“เขื่อนเจ้าพระยา” จ่อระบายน้ำเพิ่ม ในอีก 2-3 วัน กระทบกับพื้นที่ท้ายเขื่อน 11 จุด 4 จังหวัด ด้าน ศปช. ยันยังห่างไกลจุดวิกฤติ ไม่ซ้ำรอยปี 54
วันที่ 30 ก.ย. 2567 ผู้สื่อข่าวรายงานสถานการณ์น้ำในพื้นที่ลุ่มน้ำเจ้าพระยา ว่า มีแนวโน้มเพิ่มสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง ขณะที่เขื่อนเจ้าพระยา กุญแจสำคัญในการระบายน้ำสู่พื้นที่ภาคกลาง ยังคงตรึงอัตราการระบายน้ำแตะ 1,900 ลบ.ม./วินาที เป็นวันที่ 3 ต่อเนื่อง แม้ว่าระดับน้ำเหนือเขื่อนจะลดลง แต่บริเวณท้ายเขื่อนที่ทรงตัวอยู่นั้น เริ่มมีน้ำเอ่อล้นขึ้นมาเข้าท่วมไปแล้วในบางพื้นที่
สำหรับปัจจุบัน ที่สถานีวัดน้ำ C.2 อ.เมือง จ.นครสวรรค์ มีปริมาณน้ำไหลผ่านจุดวัดอยู่ที่ 2,014 ลบ.ม./ วินาที เพิ่มจากเมื่อวาน 0.65 ลบ.ม./ วินาที ที่เขื่อนเจ้าพระยา อ.สรรพยา จ.ชัยนาท มีปริมาณน้ำทางด้านเหนือเขื่อนอยู่ที่ 15.60 เมตร/รทก. ระดับน้ำลดลงจากเมื่อวาน 25 ซม. เพื่อสร้างพื้นที่ช่องว่างสำหรับรองรับมวลน้ำเหนือ ส่วนปริมาณน้ำทางด้านท้ายเขื่อนอยู่ที่ 14.19 เมตร/รทก. อัตราคงที่จากเมื่อวาน ระดับน้ำห่างจากตลิ่งอยู่ที่ 2.15 เมตร/รทก. มีอัตราการระบายน้ำอยู่ที่ 1,899 ลบ.ม./วินาที โดยทางกรมชลประทานได้มีการคงอัตราการระบายน้ำดังกล่าว เพื่อป้องกันไม่ให้พื้นที่ลุ่มต่ำทางด้านท้ายน้ำได้รับผลกระทบหนักไปกว่านี้ เพราะการระบายระดับน้ำ ส่งผลให้ที่ลุ่มต่ำได้รับผลกระทบพื้นที่ริมคลองโผงเผง จ.อ่างทอง คลองบางบาล บ้านบางหลวงโดด ต.บางบาล ต.หัวเวียง อ.เสนา ต.ลาดชิด ต.ท่าดินแดง อ.ผักไห่ จ.พระนครศรีอยุธยา ที่ระดับน้ำจะเพิ่มขึ้น
นายจิรายุ ห่วงทรัพย์ ที่ปรึกษาของนายกรัฐมนตรี และโฆษกศูนย์ปฏิบัติการช่วยเหลือผู้ประสบอุทกภัย วาตภัย และดินโคลนถล่ม หรือ ศปช. เผยว่า สถานการณ์น้ำระหว่างปี 2567 เมื่อเทียบกับปี 2554 พบว่า จากการบริหารจัดการน้ำอย่างเป็นระบบ พิจารณาทุกปัจจัยทั้งน้ำฝน น้ำเหนือ และน้ำหนุน ทำให้สถานการณ์น้ำในปี 2567 นี้ ไม่ซ้ำรอยปี 2554 เนื่องจากจำนวนพายุปี 54 มี 5 ลูก ปีนี้มี “ซูลิก” ลูกเดียว ปริมาณฝนสะสมปีนี้ก็น้อยกว่าหลายเท่าตัว การระบายน้ำเหนือ โดยเฉพาะการระบายน้ำผ่านเขื่อนเจ้าพระยา ที่ส่งผลกระทบกับพื้นที่ลุ่มแม่น้ำเจ้าพระยาในปี 2554 มีการระบายน้ำสูงถึง 3,661 ลบ.ม./วินาที ขณะที่การระบายน้ำเขื่อนเจ้าพระยา ณ วันที่ 30 ก.ย.2567 อยู่ที่ 1,899 ลบ.ม./วินาที อีกทั้งความจุลำน้ำยังสามารถรองรับการระบายได้สูงถึงจุดวิกฤติที่ 2,730 ลบ.ม./วินาที ปัจจุบันเขื่อนเจ้าพระยาปล่อยน้ำอยู่ที่ 1,900 ลบ.ม./วินาที
แต่ที่มีความกังวลคือ น้ำเหนือเริ่มเติมเข้ามามากขึ้น ในอีก 2-3 วัน อาจจำเป็นต้องปรับเพิ่มการระบายน้ำเกิน 2,000 ลบ.ม./วินาที ซึ่งอาจจะกระทบกับพื้นที่ท้ายเขื่อน 11 จุด 4 จังหวัด (อ่างทอง พระนครศรีอยุธยา สิงห์บุรี ชัยนาท) ตามที่ได้แจ้งเตือนไปก่อนหน้านี้ แต่ไม่กระทบกับพื้นที่ กรุงเทพมหานคร อย่างแน่นอน เพราะรองรับการปล่อยน้ำได้ถึง 3,000-3,500 ลบ.ม./วินาที
แหล่งข่าว: ไทยรัฐ