ยกระดับขึ้นแท่นมาตรฐาน อย. “ผลิตภัณฑ์จากโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริ” ตอบโจทย์ความต้องการของตลาด “ด้านอาหารปลอดภัย” เพิ่มช่องทางจัดจำหน่ายขยายตลาดแก่เกษตรกรยั่งยืน

อันเป็นผลงานชิ้นโบแดง “สำนักงาน กปร.และสำนักงาน อย.” ร่วมกันพัฒนาต่อยอดผลผลิต และผลิตภัณฑ์ของศูนย์ศึกษาการพัฒนา ศูนย์สาขา และเกษตรกรขยายผลโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริที่ใช้เวลา 8 เดือนวางแผนดำเนินงานอันจะวางขายในห้างสรรพสินค้า-ทางออนไลน์ สุพร ตรีนรินทร์ เลขาธิการ กปร. บอกว่า

ศูนย์ศึกษาการพัฒนาอันเนื่องมาจากพระราชดำริกระจายอยู่ภูมิภาค 6 แห่ง จัดตั้งขึ้นตามแนวพระราชดำริของพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร เพื่อศึกษา วิจัย ทดลองมาตั้งแต่ปี 2495-2566 มีอยู่ 5,176 โครงการทั้งการเกษตร พัฒนาอาชีพ สาธารณสุข การศึกษา สิ่งแวดล้อม

จวบจนปัจจุบัน “พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว” มีพระราชปณิธานสืบสาน รักษา และต่อยอดเพื่อสร้างประโยชน์ครอบคลุมประชาชน เพิ่มศักยภาพชีวิตอยู่ดีกินดี โดยเฉพาะการพัฒนาแหล่งน้ำปัจจัยหลักการดำรงชีวิตประกอบอาชีพให้คนชนบทช่วยเหลือพึ่งตนเองได้ โดยมีหน่วยงานรัฐหลากหลายเข้ามาบูรณาการร่วมกัน

ปัญหาว่า “บริบทคนในชนบทเปลี่ยนแปลงไปจากเดิม” ด้วยสังคมมีการพัฒนาตามยุคสมัย “เกิดช่องว่างระหว่างวัย” กลายเป็นความเข้าใจคนแต่ละรุ่นต่างกัน โดยเฉพาะคนรุ่นใหญ่กับคนรุ่นเล็กทำให้นำมาสู่ “ค่ายเยาวชนเรียนรู้งานสืบสานพระราชดำริ” ที่นำเยาวชนเข้ามาเรียนรู้เกี่ยวกับงานโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริ

สัมผัสวิถีชีวิตเกษตรกรลงมือปฏิบัติ “นำความรู้ปรับใช้ในชีวิต” หลังร่วมค่ายเสร็จต้องถอดบทเรียนสร้างผลงาน “ส่งประกวดชิงทุน” ทำให้เยาวชนได้สื่อสารกับคนเฒ่าคนแก่ เป็นการเชื่อมโยงอุดช่องว่างระหว่างวัยได้ดี

ปัจจุบันค่ายเยาวชนฯ “ผ่านมารุ่นที่ 14 จำนวน 1,500 คน” เมื่อเรียนจบบางคนนำองค์ความรู้เกษตรนวัตกรรมใหม่ที่ได้จาก “โครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริ” ไปต่อยอดในพื้นที่ทำกินตัวเอง ไม่ต้องเป็นลูกจ้างใคร

ไม่เท่านั้น “โครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริ” ที่อยู่ทุกภูมิภาคก็ยังเปิดนำประชาชน หรือเกษตรกรมาเรียนรู้งานทั้งด้านการปลูกพืช เลี้ยงสัตว์ การแปรรูปผลผลิต และการพัฒนาด้านดิน น้ำ “ไม่มีค่าใช้จ่าย” เพื่อให้นำสิ่งที่ได้รับไปประยุกต์ใช้ในการประกอบอาชีพ และดำเนินชีวิตมากกว่า 1 ล้านคน/ปี

ทำให้เห็นตัวอย่างผลสำเร็จ “เกษตรกร” ที่ได้รับองค์ความรู้การสาธิตจากศูนย์ศึกษา และศูนย์สาขามากมาย แล้วให้เกษตรกรตัวอย่างถ่ายทอดองค์ความรู้ให้บุคคลทั่วไปที่เข้ามาศึกษาเรียนรู้ในพื้นที่ของตัวเองด้วย

สะท้อนการพัฒนาตามแนวพระราชดำริได้อย่างสมบูรณ์ สามารถเผยแพร่ขยายผลถ่ายทอดความรู้เป็นแหล่งศึกษาดูงานให้ผู้อื่นอย่างมีประสิทธิภาพ “เกษตรกร” พัฒนาต่อยอดผลผลิต และผลิตภัณฑ์ออกมามากมาย

แต่ปัญหาว่า “สินค้าแปรรูปผลผลิตเกษตรไม่เป็นที่สนใจจากผู้บริโภค” เพราะไม่มีเครื่องหมาย อย.มีผลต่อความเชื่อมั่นผู้บริโภคน้อยลง ทำให้การตลาดมีปัญหาเรื่องมาตรฐาน และการนำผลิตภัณฑ์ไปเสนอขาย

เรื่องนี้เลยนำหารือกับ “นายกฯเศรษฐา ทวีสิน สมัยดำรงตำแหน่ง” ท่านสั่งให้ สนง.อย.เข้ามาช่วยดูจนเกิดความร่วมมือผลักดันให้ “ผลิตภัณฑ์จากโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริ” ได้จดแจ้งมาตรฐานผลิตภัณฑ์ อย.ในปี 2567 จำนวน 92 รายการ แล้วคาดว่าปี 2568 จะนำผลิตภัณฑ์จดแจ้ง อย.อีก 100 กว่ารายการ

