วิถี “ร่ำสุรา” อาจจะดูว่าเป็นพฤติกรรมเฉพาะกลุ่ม แต่ก็ปฏิเสธไม่ได้ว่า ในสังคมไทย ไม่ว่าจะเป็นชนชั้นไหน มักจะมีสุรามาเป็นตัวเชื่อมระหว่างกัน รวมถึงการใช้สุราในการประกอบพิธีกรรม เซ่นไหว้สิ่งศักดิ์สิทธิ์ โดยคาดว่า สุราชนิดแรกที่คนไทยรู้จักคือ “สุราแช่” ที่ได้จากการหมักข้าวตามกระบวนการธรรมชาติ ทว่ามีข้อจำกัดเพราะไม่สามารถเก็บไว้ได้นาน

ทั้งนี้ ตามหลักฐานในอดีต สมัยพระนารายณ์มหาราช คนไทยรู้จักสุรากลั่น ที่เรียกว่า “เหล้าโรง” แล้ว แต่หลักฐานในบันทึกของ “ลาลูแบร์” อัครราชทูตของพระเจ้าหลุยส์ที่ 14 แห่งฝรั่งเศส ซึ่งเข้ามาทูลพระราชสาส์น ณ ประเทศสยาม ในช่วงปลายรัชสมัยของพระนารายณ์มหาราช ระบุว่า เครื่องดื่มทั่วไปของชาวสยาม คือ น้ำบริสุทธิ์ รองลงมา คือ น้ำชา ส่วนสุรานั้น มีน้อยมาก

ขณะที่จากหลักฐานในประวัติศาสตร์ พบว่า การผลิตและจำหน่ายสุรา กลับมาคึกคักอีกครั้ง ในสมัยสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกฯ มีการสร้างโรงงานบางยี่ขัน โดยนายอากรสุรา รายได้รัฐเพิ่มขึ้นจนถึงสมัยสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว ส่วน “สุราต่างประเทศ” นั้น พบว่ามีการหลั่งไหล เข้ามาในไทย ช่วงปี พ.ศ. 2398 และฝังตัวอยู่ในประเทศไทยจนถึงปัจจุบัน

“เหล้าขาว” สุราชุมชนที่อยู่คู่คนไทย

อย่างที่เกริ่นไว้ตอนต้นว่า สุราชนิดแรกที่คนไทยรู้จักคือ “สุราแช่” ซึ่งตามประกาศกรมสรรพสามิต เรื่อง หลักเกณฑ์ วิธีการและเงื่อนไขในการผลิตสุราและการนำสุราออกจากโรงอุตสาหกรรม เพื่อตรวจวิเคราะห์ในขั้นตอนการผลิต “สุราแช่พื้นเมือง” หมายความว่า สุราแช่ที่ได้จากการหมักวัตถุดิบจำพวกน้ำตาล เช่น กระแช่ หรือน้ำตาลเมา หรือจากวัตถุดิบจำพวกข้าว เช่น อุ น้ำขาว หรือสาโท หากผสมสุรากลั่นต้องมีแอลกอฮอล์ไม่เกินสิบห้าดีกรี

ขณะที่ “สุราแช่ชุมชน” หมายความว่า ไวน์ สปาร์กลิ้งไวน์ สุราแช่ผลไม้ สุราแช่พื้นเมือง และสุราแช่อื่น ที่ผลิตจากโรงอุตสาหกรรมที่ใช้เครื่องจักรที่มีกำลังรวมต่ำกว่าห้าแรงม้า หรือใช้คนงานน้อยกว่าเจ็ดคน ซึ่งมีแรงแอลกอฮอล์และคุณสมบัติตามประกาศ

ส่วน “สุราขาว” หรือ เหล้าขาว หมายความว่า สุรากลั่นที่ปราศจากเครื่องย้อมหรือสิ่งผสมปรุงแต่ง มีแรงแอลกอฮอล์ต่ำกว่าแปดสิบดีกรี ซึ่งนับว่าสูงมาก ถ้าเทียบกับปริมาณแอลกอฮอล์ที่อยู่ในเบียร์ หรือไวน์ ที่มีความเข้มข้นของแอลกอฮอล์อยู่ที่ประมาณ 4-12%

