สคส. ชูศูนย์ PDPC Center ช่วยประชาชนแก้ไขปัญหาการละเมิดข้อมูลส่วนบุคคล มั่นใจช่วยเสริมสร้างความมั่นใจ และความเชื่อมั่นในกระบวนการคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล

พ.ต.อ.สุรพงศ์ เปล่งขำ ผู้อำนวยการสำนักตรวจสอบและกำกับดูแล สำนักงานคณะกรรมการคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล (สคส.) หรือ PDPC กล่าวว่า ตั้งแต่เปิดศูนย์ PDPA Center มีเรื่องร้องเรียนเข้ามาทั้งหมด 823 เรื่อง แบ่งออกเป็น 12 ประเภท ได้แก่ ธุรกิจธนาคาร ประกันภัย สินเชื่อเงินสด โทรคมนาคม ขนส่งและโลจิสติกส์ การขายของออนไลน์ สื่อสังคมออนไลน์ หน่วยงานภาครัฐ โรงพยาบาลและสาธารณสุข และด้านการวิจัย

โดยประเภทที่มีจำนวนเรื่องร้องเรียนมากที่สุดคือ ประเภทอื่น ๆ จำนวน 347 เรื่อง ซึ่งส่วนมากเกี่ยวข้องกับกรณีประชาชนร้องเรียนกันเอง หรือร้องเรียนร้านค้าทั่วไปที่ไม่ใช่ช่องทางออนไลน์ รวมถึงกรณีร้องเรียนนิติบุคคลที่เป็นคอนโด หอพัก หรือเอกชนที่ไม่เกี่ยวข้องกับประเภทอื่น ๆ

นอกจากนี้ PDPA Center ได้ดำเนินการพิจารณาและแก้ไขเรื่องร้องเรียนเสร็จสิ้นแล้ว 181 เรื่อง จากเรื่องร้องเรียนทั้งหมด คิดเป็นร้อยละ 21.99 โดยแบ่งเป็นการมีคำสั่งทางปกครองจำนวน 180 เรื่อง และการไกล่เกลี่ยจำนวน 1 เรื่อง ส่วนเรื่องที่อยู่ระหว่างการตรวจสอบข้อเท็จจริงและเสนอให้คณะกรรมการผู้เชี่ยวชาญพิจารณามีจำนวน 450 เรื่อง และอีก 192 เรื่องถูกจำหน่ายเนื่องจากเอกสารไม่ครบถ้วน

ทั้งนี้ศูนย์ PDPA Center ได้รับเรื่องร้องเรียนเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง เฉลี่ยเพิ่มขึ้นเดือนละ 5-10 เรื่อง ในบางเดือนพบการเพิ่มขึ้นเป็นจำนวนมาก โดยเฉพาะกรณีที่มีผู้เสียหายหลายรายจากผู้ถูกร้องเรียนรายเดียวกัน สะท้อนถึงปัญหาการละเมิดข้อมูลส่วนบุคคลที่ต้องการการคุ้มครองอย่างเข้มงวดมากขึ้น

พ.ต.อ.สุรพงศ์ กล่าวอีกว่า บทบาทของ PDPA Center ในการคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคลไม่เพียงแต่เป็นจุดรับเรื่องร้องเรียนเท่านั้น แต่ยังมีบทบาทสำคัญในการให้คำปรึกษา และแนะนำแนวทางปฏิบัติตามกฎหมาย PDPA แก่หน่วยงานภาครัฐและเอกชน รวมถึงดำเนินการด้านการเสริมสร้างความเข้าใจในกฎหมาย PDPA และการปฏิบัติตามข้อกำหนดให้สอดคล้องกับกฎหมาย อีกทั้งเป็นตัวกลางในการแก้ไขข้อขัดแย้งที่เกี่ยวข้องกับการละเมิดข้อมูลส่วนบุคคล รวมถึงการให้คำแนะนำฉุกเฉินในกรณีที่เกิดการโจมตีทางไซเบอร์อีกด้วย

“เพื่อเพิ่มช่องทางช่วยเหลือประชาชนในต่างจังหวัด สคส. ได้ขยายศูนย์บริการฯ ไปยังจังหวัดต่าง ๆ ครอบคลุม 6 จังหวัด ในหัวเมืองใหญ่ เชียงใหม่ ชลบุรี นครราชสีมา นครสวรรค์ สงขลา และสมุทรปราการ ซึ่งจะเป็นการเพิ่มช่องทางในการยื่นเรื่องร้องเรียน และให้คำปรึกษาด้านการคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคลแก่ประชาชนได้สะดวก และรวดเร็วยิ่งขึ้น ซึ่งศูนย์บริการนี้จะทำหน้าที่สำคัญในการสนับสนุนให้หน่วยงานทั้งภาครัฐ และเอกชนปฏิบัติตามข้อกำหนดของกฎหมายอย่างถูกต้อง ทั้งยังสามารถจัดการเรื่องร้องเรียนได้ครอบคลุมมากขึ้น รวมถึงการเสริมสร้างการรับรู้ถึงสิทธิ และหน้าที่ที่เกี่ยวข้องกับข้อมูลส่วนบุคคลในชุมชนท้องถิ่นอีกด้วย”