตัวในโรงแรมออกข้อสอบแจกให้ผู้สมัครนั้น

ทำให้ผู้เข้าโครงการมีโอกาสสอบผ่านมากกว่า “คนทุ่มเทอ่านตำรา” นอกจากนี้ยังมีรูปแบบการโกงข้อสอบโดยตรงที่เป็นข่าวบ่อยๆ เช่น คนอื่นสอบแทน หรือใช้อุปกรณ์สื่อสารอิเล็กทรอนิกส์ส่งข้อมูลให้กับผู้สอบ

ตอกย้ำปัจจุบัน “การโกงสอบพนักงานราชการเพิ่มสูงขึ้น” โดยเฉพาะหน่วยงานท้องถิ่นที่ส่วนใหญ่จัดสอบภายในกันเอง ทำให้ระบบควบคุมทำได้ยากเป็นช่องให้นำลูกหลานเข้าทำงานโดยผ่านการสอบพอเป็นพิธี เพราะมีตำแหน่งค่อนข้างเยอะ อย่างตำแหน่งครูแบ่งเป็น 5 สังกัด เช่น 1.ครู สพฐ. 2.ครูอาชีวะสังกัด สนง.อาชีวศึกษา

กลุ่มที่ 3.ครู กทม. 4.ครูเอกชน สังกัด สนง.สช. และ 5.ครูท้องถิ่นสังกัด มท. แต่ละแห่งก็มีทั้งครูอัตราจ้างและพนักงานราชการ 2 ตำแหน่งหลังนี้ “ไม่ใช่ข้าราชการ” แล้วส่วนมากโรงเรียน หรือเขตการศึกษา จะจัดสอบเอง ดังนั้น หากผู้สมัครสอบไปเจอผู้บริหารหน่วยงานเปิดสอบ นั้น “ละโมบโลภมาก” ก็จะต้องเจออะไรหลายอย่างแน่ๆ

เว้นแต่กรณี “รัฐวิสาหกิจ” ส่วนใหญ่จะมีนโยบายโควตาพิเศษแก่ลูกหลานของพนักงาน หรือลูกจ้างเก่าแก่ “เข้าทำงานผ่านโควตา” แม้ว่าเป็นเรื่องที่ไม่ผิดกฎหมายแต่ก็เกิดความไม่เป็นธรรม และไม่สมควรมีระบบนี้ในสังคมไทย เพราะตำแหน่งเหล่านี้ล้วนใช้ทรัพยากรของหลวงควรต้องเปิดให้ประชาชนทั่วไปมีโอกาสเท่าเทียมกัน

เพราะอย่าลืมหาก “หน่วยงานภายใต้การกำกับของภาครัฐ” มีการกำหนดตำแหน่งเฉพาะให้กับคนบางคน ล็อกคน หรือมีการซื้อขายตำแหน่งกันขึ้น สิ่งนี้เป็นการตัดโอกาสคนเก่ง และคนมีความสามารถออกไป กลายเป็นได้คนไม่ฉลาด คนโง่ หรือคนกลุ่มไม่มีความสามารถเข้ามาทำงานในองค์กรแทน

เรื่องสำคัญอีกประการคือ “การวิ่งเต้นโยกย้าย” ไม่ว่าจะเป็น เครือข่ายใด เมื่อเข้ามารับข้าราชการแล้วมักต้องการย้ายไปประจำอยู่ใกล้บ้านจนมีการวิ่งเต้นจ่ายเงินจ่ายทองให้ผู้ใหญ่อนุญาตตามที่ร้องขอนั้นเสมอ

ทั้งยังมีโกงวิทยฐานะที่ไม่ใช่เฉพาะครูแต่ยังเกิดใน “โรงเรียนเพื่อเลื่อนวิทยฐานะแต่ละหน่วยงาน” เพราะบางคนไม่ผ่านหลักสูตรก็จะไม่มีโอกาสเลื่อนตำแหน่งขั้นต่อไปก็ต้องใช้เส้นสายที่พบข้อร้องเรียนเป็นระยะตลอด

“หากมีการวิ่งเต้นซื้อขายตำแหน่งดิ้นรนจ่ายเงินจ่ายทองให้ผู้ใหญ่อยู่ ในวันข้างหน้าเมื่อคนกลุ่มนี้เข้าทำงานมักต้องเรียกรับผลประโยชน์เอาคืนมากกว่าเดิม สุดท้ายกลายเป็นวัฏจักรวงจรทุจริตคอร์รัปชันในประเทศจนเป็นธรรมเนียมที่ทุกคนยอมรับ หากอยากได้ต้องจ่ายต้องซื้อจนวนเวียนคู่สังคมไทยไปอย่างไม่มีวันสิ้นสุด” ดร.มานะว่า

เช่นนี้เสนอให้ “ตรวจสอบความร่ำรวยผิดปกติของข้าราชการผู้ใหญ่” แต่ปัญหาก็มีว่ารัฐบาลชุดปัจจุบันที่ต่อเนื่องมาจากรัฐบาลชุดที่แล้วค่อนข้างแสดงความมุ่งมั่นต่อ “การแก้ปัญหาหยุดการคอร์รัปชันในประเทศน้อยมาก” สังเกตจากกรณีล่าสุดผู้ใหญ่ในรัฐบาลพูดออกสื่อให้ความสำคัญเรื่องเร่งด่วนมากกว่าด้วยซ้ำ

แล้วหากเป็นกรณี “ข้าราชการทุจริต” ก็ให้ส่งเรื่องไปที่ ป.ป.ท. แต่ถ้าเป็นกรณีการทุจริตเกี่ยวกับนักการเมืองก็ส่งเรื่องให้ ป.ป.ช. “สิ่งนี้สะท้อนถึงความไม่เข้าใจต่อการต่อต้านคอร์รัปชันของประเทศ” เพราะการตรวจสอบการคอร์รัปชันไม่สามารถแบ่งความรับผิดชอบเช่นนี้ได้ แต่ควรต้องเป็นหน้าที่ของทุกภาคส่วนช่วยกัน

เมื่อผู้ใหญ่พูดเช่นนั้นย่อมส่งผลให้ “ข้าราชการตีปีกดีใจ” เพราะกระบวนการตรวจสอบของ ป.ป.ช.มักต้องใช้เวลานาน 7-8 ปี เนื่องจากมีข้อร้องเรียนเกี่ยวกับทุจริตคอร์รัปชันทั่วประเทศมากจนล้นมือ ป.ป.ช. แล้วหากหน่วยงานใดปกปิดหลักฐาน หรือไม่ให้ความร่วมมือ สุดท้ายก็อาจทำให้คดีนั้นเงียบหายไปในที่สุดก็ได้

ฉะนั้นเมื่อรัฐบาลส่งเสริม “เศรษฐกิจ” โดยเฉพาะการหารายได้จากกาสิโนถูกกฎหมาย หรือนำธุรกิจใต้ดินขึ้นมาบนดินแล้วเชื่อว่าคนไทยก็ต้องการเห็นเศรษฐกิจในประเทศดีขึ้น แต่หากยังไม่สามารถควบคุมการคอร์รัปชันได้ “สิ่งที่ตั้งหวังไว้อาจล้มเหลว” กลายเป็นเรื่องร้ายให้สังคมไทยในวันข้างหน้าก็ได้…

คลิกอ่านคอลัมน์ “สกู๊ปหน้า 1” เพิ่มเติม