สำหรับสุราชุมชนของไทยที่น่าสนใจ อาทิ

  • สังเวียน (Sangvein) สุพรรณบุรี 
  • ไวต์ชาร์ค (White Shark) ชลบุรี 
  • อัสดง (Assa Dong) น่าน 
  • กลุ่มประชาชื่น น่าน
  • ตำนาน ตราด 
  • เทพนม สาโท หมีด นนทบุรี
  • สยามสาโท นครราชสีมา
  • จันเป๋ง ลำพูน
  • เฮฮา สาโท สุรินทร์ 
  • Cold Cat Brewing สมุทรปราการ
  • ออนซอน (Onson) สกลนคร 
  • Siam Gin กาญจนบุรี
  • แลงมาเซ (Langmaze) เชียงราย 
  • โกษาปาน (Kosapan) นนทบุรี 
  • กิโลสปิริต (Kilo Spirits) กระบี่ 
  • สบายสบ๊าย (Sabye – Sabai) ปราจีนบุรี
  • ข้าวหอม (Kao Hom) ชัยภูมิ 
  • เหม๊าะ น่าน 
  • Siam Gin กาญจนบุรี
  • สาโทเมืองกรุง x Guide Brew
  • บำเรอ เชียงราย
  • NAPA สุพรรณบุรี
  • Phaicraft เชียงใหม่
  • Kilo Spirits กระบี่
  • Takiya Brew สงขลา
  • ฉลองเบย์ ภูเก็ต

สุราชุมชน 1 ชุมชน 1 สรรพสามิตแชมเปี้ยน

คอสุราชุมชน อาจจะเคยได้ยิน รางวัลโครงการ “1 ชุมชน 1 สรรพสามิต แชมเปี้ยน” ซึ่งจัดขึ้นในปี 2567 เป็นปีแรก โดยการริเริ่มของ ดร. เอกนิติ นิติทัณฑ์ประภาศ อธิบดีกรมสรรพสามิต และเจ้าหน้าที่กรมสรรพสามิต เพื่อให้สอดคล้องกับนโยบายรัฐบาลในเรื่องของการขับเคลื่อนเศรษฐกิจชุมชนและเศรษฐกิจสีเขียว ในการสร้างรายได้และมูลค่าเพิ่ม รวมถึงยกระดับภูมิปัญญาไทยไปสู่วัฒนธรรมสร้างสรรค์ เพื่อส่งเสริม Soft Power ของประเทศ ในการยกระดับสินค้า OTOP ให้ตอบสนองความต้องการของผู้บริโภคทั่วโลกด้วยสุราชุมชน พร้อมเพิ่มขีดความสามารถทางการแข่งขัน

อีกทั้งไม่ลืมที่จะให้ความสำคัญกับเรื่องสิ่งแวดล้อม สังคม และธรรมาภิบาล เพื่อสร้างความเข้มแข็งและยั่งยืนให้ชุมชน รวมทั้งยังสนับสนุนผลักดันให้ชุมชนและผู้ประกอบการสามารถเข้าถึงแหล่งทุน แหล่งความรู้ด้านต่าง ๆ ไม่ว่าจะเป็นด้านการตลาด พลังงาน สิ่งแวดล้อม คุณภาพสินค้า และการผลิต

ซึ่งการประกวดในครั้งนี้ มีผู้ประกอบอุตสาหกรรมสุราชุมชนเข้าร่วมประกวดจำนวน 97 แห่ง แบ่งเป็นจากภาคเหนือ 19 แห่ง ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ 22 แห่ง ภาคกลาง 40 แห่ง และภาคใต้ 16 แห่ง โดยมีผู้ผ่านเข้าสู่รอบชิงชนะเลิศ 10 ราย แบ่งเป็น 2 ประเภท ได้แก่ ประเภทสุราแช่ชุมชน และประเภทสุรากลั่นชุมชน

โดยรางวัลชนะเลิศประเภทสุราแช่ชุมชน ได้แก่ หจก.แจ้ซ้อนไวน์เนอร์รี่ 2022 จังหวัดลำปาง และรางวัลประเภทสุรากลั่นชุมชน ได้แก่ วิสาหกิจชุมชนแก่งเสือเต้น จังหวัดแพร่

