เหตุ “โรงงานระเบิดสารเคมีรั่ว” มีคำถามสำคัญชวนให้เป็นข้อสงสัย “เบื้องหลังความบกพร่องมาจาก จป.วิชาชีพของโรงงานและกรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงานหรือไม่… ด้วยว่าภายใน 7 วันโรงงานจากจีนระเบิดและสารเคมีรั่ว 2 แห่ง… บกพร่องเรื่องความปลอดภัย?”

อาจารย์สนธิ คชวัฒน์ ผู้ทรงคุณวุฒิด้านสิ่งแวดล้อมและสุขภาพ ชมรมนักวิชาการสิ่งแวดล้อม พุ่งเป้าไปที่ “เจ้าหน้าที่ความปลอดภัย” หรือ “จป.วิชาชีพ” ของโรงงานมีหน้าที่ดูแลเรื่องอุบัติเหตุและระบบความปลอดภัยในการผลิตของโรงงานบริษัทจีนดังกล่าว

โดยต้องขึ้นทะเบียนกับกระทรวงแรงงาน กรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงาน ซึ่งกรมได้เข้มงวดกับการบังคับใช้กฎหมายมากน้อยแค่ไหน?…

ย้อนไปวันที่ 26 ต.ค.67 ถังบรรจุภัณฑ์ระเบิดภายในบริษัทเซียว เซียงนัน-เฟอรัส เมทัล จำกัด เป็นโรงงานสกัดหลอมโลหะในนิคมอุตสาหกรรมบ่อทอง จ.ปราจีนบุรี พบผู้เสียชีวิต 2 ราย และบาดเจ็บ 12 คน

ก่อนหน้านั้น…วันที่ 19 ต.ค.67 ระเบิดสารเคมีรั่วที่บริษัท เอชเอสเอ็มที นิว แมททีเรียล เทคโนโลยี (ประเทศไทย) จำกัด ตำบลท่าตูม อำเภอศรีมหาโพธิ จังหวัดปราจีนบุรี และมีกลุ่มควันสีขาวทั้งสาร Acrylonitrile และกรดกำมะถันฟุ้งกระจายถูกกระแสลมพัดเข้ามาในชุมชน จนต้องอพยพชาวบ้าน 200 กว่าคนออกมา

ประเด็นสำคัญมีว่า…ประเทศไทยเผชิญกับปัญหาโรงงานระเบิดและการรั่วไหลของสารเคมีหลายครั้งในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมา เหตุการณ์เหล่านี้มีผลกระทบที่รุนแรงต่อชีวิตของประชาชน สุขภาพ สิ่งแวดล้อม รวมถึงเศรษฐกิจท้องถิ่น มีการตั้งข้อสังเกตกันว่า…ปัญหาหลักๆที่เกี่ยวข้องกับโรงงานระเบิดและสารเคมีรั่วไหล คือ

 หนึ่ง…การบังคับใช้กฎหมายและการกำกับดูแลไม่เพียงพอ หรือไม่?

แม้ประเทศไทยจะมีกฎหมายและข้อบังคับเกี่ยวกับการจัดการสารเคมีและการควบคุมอุตสาหกรรม แต่การบังคับใช้อย่างเคร่งครัดยังคงมีข้อจำกัดในหลายพื้นที่ หลายครั้งที่โรงงานละเลยมาตรการความปลอดภัย หรือมีการตรวจสอบที่ไม่ได้มาตรฐาน ซึ่งนำไปสู่ปัญหาอุบัติเหตุที่สามารถป้องกันได้

ถัดมา…การจัดการสารเคมีเป็นไปอย่างไม่เหมาะสมหรือไม่?

ข้อนี้ก็สำคัญ หากการจัดเก็บสารเคมีและกระบวนการผลิตในบางโรงงานอาจไม่ได้มาตรฐานตามที่กำหนด เช่น การเก็บสารเคมีไว้อย่างไม่ปลอดภัย หรือการกำจัดของเสียโดยไม่ผ่านการบำบัดให้ถูกต้อง ซึ่งสามารถนำไปสู่การระเบิดหรือรั่วไหลได้ง่าย

อาจารย์สนธิ คชวัฒน์
อาจารย์สนธิ คชวัฒน์

สาม…ผลกระทบต่อสุขภาพและสิ่งแวดล้อม เมื่อเกิดการรั่วไหลของสารเคมีหรืออุบัติเหตุรุนแรงขึ้น มักส่งผลกระทบต่อสุขภาพของคนในชุมชน โดยเฉพาะโรคทางเดินหายใจ การระคายเคืองผิวหนัง และโรคอื่นๆที่เกิดจากการสัมผัสหรือสูดดมสารพิษ

นอกจากนี้ สารเคมีที่รั่วไหลยังสามารถกระจายปนเปื้อนไปในดินและแหล่งน้ำ ทำลายสิ่งแวดล้อมและทรัพยากรธรรมชาติ