กลายเป็นการเปิดช่องทางการตลาดยิ่งขึ้น “ในการส่งเสริมแปรรูปสินค้าเกษตรของเกษตรกร” เพื่อเพิ่มมูลค่าได้อีกมากมาย ทำให้ชาวบ้านตื่นตัวกับการขึ้นทะเบียน อย.เสมือนเป็นการการันตีว่า “ผลิตภัณฑ์จากโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริ” เป็นสินค้ามาตรฐานความปลอดภัยสร้างความมั่นใจแก่ผู้บริโภคอย่างมาก

ยิ่งกว่านั้นเมื่อ 5-6 ปีที่แล้ว “มูลนิธิทันตนวัตกรรมในพระบรมราชูปถัมภ์” ยังได้ศึกษาวิจัยพัฒนาต่อยอดเกี่ยวกับหญ้าแฝกนำประยุกต์ใช้ประโยชน์ด้านอื่นสู่ “การวิจัยหญ้าแฝกเป็นผลิตภัณฑ์น้ำยาบ้วนปาก” แต่ไม่รู้จะเอาหญ้าแฝกมาจากไหนเลยประสานมา “สนง.กปร.” จึงให้โครงการพัฒนาดอยตุงจัดหาหญ้าแฝก

เพื่อคิดค้นสูตรน้ำยาบ้วนปากต้นแบบส่วนผสมสารสกัดหญ้าแฝกเกษตรอินทรีย์ 100% “จนผลิตในระดับอุตสาหกรรม” ที่ผ่านการตรวจสอบคุณภาพการรับรองมาตรฐาน อย.ทำให้ต่างชาติต่างสนใจกันอย่างมาก

สิ่งเกิดขึ้นเพื่อสนองพระราชปณิธาน “ในหลวงรัชกาลที่ 9” ทรงสนพระทัยเรื่องหญ้าแฝกพระราชทานพระราชดำริให้นำไปใช้ประโยชน์อนุรักษ์ดิน-น้ำตั้งแต่ปี 2534 และได้มีพระราชกระแสทีมทันตแพทย์ประจำพระองค์ว่า “หญ้าแฝกสามารถทำอะไรได้หลายอย่างทันตแพทย์ลองไปคิดดูว่าจะทำอะไรได้บ้าง” ทำให้เกิดโครงการนี้มา

นับเป็นโอกาสที่ดีที่นำหญ้าแฝกไปขยายผลนอกจากใช้ในการแก้ปัญหาดินถล่มช่วยอนุรักษ์ดิน และน้ำแล้วยังสามารถนำประโยชน์จากหญ้าแฝกไปใช้เป็นส่วนผสมที่สามารถช่วยแก้ปัญหาสุขภาพช่องปากได้ด้วย

เช่นนี้ในส่วนตัว “รู้สึกดีใจและภูมิใจ” ที่ได้ทำงานในสำนักงาน กปร.มา 33 ปีตั้งแต่บรรจุเข้ารับราชการใหม่ “เพื่อสนองงานพระราชดำริ” ทำให้ผูกพันทำงานอย่างมีความสุขโดยเฉพาะได้เห็น “รอยยิ้มชาวบ้าน” ในเวลานำโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริเข้าไปให้ความรู้ฝึกอาชีพให้ประชาชนนำไปปรับใช้ในพื้นที่ของตนเอง

ตอกย้ำเป็นพลังแห่งความภาคภูมิใจเพราะในหลวงรัชกาลที่ 9 พระราชดำรัสไว้ว่า “ทำงานกับฉัน ฉันไม่มีอะไรจะให้ นอกจากการมีความสุขร่วมกันในการทำประโยชน์ให้แก่ผู้อื่น” ซึ่งได้ยินมาตั้งแต่เด็กจดจำไว้ในใจตลอดมา ดังนั้นจะขอทำงานสำคัญนี้ด้วยความทุ่มเทตั้งใจสนองงานโครงการพระราชดำริอย่างเต็มความสามารถ

ปีนี้จะเน้นขับเคลื่อน “การพัฒนาป่าไม้” ปลูกป่าเหนืออ่างเก็บน้ำให้คืนความอุดมสมบูรณ์อย่างยั่งยืน “พัฒนาแหล่งน้ำ” ที่เป็นปัจจัยการดำรงชีวิตประกอบอาชีพให้ประชาชนในพื้นที่มีน้ำใช้อย่างเพียงพอ “ทำฝายชะลอน้ำ” ที่กักเก็บน้ำให้ไหลช้า และดักตะกอนไม่ให้ลงอ่างเก็บน้ำ ลดการตื้นเขิน สามารถส่งน้ำให้ประชาชนได้มากยิ่งขึ้น

ส่วนปลายน้ำคือ “ชาวบ้าน” ก็จะส่งเสริมพัฒนาอาชีพเสริมสร้างกระบวนการเรียนรู้แก่เกษตรกรด้านการฝึกอาชีพภาคเกษตรเป็นการเพิ่มรายได้ให้กับเกษตรกรให้มีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้นตามแนวปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง

สิ่งนี้ล้วนเพื่อประโยชน์ต่อ “ประชาชน” ผ่านโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริกว่า 5 พันโครงการ มีเป้าหมายหลักเพื่อสร้างประโยชน์ และความสุข ยกระดับคุณภาพชีวิตของประชาชนชาวไทย…

คลิกอ่านคอลัมน์ “สกู๊ปหน้า 1” เพิ่มเติม