เจอความรู้ของผู้รู้ระดับศาสตราจารย์เกียรติคุณ กุสุมา รักษมณี เข้า คนที่รู้แบบเป็ดอย่างผมก็ถึงกับสำลัก วันนี้ลอกความรู้ของท่านใช้เป็นครั้งที่สาม
ในหนังสือหมายเหตุเฟซบุ๊ก กุสุมา 80 หัวข้อเรื่องเจ้าการะเกด… อาจารย์บันทึกไว้เมื่อ 8 เม.ย.2561…ว่า
ขอออกความเห็นต่อยอดจากความคิดเห็นของจุฬิศพงศ์ จุฬารัตน์ และ Pat Hermasuk เรื่องบทร้องเล่นของเก่า “เจ้าการะเกด”
หลายวันมาแล้ว จุฬิศพงศ์บรรยายเรื่องของแขกในสมัยอยุธยา ตอนท้ายยกเพลงนี้ขึ้นมา
“เจ้าการะเกดเอย เจ้าขี่ม้าเทศจะไปท้ายวัง ชักกริชออกมาแกว่ง เอ๋ยว่าจะแทงฝรั่ง เมียห้ามเจ้าก็ไม่ฟัง เจ้าการะเกดเอย”
แล้วทิ้งท้ายด้วยความเห็นว่าเจ้าการะเกดในที่นี้ไม่ใช่ชื่อดอกไม้อย่างแม่หญิงการะเกด แต่มาจากคำภาษาเปอร์เซีย หมายถึงคนตีดาบ ขอบคุณธเนศ เวศร์ภาดา ที่เล่าความจากคำบรรยายให้ฟัง ทำให้หูผึ่งขึ้นมาทันที
รีบไปค้นหาคำเปอร์เซีย และพบว่าเป็นเช่นนั้น
ต่อมา เมื่อวานนี้ ได้อ่านความคิดเห็น ของ Pat Hermasuk กล่าวถึงเจ้าการะเกด โดยพิจารณาจากธรรมเนียมการเหน็บกริชตามแบบเปอร์เซีย การขี่ม้าเทศจากเปอร์เซีย และพวกฝรั่งท้ายวัง เป็นต้น
Pat มีความเห็นว่า “เจ้าการะเกด” เป็นเพลงเก่าในสมัยสมเด็จพระนารายณ์ต่อมาถึงพระเพทราชา
เจ้าการะเกดไม่ใช่คนสามัญ แต่น่าจะเป็นขุนนางที่เป็นวีรบุรุษสำหรับชาวบ้าน แล้ว Pat ก็ออกความเห็นว่าน่าจะหมายถึงหลวงสรศักดิ์ อ่านแล้วขอยกมือให้ก่อน
ในภาษาเปอร์เซียมีคำว่า kariker (การีเกร) มาจากคำว่า การี ตรงกับคำว่าการในภาษาสันสกฤต หมายถึงผู้นำ เปอร์เซียออกเสียงอะ เป็นเอ เช่นนามะ เป็นนาเม
การีเกร แปลว่าผู้ทำการงาน ผู้ทำงานศิลปะ และแปลว่า ช่างตีเหล็ก คนดีดาบ ดังที่จุฬิศพงศ์กล่าวไว้ก็ได้
แต่ในบริบทนี้ น่าจะหมายถึงผู้กระทำการ
นึกถึงท่าทางเจ้าอารมณ์ หุนหันพลันแล่นของหลวงสรศักดิ์ แน่ล่ะ ส่วนหนึ่งมาจากบทละครบุพเพสันนิวาส
และอีกบางส่วนจากคำบอกเล่าในประวัติศาสตร์ แล้วเข้าใจ “ผู้กระทำการ” คนนี้ได้ที่ว่า (ไม่ว่าใครแม้แต่) เมียห้ามเจ้าก็ไม่ฟัง
บันทึกอาจารย์กุสุมาจบแค่นี้ ท่านเขียนแบบรู้ๆกันอยู่ในหมู่ผู้รู้ของท่าน…และขอเติมเผื่อบางคนที่ไม่รู้ได้รู้ว่าหลวงสรศักดิ์ ที่ท่านเขียนก็คือ “พระเจ้าเสือ” พระเจ้าแผ่นดินองค์ต่อจากสมเด็จพระเพทราชา
ความรู้ใหม่ เจ้าการะเกด ในเพลงเก่า…ที่เคยเข้าใจว่าการะเกด เป็นชื่อดอกไม้…ผสมด้วยภาพแม่การะเกดในละคร แต่ในภาษาเปอร์เซีย แปลว่าช่างตีเหล็กหรือคนตีดาบ…สำหรับผมหมายถึงระดับอึ้งทึ่ง
แต่ที่ชอบมากคืออาจารย์กุสุมาดูตามศัพท์แล้วตั้งใจให้หมายถึง “ผู้กระทำการ”
แต่ผมกลับนึกถึงความดุเดือดเลือดพล่านของช่วงผลัดแผ่นดินสมเด็จพระนารายณ์ แปลแบบให้คนรุ่นใหม่สะใจก็คือ “ผู้ก่อการ”
และ “ผู้ก่อการ” นั้น ในบางบริบทก็เข้าใจไปถึงการปฏิวัติ การรัฐประหาร…หรือการยึดอำนาจ
ความรู้ใหม่ทำให้ผมได้ “มุก” ใหม่ เวลาจะเขียนว่า ทหารจะขี่รถถังออกมายึดอำนาจ…ผมแค่ร้องเพลงเจ้าการะเกดเอย…ไม่ต้องร้องต่อถึง “เมียห้ามก็ไม่ฟัง” ก็หวังว่าจะเป็นที่เข้าใจ
ส่วนเรื่องจะจริงมากน้อยแค่ไหนอย่างไร และเมื่อไร คงจะต้องวัดจากใจ จากเจ้าการะเกด เขาเอง.
กิเลน ประลองเชิง
คลิกอ่านคอลัมน์ “ชักธงรบ” เพิ่มเติม
แหล่งข่าว: ไทยรัฐ