นอกจากนี้ จากการที่กรมสรรพสามิตได้ดำเนินการปลดล็อกกฎหมายต่าง ๆ อย่างต่อเนื่อง ตามนโยบายของรัฐบาล รวมถึงมาตรการของรัฐบาลในการได้ปรับลดอัตราภาษีสุราแช่พื้นเมือง ประเภทอุ กระแช่ สาโท โดยปรับอัตราภาษีตามมูลค่าจากเดิม 10% เป็น 0% เพื่อลดต้นทุนให้ผู้ประกอบการในการทำธุรกิจ และสร้างขีดความสามารถทางการแข่งขันให้กับผู้ประกอบการได้ส่งผลให้สุราชุมชนเติบโตขึ้นอย่างต่อเนื่อง โดยผู้ประกอบการที่ปฏิบัติตามกฎหมาย และขึ้นทะเบียนอย่างถูกต้องกับกรมสรรพสามิต ต่างก็มีการเติบโตและสร้างรายได้เพิ่มขึ้น

การประกวด “แอลกอฮอล์” ระดับโลก

ขณะที่ในการประกวดเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ระดับโลก มีอยู่หลายเวทีด้วยกัน แบ่งแยกกันไปตามชนิดของเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ ไม่ว่าจะเป็น “AWC Vienna International Wine Challenge” การประกวด “ไวน์” ที่จัดขึ้น ณ กรุงเวียนนา ประเทศออสเตรีย ซึ่งเป็นเวทีที่ได้รับการสนับสนุนจาก EU ในแต่ละปีจะมีไวน์จากทั่วโลกเข้าร่วมการแข่งขันกว่า 1,700 ชนิด โดยการคัดเลือกจะใช้วิธี Blind Tasting หรือ การชิม โดยไม่ทราบยี่ห้อและแหล่งผลิต เพื่อความยุติธรรมในการตัดสิน

ฟากของ “เบียร์” (Beer) ก็ไม่น้อยหน้า แม้ใครจะบอกว่ารสชาติคงไม่ต่างกัน แต่ในระดับโลก มีการประกวด “World Beer Awards” ที่จะมีผู้เชี่ยวชาญในวงการเบียร์มาคัดเลือกเบียร์ที่ดีที่สุดในแต่ละประเภท แบ่งเป็น 8 หมวดหมู่หลัก คือ Dark Beer, Flavored Beer, Lager Beer, Pale Beer, Sour Beer, Speciality Beer, Stout & Porter และ Wheat Beer โดยจะมีแตกย่อยไปอีกในแต่ละสาขา

เช่นเดียวกับ “บรั่นดี” เครื่องดื่มแอลกอฮอล์ชนิดหนึ่ง ที่ได้จากการกลั่นน้ำผลไม้ โดยส่วนใหญ่แล้วมักทำจากองุ่น หรือผลไม้ชนิดอื่นๆ โดยมีต้นกำเนิดมาจากประเทศฝรั่งเศส ก็มีการจัดประกวดเช่นกัน

หันกลับมามอง “สุราขาว” หรือ “เหล้าขาว” เมื่อไรที่จะได้ก้าวเข้าไปอยู่ในเวทีโลกกับเขาบ้าง อะไรคือตัวแปรสำคัญในการยกระดับ เหล้าขาว สามารถหาคำตอบได้ที่ งาน “เมรัยไทยแลนด์” ที่จัดขึ้นระหว่าง 27 พ.ย. – 3 ธ.ค. 67 ที่ Em Glass, Em Yard ชั้น G ห้าง Emsphere ซึ่งจัดให้มีการประกวดสุราชุมชนอย่างเป็นมาตรฐานขึ้น โดยมีผู้เชี่ยวชาญสุราประเภทต่างๆ ที่จะมาร่วมไขข้อสงสัยว่า เหล้าขาวที่ดีเป็นยังไง มาตรฐานของคุณภาพและรสชาติคืออะไร แล้วทำไมการจัดประกวดสุราชุมชนถึงสำคัญต่อการยกระดับสุราไทย