โลกในยุคปัจจุบันมีการเปลี่ยนแปลงไปอย่างรวดเร็ว เทคโนโลยีใหม่ๆถูกนำมาใช้อย่างแพร่หลาย สะท้อนให้เห็นว่าใครมีความคิดสร้างสรรค์ โอกาสที่จะประสบความสำเร็จในโลกยุคเปลี่ยนผ่านนี้ย่อมมีสูง

ทุกๆองค์กรจึงพยายามปรับตัว โดยเฉพาะอย่างยิ่งภาคการศึกษาสายอาชีพที่ต้องก้าวไปให้ทันกับภาคอุตสาหกรรม และความต้องการของตลาดแรงงาน ล่าสุด สำนักงานคณะกรรมการการอาชีวศึกษา (สอศ.) เล็งเห็นโอกาสจากโลกยุคใหม่ จึงเปิดสอนหลักสูตรที่ผสมผสานระหว่างศิลปะดนตรีและเทคโนโลยีสมัยใหม่

โดย นายยศพล เวณุโกเศศ เลขาธิการ คณะกรรมการการอาชีวศึกษา (กอศ.) ได้ขยายภาพให้ “ทีมการศึกษา” เห็นถึงการเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นในครั้งนี้ ว่า “สอศ.เล็งเห็นถึงศักยภาพของการจัดการศึกษาอาชีว ศึกษาที่สอดคล้องกับทิศทางการพัฒนาประเทศตามนโยบายประเทศไทย 4.0 จึงมีการกำหนดวิสัยทัศน์ การผลิตและพัฒนากำลังคนอาชีวศึกษาสมรรถนะสูง นโยบาย หลักคือ “ยกระดับคุณภาพอาชีว ศึกษา (Quality)” โดยมีเป้าหมาย คือ คุณภาพของผู้เรียนอาชีวศึกษาเป็นสำคัญ ภายใต้การขับเคลื่อนศูนย์บริหารเครือข่ายการผลิตและพัฒนากำลังคนอาชีวศึกษา (Center of Vocational Manpower Networking Management : CVM) โดยริเริ่มโครงการพิเศษในสาขาวิชาดนตรีและเทคโนโลยี หลักสูตรนี้ไม่เพียงเปิดโอกาสให้เยาวชนได้พัฒนาทักษะทางดนตรีเท่านั้น แต่ยังเสริมสร้างความรู้ด้านเทคโนโลยีที่จำเป็น ในวงการดนตรีสมัยใหม่ ซึ่งผู้เรียนสามารถเลือกเรียนในระดับประกาศนียบัตรวิชาชีพ (ปวช.) สาขาวิชาอุตสาหกรรมดนตรี หรือระดับประกาศนียบัตรวิชาชีพชั้นสูง (ปวส.) สาขาวิชาดนตรีและเทคโนโลยี นอก จากนี้ยังมีหลักสูตรวิชาชีพระยะ สั้น ประเภทวิชาศิลปกรรม สาขาวิชาดนตรี สำหรับ ผู้ที่ต้องการเพิ่มพูนทักษะเฉพาะทางอีกด้วย ซึ่งผู้เรียนจะได้เรียนรู้หลักการและกระบวนการทำงานในกลุ่มงานพื้นฐานด้านอุตสาหกรรมบันเทิงและดนตรี”

หลายคนคงสงสัยว่าอาชีพเหล่านี้มีรายได้มากน้อยแค่ไหน นักดนตรีมืออาชีพ ในประเทศไทยอาจมีรายได้เฉลี่ยต่อเดือนอยู่ที่ประมาณ 20,000-50,000 บาท ขึ้นอยู่กับความดังและจำนวนครั้งที่แสดง แต่สำหรับศิลปินระดับอินเตอร์เนชันแนล รายได้อาจสูงถึงหลักล้านหรือหลักสิบล้านบาทต่อปี นักประพันธ์เพลง ก็มีโอกาสสร้างรายได้จากค่าลิขสิทธิ์ ผู้ประกอบการธุรกิจดนตรี เช่น ค่ายเพลง หรือผู้จัดการศิลปิน จะมีรายได้จากการขายอัลบั้ม การจัดคอนเสิร์ต การบริหารจัดการศิลปิน รวมถึงสร้างรายได้จากช่องทางอื่นๆ

