ชีวิตมนุษย์หรือคนที่ลืมตาเกิดมาในโลกนี้ ทุกคนมีความปรารถนาในความสมบูรณ์แบบทั้งร่างกาย จิตใจ สมอง อารมณ์ สติปัญญา การศึกษา อาชีพหน้าที่การงาน ความสุขทั้งของตนเอง ครอบครัว ชุมชน สังคม ประเทศชาติ รวมไปถึงความสุขสงบในระดับโลก
“ความพิการ” ของชีวิตคนมาจากเหตุปัจจัยในหลากหลายอย่าง ทั้งความพิการตั้งแต่อยู่ในท้องแม่ บางคนพบความพิการขณะเล่าเรียนศึกษา ประกอบหน้าที่การงานหรือมีความป่วยบางประเภทที่ทำให้พิการ
“บริบทหนึ่งของความพิการในประชากรของรัฐ รัฐบาลมีหน้าที่ทั้งโดยตรงและอ้อมต้องให้การช่วยเหลือทั้งการดูแลรักษาสุขภาพร่างกาย การศึกษา อาชีพการงานและรัฐสวัสดิการให้เขาเหล่านั้นสามารถดำรงชีพได้อย่างปกติสุข…” เฉลิมพล พลมุข ประธานมูลนิธิธรรมรักษ์ ว่า
ตัวเลขคนพิการในเมืองไทยเราจากกรมส่งเสริมและพัฒนาคุณภาพชีวิตคนพิการสถานการณ์คนพิการ 31 มีนาคม 2566 (รายไตรมาส) จากข้อมูลตัวเลขดังกล่าวเราท่านจะเห็นได้ว่าความพิการทางการเคลื่อนไหวหรือทางร่างกายมี 1,112,763 คน รองลงมาเป็นความพิการทางการได้ยินหรือสื่อความหมาย 405,920 คน
หากจำแนกตามอายุ พบว่าบุคคลที่มีอายุ 60 ปีเป็นต้นไป 720,889 คน ผู้พิการตามภูมิภาค พบว่าภาคตะวันออกเฉียงเหนือมีผู้พิการถึง 853,418 คน รองลงมาภาคเหนือ 486,771 คน สำหรับระดับการศึกษา พบว่ามีผู้พิการระดับประถมศึกษา 1,392,490 คน รองลงมาการศึกษาระดับมัธยมศึกษา 208,467 คน
และไม่มีข้อมูลทางการศึกษาถึง 442,602 คน
เฉลิมพล บอกว่า ข้อมูลชุดนี้รัฐบาลคงจะรับทราบในตัวเลขและมีนโยบายในการบริหารจัดการเพื่อให้คุณภาพชีวิตเขาเหล่านั้นได้เป็นไปตามรัฐธรรมนูญของประเทศ นโยบายของรัฐบาล
พันธกิจของแต่ละกระทรวง กรม ส่วนงานที่รับผิดชอบทั้งของรัฐและภาคเอกชน องค์กรทางศาสนา องค์กรด้านการสังคมสงเคราะห์ รวมถึงหน่วยงานอื่นๆ
เมืองไทยเราได้มีสัตยาบันต่ออนุสัญญาว่าด้วยสิทธิคนพิการแห่งสหประชาชาติหรือ UN เมื่อวันที่ 29 กรกฎาคม 2551 ในอนุสัญญาดังกล่าวได้ระบุไว้ว่า “ห้ามการเลือกปฏิบัติเพราะเหตุแห่งความพิการในทุกด้านที่เกี่ยวกับการจ้างงาน รวมถึงเงื่อนไขในการคัดเลือกบุคคล”
สำหรับสังคมไทยเรามีข้อสงสัยถึงมาตรการดังกล่าวทั้ง “นามธรรม” และ “รูปธรรม”
รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ.2560 ในจำนวน 279 มาตรา โดยเฉพาะมาตรา 71 วรรคสองและสาม ระบุไว้ว่ารัฐพึงส่งเสริมและพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ให้เป็นพลเมืองที่ดี มีคุณภาพและความสามารถสูงขึ้นและรัฐพึงให้ความช่วยเหลือเด็ก เยาวชน สตรี ผู้สูงอายุ คนพิการ ผู้ยากไร้ ผู้ด้อยโอกาส
…ให้สามารถดำรงชีวิตได้อย่างมีคุณภาพ และคุ้มครองป้องกันมิให้บุคคลดังกล่าวถูกใช้ความรุนแรงหรือปฏิบัติอย่างไม่เป็นธรรม รวมตลอดทั้งให้การบำบัด ฟื้นฟูและเยียวยาผู้กระทำการดังกล่าว…
“เราท่านจะเห็นได้ว่าในหลักการของรัฐธรรมนูญดังกล่าวได้ให้การคุ้มครองดูแลผู้พิการอย่างรอบด้านและสามารถเข้าถึงการรับบริการจากรัฐตามสิทธิของกฎหมายได้อย่างปกติ แต่ในข้อเท็จจริงการเข้าถึงเพื่อให้เป็นไปตามคุณภาพที่ดี ยังคงเป็นประเด็นทั้งร่างกาย จิตใจ ครอบครัว สังคมและกฎหมาย”
อะไร…สิ่งใดที่ผู้พิการประเภทต่างๆจะเข้าถึงและมีความสุขที่แท้จริงได้…?
