องุ่นไชน์มัสแคท นำเข้าจากจีน ถูกตั้งคำถามถึงสารปนเปื้อนหลัง “ไทยแพน” ตรวจพบ แต่ อย. ออกมายืนยันว่ากินได้ แต่ต้องล้างให้สะอาด ทีมข่าวพาไปหาต้นตอ พร้อมสะท้อนภาพการล่มสลายของเกษตรกรไทย ที่ถูกผลไม้นำเข้ามาตีตลาด

ก่อนหน้านี้มีข่าวการพบสารปนเปื้อนใน “องุ่นไชน์มัสแคท” ที่นำเข้าจากจีน ซึ่งเครือข่ายเตือนภัยสารเคมีกำจัดศัตรูพืช หรือ “ไทยแพน” ร่วมกับภาคีเครือข่ายออกมาแถลงยืนยันพบสารเคมีตกค้าง ทำให้คนไทยหวาดผวา ล่าสุด อย. ออกมาแถลงว่าองุ่นไชน์มัสแคท “กินได้” แต่ต้องล้างทำความสะอาดให้ถูกต้องตามหลักอนามัย

ภารกิจ SEE TRUE ได้ค้นหาคำตอบว่า เกิดอะไรขึ้นกับเรื่องนี้ ส่งทีมงานบุกไปถึงตลาดเมืองจีน เพื่อดูต้นทางขององุ่นไชน์มัสแคท ที่ไทยเรานำเข้าจากจีนมากที่สุด และพาไปคุยกับเกษตรกรผู้เพาะปลูกองุ่น จนทำให้ได้คำตอบว่า นอกจากอันตรายจากสารพิษตกค้างในองุ่นแล้ว สิ่งที่อันตรายกว่าคือ การล่มสลายของเกษตรไทย ที่กำลังได้รับผลกระทบจาก “ทุนจีน” ที่เข้ามามีอิทธิพลกับตลาดผลไม้ไทย

องุ่นไชน์มัสแคท ปฐมบทสารตกค้าง

ทีมข่าวลงพื้นที่ไปยังตลาดย่านห้วยขวาง พบองุ่นไชน์มัสแคทวางจำหน่ายในท้องตลาด ส่วนใหญ่เป็นสายพันธุ์มาจากประเทศจีน เพราะราคาต้นทุนถูกกว่าที่อื่น แม้มีข่าวเรื่องสารปนเปื้อนองุ่นไชน์มัสแคทในไทย แต่ในจีนก็ยังคงมีองุ่นชนิดนี้วางขายมากมาย เมื่อเปรียบเทียบราคาองุ่นไชน์มัสแคท 3 สัญชาติ พบว่าองุ่นจากญี่ปุ่นมีราคาสูงสุด รองลงมาคือเกาหลีใต้ สุดท้ายคือประเทศจีน

รองศาสตราจารย์ ดร.พีระศักดิ์ ฉายประสาท อาจารย์คณะเกษตรศาสตร์ ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม มหาวิทยาลัยนเรศวร ระบุ องุ่นชนิดนี้ถูกพัฒนาสายพันธุ์โดยสถานีวิจัยองุ่นในประเทศญี่ปุ่น เมื่อปี พ.ศ. 2531 ก่อนขึ้นทะเบียนสายพันธุ์ในปี พ.ศ. 2549 จากนั้นได้รับความนิยมในญี่ปุ่น และแพร่หลายในเกาหลีใต้และจีน

“สารี อ๋องสมหวัง” เลขาธิการสำนักงานสภาองค์กรของผู้บริโภค ให้ความเห็นว่า ทั้งสารคลอไพริฟอส (Chlorpyrifos) และเอ็นดริน อัลดีไฮด์ (Endrin aldehyde) ไม่ควรพบในผักผลไม้ เพราะไทยยกเลิกการใช้สารทั้ง 2 ชนิดไปแล้ว

หากตรวจพบถือเป็นอาหารที่ผิดตามพ.ร.บ.อาหาร พ.ศ. 2522 ซึ่งใน 24 ตัวอย่างที่สุ่มตรวจ มีเพียง 9 ตัวอย่างที่มีฉลาก เพราะปกติอาหารที่นำเข้าต้องมีฉลาก กรณีนี้ถือว่าผิดกฎหมายเกินครึ่ง

ด้าน รศ.ดร.แก้ว กังสดาลอำไพ นักพิษวิทยาทางอาหารและโภชนาการ เล่าว่า การประเมินความเสี่ยงของสารเคมีในผักและผลไม้ ปกติประเมินทีละชนิด ยังไม่เคยมีการประเมินกรณีมีสารเคมีมากกว่า 1 ชนิด ซึ่งกรณีนี้มีสารเคมีหลายชนิด จึงอาจเกิดปฏิสัมพันธ์กันในร่างกาย แต่ที่ผ่านมายังไม่มีการศึกษาประเด็นนี้ในมนุษย์