ส่วนอาชีพอื่นๆในวงการดนตรี เช่น ช่างซ่อมเครื่องดนตรี หรือโปรดิวเซอร์ผู้ควบคุมแสงและเสียง ก็มีรายได้ที่น่าสนใจ โดยเฉพาะอย่างยิ่งโปรดิวเซอร์ที่มีชื่อเสียง อาจได้รับค่าตอบแทนสูงถึงหลักแสนบาทต่อโครงการ นอกจากรายได้ทางตรงแล้ว นักดนตรีและผู้ที่ทำงานในวงการดนตรียังได้รับประโยชน์อื่นๆ เช่น การได้พบปะผู้คนในวงการเดียวกัน ได้เดินทางไปยังสถานที่ต่างๆ และได้สร้างสรรค์ผลงานที่เป็นที่ชื่นชอบของผู้คน

การเติบโตของวงการบันเทิงที่ขยายตัวกันเป็นดอกเห็ดนี่เอง ทำให้ความต้องการบุคลากรในสายงานเหล่านี้เพิ่มขึ้นต่อเนื่องเพื่อตอบโจทย์ของโลกยุคใหม่ สถานศึกษาอาชีวศึกษาจึงเปิดสอน ปวช.สาขาวิชาอุตสาหกรรมดนตรี ปวส.สาขาวิชาดนตรีและเทคโนโลยี และหลักสูตรวิชาชีพระยะสั้น ประเภทวิชาศิลปกรรม สาขาวิชาดนตรี ใน 23 แห่งทั่วประเทศ

จากข้อมูลในปีการศึกษา 2567 ซึ่งเป็นปีแรกของการเปิดสอนหลักสูตรนี้ พบว่ามีนักเรียน นักศึกษาให้ความสนใจเข้าเรียนเป็นจำนวนมาก และคาดว่าจะมีแนวโน้มเพิ่มมากขึ้นในปีการศึกษาต่อไป

นายสุดชาย บุตรแสนลี ผู้อำนวยการวิทยาลัยเทคนิคนครโคราช หนึ่งใน 23 วิทยาลัยที่เปิดสอนสาขา วิชาดนตรีและเทคโนโลยี ได้ตอกย้ำความต้องของบุคลากรในสาขาวิชาเหล่านี้ว่า “วงการบันเทิงยังมีความต้องการแรงงานในด้านนี้อีกนับแสนคน ซึ่งหลายคนอาจจะไม่รู้และมองข้าม แต่ปัจจุบันมีสถาบันการศึกษาผลิตป้อนได้เพียงหลักร้อยคนต่อปี ดังนั้น ผู้ที่เข้ามาเรียนในสาขาวิชาดนตรีและเทคโนโลยีจึงมีโอกาสมีงานทำ 100%”

“ทีมการศึกษา” มองว่าการริเริ่ม โครงการนี้ ไม่เพียงแต่ตอบสนองต่อความต้องการของตลาดแรงงานในอุตสาหกรรมบันเทิงเท่านั้น แต่ยังเปิดโอกาสให้เยาวชนไทยได้พัฒนาความสามารถและความคิดสร้างสรรค์อย่างเต็มที่ สำคัญที่สุดคือได้เรียนรู้เทคโนโลยีที่ทันสมัยและนำมาบูรณาการกับอาชีพหลักด้านต่างๆ ซึ่งถือเป็นทักษะที่จำเป็นในศตวรรษที่ 21

การปรับเปลี่ยนของ สอศ.ครั้งนี้ จึงเป็นอีกก้าวหนึ่งในการผลิตคนให้ตรงกับความ ต้องการของตลาดแรงงานอย่างตรงจุด

นับเป็นการตอบโจทย์โลกใหม่ของการ ศึกษาสายอาชีพอย่างแท้จริง…!!!

ทีมการศึกษา