“อนุทิน” เผย ก.ต่างประเทศ ชี้แจงพรรคร่วม กรณี MOU 44 อยู่ระหว่างตั้ง คกก.ฝ่ายไทยหลังเปลี่ยนรัฐบาล ย้ำ ไม่มีเรื่องเกาะกูด-เขตแดน มีแต่พื้นที่ทับซ้อนในทะเล หากหาบทสรุปไม่ได้ ก็ต้องเจรจาต่อไปเรื่อยๆ

วันที่ 4 พฤศจิกายน 2567 นายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย ในฐานะหัวหน้าพรรคภูมิใจไทย (ภท.) ให้สัมภาษณ์ที่ทำเนียบรัฐบาล ภายหลังหารือกับแกนนำพรรคร่วมรัฐบาล ว่า มีการหารือเรื่อง MOU 2544 โดยกระทรวงการต่างประเทศมาชี้แจงให้พรรคร่วมรัฐบาลฟัง เป็นการชี้แจงในทางเทคนิค และเล่าให้ฟังว่าจะมีการตั้งคณะกรรมการร่วมด้านเทคนิคฝ่ายไทย เพราะการเปลี่ยนรัฐบาลแต่ละครั้งคณะกรรมการชุดนี้จะสิ้นสุดลงไปด้วย น.ส.แพทองธาร ชินวัตร นายกรัฐมนตรี เพิ่งเข้ามาทำงาน 2 เดือน อยู่ระหว่างการจัดตั้งคณะกรรมการ ซึ่ง MOU 2544 ยังมีผลอยู่

ส่วนกรณีรองปลัดกระทรวงมหาดไทย ลงพื้นที่ จ.ตราด พร้อมสั่งการกับผู้ว่าราชการจังหวัดตราด ให้ทำความเข้าใจกับประชาชนในพื้นที่ เมื่อวันที่ 3 พฤศจิกายน 2567 นั้น นายอนุทิน กล่าวยืนยันว่า เกาะกูดเป็นอำเภอ ถูกยกระดับจากกิ่งอำเภอ ไม่เคยมีช่วงไหนที่มีความสงสัยหรือความใดๆ ก็ตามที่ทำให้เกิดความไม่มั่นใจว่าเกาะกูดเป็นของแผ่นดินอื่น เกาะกูดเป็นแผ่นดินไทย เป็นส่วนหนึ่งของราชอาณาจักรไทย เรื่องนี้ถูกยกเป็นประเด็นขึ้นมาอย่างไรตนไม่ทราบ และเรื่อง MOU 2544 ไม่มีอะไรที่เกี่ยวข้องกับเกาะกูด แต่เป็นการลงนามความตกลงที่จะหาวิธีทางในการพัฒนาพลังงานในอ่าวไทยที่ร่วมกันระหว่างไทยกับกัมพูชา มีกรอบอยู่แค่นี้ ไม่มีกรอบในเรื่องแบ่งเขตแดน

“พูดง่ายๆ MOU 2544 นี้ พูดถึงเรื่องพัฒนาพื้นที่ในน้ำในทะเล ไม่ได้พูดถึงเรื่องพื้นที่ที่เป็นแผ่นดิน ต้องยกเรื่องเกาะกูด เรื่องของเขตแดนออกไปเลย”

ผู้สื่อข่าวถามต่อถึงประเด็นมีการพูดถึงเรื่องทรัพยากรที่อยู่ใต้ทะเล นายอนุทิน กล่าวว่า เขาลากมาเส้นหนึ่ง เราลากมาเส้นหนึ่ง จึงเป็นเหตุที่ทำให้เราต้องมี MOU นี้ ต้องมีคณะกรรมการทั้งสองประเทศมาหาข้อยุติ จะทำอย่างไรให้เส้นที่ต่างคนต่างลากเห็นพ้องด้วยกันทั้งสองฝ่าย ถ้ายังไม่เห็นพ้องต้องเจรจากันต่อไป แต่เขามีช่องที่เปิดไว้เป็นข้อตกลงว่า ส่วนที่ยังไม่เห็นพ้องจะสามารถมาร่วมพัฒนาได้หรือไม่ โดยยึดถือผลประโยชน์เท่ากัน หรือส่วนไหนประเทศใดควรจะได้มากกว่า น้อยกว่า ตรงนี้เป็นเรื่องการเจรจาของคณะกรรมการ

เมื่อถามอีกว่าลักษณะเหมือนกับไม่ต้องแบ่งเขตเป็นผืนเดียวกัน แต่เป็นการตีตารางหมากฮอส สลับกันใช่หรือไม่ นายอนุทิน ตอบว่า ตอนนี้เขาตีมาเส้นหนึ่งตั้งแต่ปี 2515 เราตีไปอีกเส้นหนึ่งตั้งแต่ปี 2516 ซึ่งเขาตีเฉียงมาทางเราเยอะ เราก็ตีลงไปข้างล่าง การตีสองเส้นไม่เท่ากัน ทำให้เกิดพื้นที่ทับซ้อน จึงต้องมาพูดคุยกัน โดยการพูดคุยต้องกำหนดกรอบว่า ต้องมี MOU 2544 เพื่อให้มาคุยว่า ในพื้นที่ทับซ้อนจะหาบทสรุปอย่างไรเท่านั้นเอง ตอนนี้ยังหาบทสรุปไม่ได้ จึงต้องคุยกันต่อไป

ส่วนคำถามว่ารัฐบาลนี้จะหาบทสรุปได้ใช่หรือไม่ นายอนุทิน ตอบว่า มันต้องเป็นการเจรจา ไม่ใช่เรากำหนดฝ่ายเดียว ถ้ารอบแรกเจรจากันไม่ได้ ก็ต้องมีการเจรจารอบต่อๆ ไป เรื่อยๆ และระหว่างเจรจาจะมาดูว่าเรื่องการพัฒนาพื้นที่ร่วมกัน ซึ่งต้องไปพูดเรื่องการสำรวจ หรือการหาผลประโยชน์ตอบแทนทางเศรษฐกิจได้หรือไม่ ได้แล้วจะแบ่งปันผลประโยชน์พื้นที่ตรงนั้นได้อย่างไร สุดท้ายก็ตกไปที่เจรจาจนกว่าจะได้ข้อตกลง.