ชื่อหนังสือเป็นภาษาอังกฤษตัวใหญ่ Erich Fromm ไม่สะดุดใจผม เท่าชื่อภาษาไทยตัวเล็กๆ ศิลปะการใช้ชีวิตอย่างสร้างสรรค์ (ร.ศ.วิทยากร เชียงกูล เรียบเรียง แสงดาวพิมพ์ พ.ศ.2567)
อีริค ฟรอมม์ (ค.ศ.1900-1980) นักจิตวิทยาแนวสังคมนิยม นักคิดนอกกรอบ เป็นพวกนักแก้ไขปรับปรุง ทั้งทฤษฎีแนวคิดของฟรอยด์ และมาร์กซ์
ผมตั้งใจอ่าน และค่อยๆทำความเข้าใจ บทที่ 1 ความต้องการของมนุษย์และบรรทัดฐานทางสังคม
มนุษย์เลือกเป้าหมายและแบบวิถีชีวิตอย่างไร เรื่องแรกที่มนุษย์เราควรทำความเข้าใจ คือมนุษย์มีแบบวิถีการดำรงชีวิตของมนุษย์ 2 แบบ ที่แตกต่างกัน
1.แบบวิถีชีวิตที่เน้นการเป็นเจ้าของทรัพย์สินต่างๆ และ 2.แบบวิถีชีวิตที่เน้นการทำกิจกรรมในชีวิต
มนุษย์แต่ละคนอาจจะมีชีวิตทั้งสองแบบผสมผสานกันอยู่ แต่มักจะมีแบบใดแบบหนึ่งเด่นกว่าอีกแบบหนึ่ง แบบวิถีชีวิตแต่ละแบบนั้น มีผลต่อสุขภาวะของมนุษย์แตกต่างกัน
แบบหลังนั้นแตกต่างและดีกว่าแบบแรกมาก
การจะช่วยให้มนุษย์มีความเป็นมนุษย์ที่สมบูรณ์ขึ้น มนุษย์จะต้องเลือกการก้าวข้ามแบบวิถีชีวิตที่มีศูนย์กลางอยู่ที่การเป็นเจ้าของทรัพย์สินต่างๆไปสู่แบบวิถีชีวิตที่มีศูนย์กลางอยู่ที่ความรัก การคิดอย่างมีเหตุผล
และกิจกรรมสร้างสรรค์
ก้าวข้ามความเห็นแก่ตัวและความหลงตัวเอง ไปสู่การสามัคคีและการเอื้อเฟื้อเผื่อแผ่ผู้อื่น
เรื่องที่ 2 คือเรื่องขั้นตอนในการปฏิบัติตนที่จะช่วยให้มนุษย์เราเตรียมตัวที่จะพัฒนาไปสู่ความเป็นมนุษย์ที่สมบูรณ์ขึ้น เราควรจะเริ่มต้นด้วยการตั้งคำถาม และตอบตัวเราเองว่า เป้าหมายของการดำเนินชีวิตคืออะไร?
ชีวิตมีความหมายอย่างไรสำหรับเรา?
โดยวิวัฒนาการของธรรมชาติ สิ่งมีชีวิตทุกสิ่ง ทั้งสัตว์และมนุษย์ต่างต้องการมีชีวิตอยู่ อาจมีข้อยกเว้นเฉพาะสำหรับมนุษย์บางคน ที่มีความเจ็บปวดหรือมีอารมณ์ผูกพันที่รุนแรงในบางเรื่อง
ไม่ว่ารัก เกลียด ความหยิ่ง ความจงรักภักดี ศรัทธา ที่อาจนำไปสู่การฆ่าตัวตาย หรือการพลีชีวิตได้
แต่นั่นเป็นข้อยกเว้นสำหรับคนส่วนน้อยเท่านั้น คนส่วนใหญ่ต่างต้องการมีชีวิตอยู่โดยไม่จำเป็นที่เราจะต้องมาตั้งและตอบคำถามพื้นๆว่าทำไมเราจึงต้องการมีชีวิตอยู่
คำถามที่อาจจะทำให้มนุษย์แต่ละคนให้คำตอบแตกต่างกันไป คือ เราต้องการมีชีวิตอย่างไร เราแสวงหาอะไรจากชีวิต อะไรที่ทำให้ชีวิตของเรามีความหมาย?
บางคนอาจตอบว่า เราต้องการความรัก บางคนเลือกอำนาจ บางคนเลือกความมั่งคั่ง ความมั่นคง ความเพลิดเพลิน และความสะดวกสบายจากประสาทสัมผัส ชื่อเสียง การยอมรับ หรืออาจจะหลายๆอย่างที่กล่าวมารวมกัน
ส่วนใหญ่เราอาจจะตอบแบบกว้างๆคล้ายกันว่า เขาต้องการความสุข
แต่ความหมายของความสุขขึ้นอยู่กับว่ามนุษย์เราเข้าใจธรรมชาติของความต้องการของมนุษย์อย่างไร?
ท่านผู้อ่านครับ…ผมอ่านและพิมพ์ตามมาถึงตอนนี้ ถึงหน้าที่ 7 บทที่ 1 แต่ไม่มีพื้นที่คอลัมน์ที่จะพิมพ์ต่อ
จึงทำได้แค่บอกท่าน นี่คือหนังสือเล่มที่ผมอ่านอย่างเร้าระทึกใจทุกบรรทัด อยากให้ไปหาหนังสืออ่านกันต่อให้จบบทสุดท้าย ตอนหนึ่งจากคำนำสำนักพิมพ์ ศิลปะไม่ใช่อยู่แค่การแพทย์ วิศวกรรม การวาดภาพ เท่านั้น การใช้ชีวิตของมนุษย์เองคือศิลปะอย่างหนึ่ง ที่สำคัญที่สุด ยาก และซับซ้อนที่สุดเท่าที่มนุษย์จะปฏิบัติได้
อ่านหนังสือเล่มนี้ให้จบ แล้วเราค่อยหันหน้ามาคุยกัน ชีวิตเราแต่ละคนมีศิลปะมากน้อย เหมือนกันและไม่เหมือนกันแค่ไหนอย่างไร?
กิเลน ประลองเชิง
คลิกอ่านคอลัมน์ “ชักธงรบ” เพิ่มเติม
แหล่งข่าว: ไทยรัฐ