รองศาสตราจารย์ ดร.วีรชัย พุทธวงศ์ ผู้ช่วยอธิการบดีฝ่ายนวัตกรรมและกิจการเพื่อสังคม มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ยืนยันว่า หากล้างองุ่นไชน์มัสแคทอย่างถูกวิธี สามารถรับประทานได้ วิธีการหลังจากนำองุ่นมาล้างผ่านน้ำ ต้องนำไปล้างด้วยเบกกิ้งโซดา น้ำส้มสายชู เกลือ และด่างทับทิม อย่างใดอย่างหนึ่ง ก่อนล้างด้วยน้ำสะอาด วิธีนี้จะทำให้สารกลุ่มดูดซึมลดน้อยลง ซึ่งร่างกายมนุษย์สามารถที่จะกำจัดออกได้

เกษตรกรผู้ปลูกองุ่นไทยกำลังล่มสลาย

ผลกระทบจากข่าวองุ่นไชน์มัสแคทปนเปื้อน ทำให้พ่อค้าแม่ค้าได้รับความเดือดร้อนขาดทุนย่อยยับ SEE TRUE ได้รับคำตอบจากการลงพื้นที่ ว่าเรื่องนี้ทำให้เกษตรกรชาวสวนองุ่นในไทยได้รับผลกระทบด้วย โดยเกษตรกรบางรายแทบสิ้นอาชีพล้มละลาย เพราะขบวนการนำเข้าผลไม้จากประเทศจีน เข้ามาฮุบแทบทุกธุรกิจในเมืองไทย โดยเฉพาะสินค้าเกษตรกรรม

สวนองุ่นณัฐวดี อ.บางแพ จ.ราชบุรี องุ่นสายพันธุ์ไวท์มะละกายืนต้นเต็มไร่ หลังจากเจ้าของตัดสินใจฟันองุ่นไชน์มัสแคทที่ปลูกอยู่เดิมทิ้งไป เปลี่ยนมาปลูกสายพันธุ์ไวท์มะละกา เพราะไม่สามารถสู้ราคาองุ่นไชน์มัสแคทของทุนจีนได้ อาชีพปลูกองุ่นในไทยจึงอาจถึงคราวล่มสลาย

“วิวัฒน์ บุญมาวาสนาส่ง” เจ้าของสวน ให้นิยามว่าตนเองคือเกษตรกรผู้ปลูกองุ่นรุ่นสุดท้ายของครอบครัว และอาจต้องยุติการทำอาชีพนี้ ความน่ากลัวคือการเข้ามาของกลุ่มทุนจีน

6 ปีก่อนเขาได้สายพันธุ์องุ่นไชน์มัสแคทมาจากประเทศญี่ปุ่น จึงนำมาปลูกราคาที่จำหน่ายในเชิงพาณิชย์ องุ่นไชน์มัสแคทของไทย จะอยู่ที่กิโลกรัมละ 150-200 บาท แต่หลังจากที่องุ่นไชน์มัสแคทของจีนมาตีตลาด และมีระบบบริหารจัดการแบบครบวงจร จึงทำให้ราคาถูกกว่าองุ่นไทย อีกทั้งเกษตรกรไทยต้องแบกรับต้นทุนการผลิตที่สูง

ข้อมูลจากกรมศุลกากร การนำเข้าองุ่นในไทย เดือน ม.ค. – ก.ย. พ.ศ.2567 ไทยนำเข้าองุ่นจำนวน 93,936 ตัน มูลค่า 6,456 ล้านบาท นำเข้าสูงสุดจาก “จีน” 83,900 ตัน คิดเป็น 89% ของการนำเข้าองุ่นทั้งหมด

ส่วนการนำเข้าองุ่นไชน์มัสแคท เดือน ม.ค. – ก.ย. พ.ศ. 2567 จำนวน 142 ตัน คิดเป็น 0.15% ของการนำเข้าองุ่นทั้งหมด มูลค่า 41.61 ล้านบาท ซึ่ง 3 อันดับแรก ประเทศที่ไทยนำเข้า “องุ่นไชน์มัสแคท” ได้แก่ จีน – เกาหลี – ญี่ปุ่น

สิ่งที่เกษตรกรผู้ปลูกองุ่นของไทยคาดหวัง คืออยากให้คนไทยสนับสนุนผลไม้ไทย เพื่อต่อลมหายใจ ให้เกษตรกรของไทย ก่อนเกษตรกรผู้ปลูกองุ่นจะถึงคราวล่มสลาย และคงไม่ใช่แค่องุ่นไชน์มัสแคทที่พ่นพิษใส่เกษตรกรไทย เช่นเดียวกับผลไม้ชนิดอื่น ที่ถูกทุนจีนแทรกแซงกำลังจะตาย

ติดตามปฏิบัติการ “See True” ให้คุณเห็นความจริง เรื่องนี้ ตั้งแต่ 2 – 3 ธ.ค. 2567 ทางไทยรัฐนิวส์โชว์ เวลา 21.00 น.