ในกฎหมายมีกองทุนส่งเสริมและพัฒนาคุณภาพชีวิตคนพิการตามมาตรา 34 ให้ดำเนินการให้สิทธิแก่คนพิการหรือผู้ดูแลคนพิการตามมาตรา 35 โดยจ้างงานคนพิการเป็นพนักงานเพื่อปฏิบัติงานสนับสนุนในหน่วยบริการสาธารณประโยชน์ในพื้นที่ชุมชนใกล้บ้าน โรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบล (รพ.สต.) โรงเรียน ศูนย์เด็กเล็ก ศูนย์ฟื้นฟูอาชีพคนพิการ ศูนย์บริการคนพิการของเทศบาลและองค์การบริหารส่วนตำบล หน่วยงานอื่นๆ
ข้อมูลหนึ่งจากกรมส่งเสริมและพัฒนาคุณภาพชีวิตคนพิการ กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ พบว่าคนพิการที่อยู่ในวัยทำงาน อายุ 15-59 ปี มีในจำนวนประมาณ 850,000 คน ผู้พิการที่มีงานทำ 313,000 คน คิดเป็น 37% ส่วนใหญ่อยู่ในภาคเกษตรกรรม รับจ้างทั่วไป
ผู้พิการที่รับราชการหรือรัฐวิสาหกิจของรัฐมีเพียง 1.18% ข้อเท็จจริงหนึ่งก็คือรายได้ และอาชีพที่มั่นคงของผู้พิการจะส่งผลต่อคุณภาพชีวิตที่ดีของเขา และในตัวเลขดังกล่าวจะพบผู้พิการที่ไม่มีงานทำ จำนวน 500,000 ราย เขาเหล่านั้นมีชีวิตเป็นอยู่เช่นไร…
“สื่อสังคมไทยในวันเวลาที่ผ่านมาได้นำเสนอถึงนักเรียน นักศึกษาที่เป็นผู้พิการทั้งตาหูแขนขา สติปัญญา ทั้งผลการเรียนในระดับดีเยี่ยม รวมถึงทักษะความสามารถพิเศษทำหน้าที่ในรัฐสภาทางด้านกฎหมาย ศิลปะ การกีฬาที่นำชื่อเสียงมาสู่เมืองไทยเราในหลายๆประเภท เราท่านรับรู้ชุดข้อมูลหนึ่งก็คือบริษัทต่างๆ…
สามารถรับผู้พิการเข้าทำงานในความรู้ความสามารถได้เฉกเช่นคนปกติทั่วไป แต่ในข้อเท็จจริง เขาเหล่านั้นถูกเลือกในการปฏิบัติและเข้าถึงอาชีพการงาน รวมถึงสิทธิต่างๆด้วยหรือไม่…”
อาชีพหนึ่งที่เราท่านได้พบเห็นในชีวิตของผู้พิการก็คือ นั่งขายสลากกินแบ่งของรัฐบาลตามถนนหนทาง หน้าร้านสะดวกซื้อ หลายครั้งคราเขาเหล่านั้นมีมิจฉาชีพได้ฉกชิงสลากกินแบ่งของเขาไป ร้องเพลงตามตลาดชุมชน อาชีพหมอนวดตาบอดก็เป็นการหารายได้หนึ่งเพื่อทำให้เขาและครอบครัวสามารถดำรงชีพไปได้
สำหรับเบี้ยยังชีพคนพิการที่รัฐได้มอบหมายให้คงมิเพียงพอต่อหนึ่งคนและหนึ่งเดือน เราท่านและผู้ที่รับผิดชอบโดยตรงจะมีท่าทีต่อเขาเหล่านั้นเช่นไร?
มุ่งหวังใคร่เห็นภาพ “ผู้พิการคนไทย” เราคล้ายๆคนพิการนานาชาติก็คือ รถสำหรับคนพิการที่ควบคุมด้วยมือที่มีประสิทธิภาพ ถนนหนทางสำหรับคนพิการ ห้องน้ำ ทางลาดชันที่เขาเหล่านั้นสามารถไปใช้บริการสถานที่ราชการ หน่วยงานต่างๆ… สะท้อนให้เห็นถึงคุณค่าชีวิตผู้พิการอย่างแท้จริง.
คลิกอ่านคอลัมน์ “สกู๊ปหน้า 1” เพิ่มเติม
แหล่งข่าว: ไทยรัฐ