แม่ทัพตำรวจสอบสวนกลางภัยออนไลน์มีแนวโน้มอันตรายมากกว่าปีก่อนเนื่องจากมิจฉาชีพพัฒนาการหลอกลวงหลายรูปแบบให้ประชาชนตกเป็นเหยื่อง่ายขึ้น ด้วยการใช้หลักจิตวิทยาดึงดูดให้เกิดความน่าเชื่อถือสร้างความเสียหายเป็นวงกว้าง ยืนยันตำรวจยังคงมุ่งเน้นตัดวงจรควบคู่กับการประชาสัมพันธ์ให้ความรู้แก่ชาวบ้าน

ภัยออนไลน์แนวโน้มของปีนี้อาจอันตรายมากกว่าแก๊งคอลเซ็นเตอร์ จากตัวเลขสถิติการแจ้งความออนไลน์ระหว่างวันที่ 1 ม.ค.2567-30 ก.ย.2567 มีรับแจ้งทั้งหมด 279,861 คดี มูลค่า ความเสียหายรวม 28,011.97 ล้านบาท 5 อันดับคดี ที่รับแจ้งมากที่สุด แบ่งเป็นหลอกลวงซื้อขายสินค้า หรือบริการไม่มี ลักษณะขบวนการ 123,865 เคส หลอกลวงให้โอนเงิน เพื่อทำงานหารายได้พิเศษ 38,051 เคส หลอกลวงให้กู้เกินอันมีลักษณะฉ้อโกง 25,111 เคส หลอกลวงให้ลงทุนผ่านระบบคอมพิวเตอร์ 19,858 เคส หลอกลวงให้โอนเงินเพื่อรับรางวัล หรือวัตถุประสงค์อื่นๆ 16,744 เคส

สำหรับ 5 อันดับคดีที่มีมูลค่าความเสียหายมากที่สุด เป็นหลอกลวงให้ลงทุนผ่านระบบคอมพิวเตอร์ 10,229 ล้านบาท หลอกลวงให้โอนเงินเพื่อทำงาน หารายได้พิเศษ 4,743 ล้านบาท ข่มขู่ทางโทรศัพท์ให้เกิดความกลัวแล้วหลอกให้โอนเงิน 3,046 ล้านบาท หลอกลวงให้โอนเงินเพื่อรับรางวัล หรือวัตถุประสงค์อื่นๆ 1,970 ล้านบาท และหลอกลวงเกี่ยวกับสินทรัพย์ดิจิทัล 1,612 ล้านบาท

ทั้งนี้ พล.ต.ท.จิรภพ ภูริเดช ผบช.ก. เผยถึง แนวโน้มอาชญากรรมออนไลน์ในปี 2568 จะปรับเปลี่ยน กลวิธีอย่างต่อเนื่อง เนื่องจากประชาชนเริ่มตระหนักและรู้เท่าทันกลโกงแบบเดิมๆ เช่น หลอกผ่านคอล เซ็นเตอร์ ทำให้มิจฉาชีพพัฒนาวิธีการใหม่ๆ เพื่อหลอกลวงเหยื่อ โดยเฉพาะการหลอกลงทุนที่สร้างความเสียหายอย่างมากเป็นวงกว้าง

พล.ต.ท.จิรภพให้เหตุผลที่การหลอกลงทุนมีแนวโน้มเพิ่มขึ้น เพราะผลตอบแทนสูงเป็นแรงจูงใจ ดึงดูดความสนใจของเหยื่อ ทำให้หลายคนหลงเชื่อและตัดสินใจลงทุนไม่ตรวจสอบข้อมูลอย่างรอบคอบ ขณะเดียวกันการนำดาราหรือบุคคลที่มีชื่อเสียงมาเป็นพรีเซนเตอร์หรือผู้สนับสนุนช่วยเพิ่มความน่าเชื่อถือให้กับโครงการการลงทุน ทำให้เหยื่อรู้สึกมั่นใจ และตัดสินใจลงทุนง่ายขึ้น

