ศาลปกครองสูงสุดมีคำสั่งยกคำขอทุเลาการบังคับตามคำสั่งทางปกครองตามคำขอของ “บิ๊กโจ๊ก” ในคดีที่ฟ้องขอเพิกถอนคำสั่งให้ออกราชการไว้ก่อน
เมื่อวันที่ 16 ธันวาคม 2567 ศาลปกครองสูงสุดมีคำสั่งคำขอทุเลาการบังคับตามคำสั่งทางปกครองตามคำขอ พล.ต.อ. สุรเชษฐ์ หักพาล อดีต รอง ผบ.ตร. ในคดีที่ พล.ต.อ. สุรเชชษฐ์ หักพาล ยื่นฟ้อง ผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ (ผบ.ตร.) คณะกรรมการพิทักษ์ระบบคุณธรรมข้าราชการตำรวจ และ นายกรัฐมนตรี ที่ให้ พล.ต.อ. สุรเชชษฐ์ ออกจากราชการ ซึ่ง พล.ต.อ. สุรเชชษฐ์ หักพาลมีคำขอให้ศาลเพิกถอนคำสั่งสำนักงานตำรวจแห่งชาติ ที่ให้ผู้ฟ้องคดีออกจากราชการไว้ก่อน คำวินิจฉัยยกอุทธรณ์ของผู้ถูกฟ้องคดีที่ 2 และประกาศสำนักนายกรัฐมนตรี เรื่องให้ข้าราชการตำรวจพ้นจากตำแหน่ง และมีคำขอให้ศาลมีคำสั่งทุเลาการบังคับตามคำสั่งทางปกครองที่ให้ผู้ฟ้องคดีออกจากราชการไว้ก่อน คำวินิจฉัยยกอุทธรณ์ของผู้ถูกฟ้องคดีที่ 2 และประกาศสำนักนายกรัฐมนตรี เรื่องให้ข้าราชการตำรวจพ้นจากตำแหน่ง
ทั้งนี้ ศาลปกครองสูงสุดโดยที่ประชุมใหญ่ตุลาการในศาลปกครองสูงสุดพิจารณาแล้วเห็นว่า การที่ศาลจะมีคำสั่งทุเลาการบังคับตามกฎ หรือคำสั่งทางปกครองจะต้องเข้าเงื่อนไขสามประการประกอบกัน สำหรับเงื่อนไขประการที่หนึ่ง ว่าคำสั่งน่าจะไม่ชอบด้วยกฎหมายนั้น คำสั่งสำนักนายกรัฐมนตรีที่ให้ พล.ต.อ. สุรเชชษฐ์ มาปฏิบัติราชการสำนักนายกรัฐมนตรี มิใช่เป็นการแต่งตั้งข้าราชการซึ่งสังกัดกระทรวง ทบวง กรมหนึ่ง ไปดำรงตำแหน่งอีกกระทรวง ทบวง กรมหนึ่ง พล.ต.อ. สุรเชชษฐ์ จึงยังมีสถานะเป็นข้าราชการตำรวจและดำรงตำแหน่งรอง ผบ.ตร. สังกัดสำนักงานตำรวจแห่งชาติตามเดิม ผบ.ตร. จึงเป็นผู้บังคับบัญชาของ พล.ต.อ. สุรเชชษฐ์ เมื่อ พล.ต.อ. สุรเชชษฐ์ มีกรณีถูกกล่าวหาว่ากระทำผิดวินัยอย่างร้ายแรงตามที่คณะพนักงานสืบสวนสอบสวนได้ร้องทุกข์กล่าวโทษต่อพนักงานสอบสวนและศาลอาญาได้ออกหมายจับ พล.ต.อ. สุรเชชษฐ์ จึงเป็นผู้บังคับบัญชาผู้มีอำนาจแต่งตั้งคณะกรรมการสอบสวน พล.ต.อ. สุรเชชษฐ์ และมีอำนาจออกคำสั่งให้ พล.ต.อ. สุรเชชษฐ์ ออกจากราชการไว้ก่อน และยังไม่ปรากฏปัญหาเกี่ยวกับความไม่ชอบด้วยกฎหมายในประการอื่น การที่ ผบ.ตร. มีคำสั่งดังกล่าวจึงไม่น่าจะไม่ชอบด้วยกฎหมาย
เมื่อวินิจฉัยเงื่อนไขที่ว่าคำสั่งสำนักงานตำรวจแห่งชาติที่เป็นเหตุแห่งการฟ้องคดีไม่น่าจะไม่ชอบด้วยกฎหมาย จึงไม่ครบองค์ประกอบในการที่ศาลจะมีคำสั่งทุเลาการบังคับตามคำสั่งทางปกครองตามคำขอของ พล.ต.อ. สุรเชชษฐ์ กรณีจึงไม่จำต้องพิจารณาเงื่อนไขประการที่สอง ที่ว่าการให้คำสั่งดังกล่าวมีใช้ผลเฉพาะต่อไปจะทำให้เกิดความเสียหายอย่างร้ายแรงที่ยากแก่การเยียวยาแก้ไขในภายหลังหรือไม่ และเงื่อนไขประการที่สาม ที่ว่าการทุเลาการบังคับตามคำสั่งดังกล่าวจะเป็นอุปสรรคแก่การบริหารงานของรัฐ หรือแก่บริการสาธารณะหรือไม่อีก จึงไม่มีเหตุผลเพียงพอที่ศาลจะมีคำสั่งทุเลาการบังคับตามคำสั่งสำนักงานตำรวจแห่งชาติที่ให้ พล.ต.อ. สุรเชชษฐ์ ออกราชการไว้ก่อน และประกาศสำนักนายกรัฐมนตรี เรื่องให้ข้าราชการตำรวจพ้นจากตำแหน่ง ศาลปกครองสูงสุดจึงมีคำสั่งยกคำขอทุเลาการบังคับตามคำสั่งทางปกครองตามคำขอของ พล.ต.อ. สุรเชชษฐ์
แหล่งข่าว: ไทยรัฐ