“อนุทิน” ขอโทษผู้ประสบชัย เตรียมตั้งกรรมการสอบ ผู้ว่าฯ เชียงราย หลังทิ้งพื้นที่ซ้ำ ไม่อยู่แก้น้ำท่วม มาต้อนรับนายกฯ ไม่นานก็บินไปร่วมงานเกษียณที่ กทม. พร้อมติง 2 รองผู้ว่าฯ อัด อัปยศอดสู

วันที่ 29 กันยายน 2567 ผู้สื่อข่าวรายงานว่า จากเหตุการณ์เมื่อวันที่ 24 กันยายน 2567 ที่ผ่านมา นายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย ลงพื้นที่ติดตามสถานการณ์อุทกภัย และติดตามดูแลจัดการสถานการณ์น้ำพื้นที่ จ.เชียงราย ร่วมกับ นายภูมิธรรม เวชยชัย รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม แต่ปรากฏว่า นายพุฒิพงศ์ ศิริมาตย์ ผู้ว่าราชการจังหวัดเชียงราย ไม่อยู่ในพื้นที่ โดยทำหนังสือแจ้งว่าไม่มีเที่ยวบินกลับมา จ.เชียงราย ทำให้ นายอนุทิน ต้องรีบส่ง นายอรรษิษฐ์ สัมพันธรัตน์ อธิบดีกรมการปกครอง ว่าที่ปลัดกระทรวงมหาดไทย ลงไปช่วยประชาชนในพื้นที่

ต่อมาช่วงวันที่ 27-28 กันยายน 2567 น.ส.แพทองธาร ชินวัตร นายกรัฐมนตรี ได้นำคณะรัฐมนตรี (ครม.) ชุดใหญ่ ลงไปช่วยชาวบ้าน จ.เชียงราย จ.เชียงใหม่ ปรากฏว่าผู้ว่าราชการจังหวัดเชียงราย มารับอยู่จุดเดียว ก่อนจะไปปรากฏตัวในพิธีเกษียณราชการที่ กทม.

ทั้งนี้ นายอนุทิน ให้สัมภาษณ์ผ่านทางโทรศัพท์ถึงกรณีดังกล่าวว่า การลงพื้นที่ จ.เชียงราย ของนายกรัฐมนตรีและ ครม.ชุดใหญ่ เมื่อวันที่ 27 กันยายน ผู้ว่าราชการจังหวัดเชียงราย ก็มาอยู่ต้อนรับเพียงไม่นานเพื่อรายงานสถานการณ์ที่เกิดขึ้น ซึ่งนายกรัฐมนตรีก็มาถามตนว่าผู้ว่าราชการจังหวัดเชียงราย กลับไป กทม. แล้ว ได้มาขออนุญาตหรือไม่ ตนก็ได้กราบขอโทษนายกรัฐมนตรีทันที เพราะเขาก็ไม่ได้มาบอกหรือมาขออนุญาตอะไร เป็นสิ่งที่ไม่ควรทำ ตรงนี้เป็นปัญหาเดิมๆ พฤติกรรมเดิมๆ ที่ไม่มีความจำเป็นเร่งด่วนอะไรที่จะต้องออกนอกพื้นที่ เพราะตอนนี้ชาวเชียงรายเดือดร้อนอย่างแสนสาหัส ทั้งน้ำท่วม ดินถล่ม ถือว่าสาหัสมากๆ เท่ากับผู้ว่าราชการจังหวัดเชียงราย ทิ้งงานแล้วให้นายกรัฐมนตรีมาทำแทนใช่หรือไม่ และถ้าหาก นายอรรษิษฐ์ ว่าที่ปลัดกระทรวงมหาดไทย ไม่เข้ามาช่วยในพื้นที่ก็จะไม่สามารถจัดการปัญหาแบบเร่งด่วนได้เลย

“การจะมาอ้างว่าจะเกษียณอายุราชการคงไม่ได้ เพราะคนมหาดไทยลมหายใจคือประชาชน และตรงนี้เป็นปัญหาเดิมๆ พฤติกรรมเดิมๆ ผมจะมีการตั้งคณะกรรมการขึ้นมาสอบสวนถึงความจำเป็นเร่งด่วน เพราะถือเป็นพฤติกรรมซ้ำซากที่ไม่ปฏิบัติงาน ในฐานะเป็นผู้บัญชาการในพื้นที่โดยตรง และทั้งๆ ที่นายกรัฐมนตรีก็อยู่ในพื้นที่ด้วย จึงถือเป็นการกระทำที่อัปยศอดสูของกระทรวงมหาดไทย ในฐานะที่จะต้องบำบัดทุกข์บำรุงสุขให้กับประชาชนอย่างสุดความสามารถ”

นายอนุทิน กล่าวต่อไปว่า ส่วนที่มีการวิจารณ์ว่าเวลารัฐมนตรีลงพื้นที่ต้องมีข้าราชการมารอต้อนรับนั้น ตนอยากบอกว่าเวลานายกรัฐมนตรีลงมาให้ความช่วยเหลือเร่งด่วน ผู้ว่าราชการจังหวัดควรจะต้องมา เพราะเป็นการมาทำงานร่วมกัน ซึ่งกรณี จ.เชียงราย มีเพียงรองผู้ว่าราชการจังหวัด 4 คน แต่ปรากฏว่า มาเพียงคนเดียวคือ นายประเสริฐ จิตต์พลีชีพ ส่วนรองผู้ว่าราชการจังหวัดเชียงรายอีก 1 คน ก็จะเกษียณอายุราชการ ขณะที่อีก 2 คน ไปรายงานตัวเรียนหลักสูตรการป้องกันราชอาณาจักร (วปอ.)

“มันไม่ใช่เวลาที่จะไปด้วยซ้ำ ประชาชนเดือดร้อนขนาดนี้แล้วนายกรัฐมนตรีก็ลงมา มันไม่ใช่เวลา แม้จะต้องสละสิทธิ์เรียน วปอ. ก็ต้องสละสิทธิ์ด้วยซ้ำไป ในขณะที่ตัวผู้ว่าฯ เชียงราย มาร่วมพิธีเกษียณใน กทม. แล้วปล่อยให้ประชาชนอยู่กันด้วยความยากลำบาก ทิ้งให้นายกฯ อยู่ในพื้นที่ ถือว่าไม่ถูกต้อง”

ในช่วงท้าย นายอนุทิน ยังได้ขอฝากผ่านสื่อมวลชนมากราบขอโทษพี่น้องชาวเชียงราย ขอให้มั่นใจว่าตั้งแต่วันที่ 1 ตุลาคม 2567 เป็นต้นไป การทำงานในกระทรวงมหาดไทยจะเป็นไปในทิศทางที่เป็นปึกแผ่น มีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น โดยตนได้สั่งการให้ปลัดกระทรวงมหาดไทยคนใหม่ ให้คำนึงถึงเรื่องภัยจากน้ำท่วมเป็นเรื่องสำคัญสูงสุด.