“มิจฉาชีพมักสร้างภาพลักษณ์ของบริษัท หรือโครงการให้ดูน่าเชื่อถือ เช่น การจัดสัมมนา การแสดง ความหรูหรา หรือการอ้างถึงรางวัลที่ได้รับ เพื่อสร้าง ความไว้วางใจในหมู่เหยื่อ” พล.ต.ท.จิรภพบอกและขยายความว่า ผู้เสียหายที่เป็นเหยื่อจะมีหลากหลายช่วงวัยและหลายอาชีพ มีรายได้และกำลังซื้อสูง มักสนใจโอกาสการลงทุนที่ให้ผลตอบแทนดี ใช้สื่อออนไลน์และแอปพลิเคชันทางการเงินเป็นประจำ ไม่คุ้นเคยกับเทคโนโลยีหรือการตรวจสอบข้อมูลออนไลน์ บางส่วนมีเงินออมสำหรับเกษียณ หรือมรดก ตอบสนองต่อความกลัว เช่น การข่มขู่ทางโทรศัพท์ หลอกให้โอนเงินด้วยข้ออ้างเรื่องหนี้สิน หรือคดีความ การขอให้ติดตั้งแอปพลิเคชันปลอม

ส่วนพวกวัยรุ่นและนักศึกษา พล.ต.ท.จิรภพบอกว่า เป็นเป้าหมายที่มักสนใจการหารายได้เสริม หรือของฟรี ใช้โซเชียลมีเดียและเกมออนไลน์ที่มิจฉาชีพ แฝงตัวอยู่ สรุปแล้วผู้เสียหายส่วนใหญ่ขาดเวลาในการตรวจสอบข้อมูลละเอียดถี่ถ้วน เน้นผลตอบแทนมากกว่าความปลอดภัย มิจฉาชีพจะใช้จิตวิทยาในการ สร้างความโลภ (ผลตอบแทนสูง) หรือความกลัว (การถูกดำเนินคดี) สร้างสถานการณ์เร่งด่วน เช่น โอนเงินภายใน 10 นาที

ถามว่าตำรวจมีวิธีการเตือนภัยสร้างภูมิคุ้มกันชาวบ้านไม่ให้ตกเป็นเหยื่ออย่างไร พล.ต.ท.จิรภพ แสดงความเห็นว่า ตำรวจสอบสวนกลางมีโครงการ ในการทำความเข้าใจและประชาสัมพันธ์ต่อประชาชนอยู่แล้ว ทั้งนี้ ยังมีการทำความตกลงร่วมกับหน่วยงาน อื่นๆ ในการสร้างการรับรู้ เตือนภัย และยังมีนโยบายต่างๆอีก ตั้งแต่รณรงค์สร้างความตระหนักรู้ จัดทำ แคมเปญผ่านสื่อสังคมออนไลน์ เช่น เฟซบุ๊ก ไลน์ และ ติ๊กต่อกเพื่อให้ข้อมูลเกี่ยวกับกลโกงที่มิจฉาชีพใช้ ยกตัวอย่างเคสจริงที่เคยเกิดขึ้นเพื่อสร้างความเข้าใจ เช่น การเล่าเรื่องราวจากผู้เสียหายโดยตรง ผลิตสื่ออินโฟกราฟิก วิดีโอสั้น หรือการ์ตูนแอนิเมชันที่เข้าใจง่าย

แม่ทัพสอบสวนกลางฝากเตือนประชาชนด้วยเทคนิคการป้องกัน เช่น การไม่เปิดลิงก์ที่น่าสงสัย และการตั้งค่าความปลอดภัยในบัญชีธนาคาร ใช้แพลต ฟอร์มแจ้งเตือนภัยของค่ายโทรศัพท์มือถือ ยืนยันตำรวจ สอบสวนกลางได้ทำงานทุกมิติ ทั้งด้านการสืบสวน ปราบปราม ป้องกัน เราตระหนักว่าปัญหาเหล่านี้เป็น ปัญหาระดับชาติ และผู้กระทำความผิดมีทั้งทุนทรัพย์ ความรู้ความสามารถ ที่สำคัญมักจะตั้งฐานปฏิบัติการอยู่นอกประเทศ ทำให้ยากต่อการสืบสวนจับกุม เราจึง มุ่งเน้นไปที่การป้องกันปราบปราม ตัดแข้งตัดขาของ คนร้าย ไม่ให้สามารถใช้อุปกรณ์ เครื่องมือที่ใช้ในการ กระทำความผิดได้ เช่น ซิมการ์ด อินเตอร์เน็ต ตลอดจน บัญชีธนาคาร