เมื่อวันที่ 26 พ.ย. ว่าที่ร้อยตรี ธนุ วงษ์จินดา เลขาธิการคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (กพฐ.) เปิดเผยภายหลังการประชุมผู้บริหารระดับสูงของสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) ว่า ที่ประชุมได้หารือถึงกรณีกลุ่มลูกจ้างกว่า 70,000 คนทั่วประเทศ ที่โดนผลกระทบจากการจัดสรรอัตราการปฏิบัติงานให้ราชการ ปีงบประมาณ 2568 ซึ่งการเปลี่ยนแปลงรูปแบบการจ้างงานผู้ปฏิบัติงานให้กับ สพฐ. โดยถูกเปลี่ยนเป็น “การจ้างเหมาบริการ” และ “ตัดเงินสมทบประกันสังคม” โดยเฉพาะสวัสดิการด้านสุขภาพ การคลอดบุตร และการรับเงินบำเหน็จบำนาญในวัยเกษียณ ซึ่งที่ผ่านมาตนได้ทำหนังสือชี้แจงประเด็นดังกล่าวไปยังสำนักงานคณะกรรมการข้าราชการพลเรือน (ก.พ.) และกรมบัญชีกลางแล้วว่าขอให้มีการทบทวนปรับเปลี่ยนจากการจ้างเหมาบริการมาเป็นวิธีการจ้างลูกจ้างชั่วคราว แต่จนถึงขณะนี้ก็ยังไม่ได้รับการตอบกลับจากหน่วยงานดังกล่าวแต่อย่างใด เพราะขณะนี้เป็นเวลากว่า 2 เดือนแล้วที่กลุ่มลูกจ้างกว่า 70,000 คน ได้รับความเดือดร้อนที่ยังไม่ได้รับค่าจ้าง
“เมื่อเร็วๆ นี้ สพฐ.ได้ออกหนังสือไปถึงสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษา (สพท.) ทุกเขต เพื่อให้ดำเนินการทำสัญญาและจ่ายค่าจ้างให้แก่กลุ่มลูกจ้างที่ได้รับผลกระทบจำนวนดังกล่าว โดยให้มีการจ่ายค่าจ้างให้แล้วเสร็จภายในเดือน พ.ย.นี้ ดังนั้น กลุ่มลูกจ้างกว่า 70,000 คนทั่วประเทศของ สพฐ. ในวันที่ 30 พ.ย.นี้จะต้องได้รับค่าจ้าง สำหรับหลักวิธีการจัดสรรงบประมาณนั้น เราให้ดำเนินการในลักษณะการจ้างเหมาบริการไปพลางก่อน โดยหาก ก.พ.หรือกรมบัญชีกลางมีข้อตกลงตอบกลับให้ สพฐ.เปลี่ยนวิธีการจ้างได้เราก็ดำเนินการจัดทำงบประมาณ เพื่อนำมาสมทบเป็นเงินประกันสังคมและสามารถจ่ายเพิ่มเติมได้ ซึ่งระหว่างนี้เราจำเป็นจะต้องจ่ายตามหลักเกณฑ์ของกรมบัญชีกลาง ซึ่งทำในลักษณะจ้างเหมาบริการตามระเบียบการจ้างเหมาบริการบุคคลธรรมดาของ พ.ร.บ.จัดซื้อจัดจ้างและการบริหารพัสดุภาครัฐ พ.ศ.2560” เลขาธิการ กพฐ.กล่าว.
แหล่งข่าว: ไทยรัฐ