ดร.ศักดิ์สิน โรจน์สราญรมย์ คณะกรรมการปฏิรูปประเทศด้านการศึกษา ประธานกรรมการบริหาร สถาบันพัฒนาคุณภาพวิชาการ (พว.) และผู้เชี่ยวชาญด้านกระบวนการเรียนรู้ ให้สัมภาษณ์ถึงจุดเด่นของหลักสูตรแกนกลางการศึกษาขั้นพื้นฐาน พ.ศ.2551 และฉบับปรับปรุง พ.ศ.2560 ว่า หลักสูตรดังกล่าวมี 4 องค์ประกอบสำคัญที่ต้องขับเคลื่อนไปสู่ผู้เรียน คือ 1.หนังสือเรียน 8 กลุ่มสาระการเรียนรู้ ที่กระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) กำหนด 2.การจัดการเรียนรู้แบบ Active Learning 3.โดยครูพานักเรียนคิด ทำกิจกรรมการเรียนรู้ให้นักเรียนทุกคนได้ใช้กระบวนการคิดขั้นสูงเชิงระบบ GPAS 5 Steps และ 4.มีการวัดและประเมินผลความรู้ของนักเรียนจากการแสดงออกตามมาตรฐานการเรียนรู้ผ่านทักษะ ผลผลิตและนวัตกรรม ซึ่งจะมีเกณฑ์มิติคุณภาพคอยกำกับอยู่
ดร.ศักดิ์สินกล่าวอีกว่า วิธีการจัดการเรียนการสอนในสถานศึกษาขั้นพื้นฐานที่ผ่านมา ส่วนใหญ่ยังเน้นขับเคลื่อนหลักสูตรแกนกลางการศึกษาขั้นพื้นฐาน พ.ศ.2551 และฉบับปรับปรุง พ.ศ.2560 เพียงการใช้องค์ประกอบที่ 1 คือ หนังสือเรียน สอนแบบ Passive Learning ให้นักเรียนท่องจำ ทำตามตัวอย่าง เรียนติวข้อสอบ ซึ่งจำยากลืมง่าย ทำให้ไม่บรรลุเป้าหมายสมรรถนะสำคัญของผู้เรียน จนนำไปสู่การจัดทำและประกาศใช้แผนปฏิรูปประเทศด้านการศึกษา (ฉบับปรับปรุง) ในราชกิจจานุเบกษาเมื่อวันที่ 28 ก.พ.2564 ให้ ศธ.ดำเนินการให้ครูปรับเปลี่ยนการจัดการเรียนการสอนตามหลักสูตรอิงมาตรฐานไปสู่การเรียนรู้ที่พัฒนาสมรรถนะนักเรียน
“เป็นนิมิตหมายที่ดีที่ในช่วงปี พ.ศ.2566-2567 ศธ.โดยสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) ได้ร่วมกับมหาวิทยาลัยในภูมิภาคต่างๆ เดินหน้าโครงการพัฒนาครูต้นแบบเพื่อพลิกโฉมคุณภาพการศึกษา โดยพัฒนาครูให้มีศักยภาพสอดคล้องกับศตวรรษที่ 21 ในการจัดการเรียนการสอนรูปแบบ Active Learning ด้วยกระบวนการคิดขั้นสูงเชิงระบบ GPAS 5 Steps สร้างผู้เรียนให้เป็นนวัตกร ซึ่งหาก สพฐ.ดำเนินการอย่างต่อเนื่องและขยายผลให้ครอบคลุมทุกโรงเรียน ผมเชื่อว่า 2-3 ปีนี้ จะพลิกโฉมคุณภาพการศึกษาเพื่อเป็นกลไกพัฒนาประเทศไทยอย่างแน่นอน” ดร.ศักดิ์สินกล่าว.
แหล่งข่าว: ไทยรัฐ