สี่…การขาดแผนฉุกเฉินและการฝึกซ้อมรับมือเหตุการณ์ โรงงานบางแห่งไม่มีการจัดทำแผนฉุกเฉินที่ชัดเจนและประชาชนโดยรอบอาจไม่ได้รับการฝึกซ้อมในการปฏิบัติตัวเมื่อเกิดเหตุ จึงทำให้การตอบสนองต่อเหตุการณ์ไม่เป็นระบบ มีผู้ได้รับบาดเจ็บหรือเสียชีวิตมากขึ้น รวมถึงความล่าช้าในการควบคุมสถานการณ์

ห้า…การเข้มงวดในการตรวจสอบผู้ประกอบการและการจัดการขยะสารเคมี

แน่นอนว่า…การจัดการขยะสารเคมีเป็นปัญหาสำคัญที่อาจเกิดการรั่วไหลหรือตกค้างสะสมในสิ่งแวดล้อม เนื่องจากขาดมาตรการควบคุมที่เข้มงวดเพียงพอ โรงงานบางแห่งอาจไม่มีกระบวนการกำจัดที่เหมาะสม ส่งผลให้สารพิษตกค้างในดินและน้ำ

ย้ำว่า…แนวทางแก้ไขและการปรับปรุง คงต้องพึ่งการบังคับใช้กฎหมายที่เข้มงวดขึ้น การฝึกอบรมและสร้างความตระหนักรู้ให้กับชุมชน…การใช้เทคโนโลยีในการเฝ้าระวัง และการตรวจสอบความปลอดภัยจากหน่วยงานอิสระ ทั้งนี้ทั้งนั้นต้องอาศัยการร่วมมือจากทุกภาคส่วน ทั้งภาครัฐ เอกชน และประชาชน

ปรับปรุง “กฎระเบียบ” ให้เข้มงวดและการ “เฝ้าระวัง” ที่มีประสิทธิภาพ

อีกบทเรียนสำคัญที่ “ภาครัฐ” ต้องตระหนัก อาจารย์สนธิ บอกอีกว่า การจัดการปัญหาด้านมลพิษและสิ่งแวดล้อมประชาชนที่อาศัยในพื้นที่รอบๆโรงงานอุตสาหกรรมถือเป็นตัวชี้วัดในการจัดการด้านสิ่งแวดล้อมและความปลอดภัยอย่างดี หากประชาชนมีสุขภาพอนามัยที่ดี มีค่ามลพิษอยู่ในเกณฑ์มาตรฐาน

…ไม่มีเหตุร้องเรียนและสามารถอยู่ร่วมกับอุตสาหกรรมได้อย่างมี “ความสุข” แสดงว่าโครงการนั้นมีการจัดการด้านสิ่งแวดล้อมและความปลอดภัยที่ดี

ถัดมา…Social license to operate คือการที่โครงการหรือภาคอุตสาหกรรมได้รับอนุญาตให้ประกอบกิจการจากสังคมโดย ได้รับการยอมรับจากชุมชนให้ประกอบกิจการถือเป็นส่วนหนึ่งของชุมชนนั้นต่างจากใบอนุญาต Business License ซึ่งเป็นใบอนุญาตประกอบกิจการที่โครงการได้รับอนุญาตจากหน่วยงานภาครัฐ

ดังนั้น…ภาคธุรกิจอุตสาหกรรมจึงต้องมีใบอนุญาต 2 ใบโดยที่ใบอนุญาตจากสังคมหรือ Social license to operate เป็นเรื่องที่ภาคธุรกิจต้องมัดใจชุมชนให้ได้ เป็นต้น

อีกเรื่อง…รายงานการประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อม (EIA) ที่ทำกันอยู่ปัจจุบันเกิดความเป็นธรรมต่อชุมชนและสังคมจริงหรือไม่? สิ่งที่ภาคประชาชนสงสัยก็คือการจัดรับฟังข้อคิดเห็นของประชาชนทำไมจึงจัดทำโดยหน่วยงานเจ้าของโครงการและที่ปรึกษา? ทำไม…จึงไม่ใช้คนกลางเป็นผู้จัดรับฟังความเห็น? และข้อสุดท้าย…

“ท้องถิ่น” ปฏิบัติหน้าที่ด้านสิ่งแวดล้อม อาศัย พ.ร.บ.การสาธารณสุข 2535 ในเรื่องเหตุเดือดร้อนรำคาญและ

เรื่องการประกาศกิจการที่เป็นอันตรายต่อสุขภาพก็ยังทำได้ไม่เต็มที่…ไปได้ไม่สุด.

คลิกอ่านคอลัมน์ “สกู๊ปหน้า 1” เพิ่มเติม