ชูแก้ความเหลื่อมล้ำด้วย “การศึกษา” เพื่อยกระดับคุณภาพชีวิตในระยะยาวให้เยาวชน ขณะที่ สพฐ. เผยผลการสำรวจ 11 ปัจจัย ทำเด็กหลุดจากระบบ

อย่างที่ทราบกันว่า “การศึกษา” เป็นรากฐาน และเป็นหัวใจหลักในการพัฒนา “คน” ที่เป็นทรัพยากรสำคัญของประเทศ แต่ก็ต้องยอมรับว่าที่ผ่านมา เด็กไทยไม่น้อยเข้าไม่ถึงการศึกษา หรือมีโอกาสเข้าถึงการศึกษาแล้ว แต่ต้องหลุดจากระบบการศึกษา ด้วยสาเหตุต่าง ๆ

เกี่ยวกับเรื่องนี้ นายสุรศักดิ์ พันธ์เจริญวรกุล รมช.ศึกษาธิการ เคยให้สัมภาษณ์ในงาน Thairath Afternoon Gala ภายใต้แนวคิด “Empowering Through Education” ว่า ปัญหาความเหลื่อมล้ำเป็นปัญหาที่ซับซ้อนและเป็นปัญหารากฐานที่สำคัญอย่างหนึ่งของสังคมไทย “การศึกษา” คือโอกาสที่สามารถช่วยให้คนยกระดับคุณภาพชีวิตในระยะยาวได้ แต่ปัจจุบันยังมีเด็กที่เข้าไม่ถึงการศึกษา หรือมีโอกาสเข้าถึงการศึกษาแล้ว แต่ต้องหลุดจากระบบการศึกษาด้วยสาเหตุต่าง ๆ

โดยจากการศึกษาวิจัยออกแบบแนวทางการดำเนินงานป้องกัน เฝ้าระวัง ติดตามและช่วยเหลือ เด็กตกหล่นและเด็กออกกลางคัน สังกัดสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) พบสาเหตุการหลุดจากระบบการศึกษาของเด็ก จำนวน 11 ด้าน ได้แก่ ความจำเป็นของครอบครัว, ย้ายถิ่นที่อยู่, รายได้ไม่เพียงพอ, สุขภาพหรือความพิการ, ความประพฤติและการปรับตัว, ผลกระทบจากโรคโควิด-19, เสี่ยงต่อการกระทำผิด, การคมนาคมไม่สะดวก, สมรส, ผลการเรียน และผู้ปกครองไม่ใส่ใจ

ดังนั้น การสร้างความเสมอภาคหรือลดปัญหาความเหลื่อมล้ำทางการศึกษาในกลุ่มเด็กตกหล่น และเด็กออกกลางคัน จึงต้องมีการป้องกัน เฝ้าระวังเด็ก และติดตามให้กลับเข้าสู่ระบบการศึกษา ซึ่งเป็นเรื่องที่ดีที่มีภาคเอกชนเข้ามามีส่วนร่วมในการสนับสนุนการศึกษา ซึ่งจะเป็นส่วนช่วยแก้ปัญหาความเหลื่อมล้ำของประเทศได้อีกทางหนึ่ง