เด็กรุ่นผมนับอายุก็รุ่นศาสตราจารย์เกียรติคุณ กุสุมา รักษมณี เพียงแต่อาจารย์ท่านเจนจบในระบบการศึกษาชั้นสูงสุด แต่ผมเรียนสะดุดแค่ ม.1 (สมัยนั้น ป.5 ครับ)
เมื่อเอ่ยชื่อ ศกุนตลา จึงรู้จักมากและน้อย ต่างกันลิบลับ
ก่อน พ.ศ.2500 ผมฟังเพลง ศกุนตลา เสียง มัณฑนา โมรากุล ร้องจากวิทยุกระจายเสียง จำเนื้อได้ตกๆหล่นๆ บางตอน เช่นตอน…
ศกุนตลา นางฟ้าแมกฟ้าหรือไฉน เดินดินคนเดียวเปลี่ยวใจ นางไม้แมกไม้มิได้ปาน น้ำค้างค้างกลีบกุหลาบอ่อน คือเนตรบังอรหยาดหวาน…
หูฟังท่อน น้ำค้างค้างกลีบ…กุหลาบอ่อน…คุณมัณฑนา ย้ำท้ายคำน้ำค้างและซ้ำคำค้าง ซึ้งเสียดหัวใจ
ใจก็จินตนาการ ดวงตาศกุนตลาที่ว่าหวาน หวานแบบ น้ำค้างค้างกลีบกุหลาบอ่อน…นั้น แบบไหน?
จนกระทั่งบัดนี้ ก็ไม่เคยอ่านวรรณคดีเรื่องศกุนตลา รู้แค่ว่า นางศกุนตลาเป็นคนสวย แต่ไม่รู้ว่าสวยแล้วเป็นไง? ไปไง? รู้จักศกุนตลาในแง่มุมซับซ้อนมาก อีกทีจากหมายเหตุเฟซบุ๊ก กุสุมา 80 เรื่องที่ 52 อาจารย์เขียนเมื่อ 15 ตุลาคม 2565
หัวข้อ ไม่เลือกไหลห้วยหนองคลองละหาน
ถ้าแบ่งดอกบัวเป็นสองชนิด ก็จะได้ดอกบัวที่บานตอนกลางคืน และดอกบัวที่บานตอนกลางวัน
ชนิดแรกในวรรณคดีสันสกฤต เรียกกุมุท จะบานเมื่อมีแสงจันทร์ คำเรียกดวงจันทร์คำหนึ่งคือ กุมุทนาถ ผู้เป็นที่พึ่งของดอกบัวกุมุท
ชนิดที่ในวรรณคดีสันสกฤตเรียกว่า บงกช จะบานเมื่อมีแสงแดด
ในบทละครเรื่องศกุนตลา ของ กาลิทาส ท้าวทุษยันต์ต้องคำสาป จำนางศกุนตลาไม่ได้ เมื่อจะปฏิเสธนางพระองค์เปรียบเปรยไว้ว่า ดังนี้
“ดวงจันทร์จะทำให้ดอกบัวกุมุทเท่านั้นบาน ดวงอาทิตย์จะทำให้ดอกบัวบงกชเท่านั้นบาน วิสัยผู้ที่ควบคุมตนเองได้ย่อมเมินหนีการข้องเกี่ยวกับภรรยาผู้อื่น”
เจ็บไหมเล่า ศกุนตลาเอ๋ย เขาปฏิเสธความสัมพันธ์อย่างแยบยล เขาบอกว่าดวงจันทร์ไม่ได้เที่ยวไปทำให้ดอกไม้อื่นใดบานหรอก เจาะจงเฉพาะดอกกุมุทที่ดวงจันทร์เลือกแล้วเท่านั้น
ดวงอาทิตย์ก็ไม่ได้เที่ยวไปทำให้ดอกไม้ที่ไหนอื่นใดบานหรอก เจาะจงเฉพาะดอกบงกชที่ดวงอาทิตย์เลือกแล้วเท่านั้น
ดวงจันทร์และดวงอาทิตย์ เป็นผู้ทรงศักดิ์ มิมีทางทำตัวเป็นอย่าง “ชลาลัย” ที่ “ไม่เลือกไหลห้วยหนองคลองละหาน” ดังคำปริภาษของพญาครุฑที่มีต่อนางกากีหรอก
พระผู้ทรงศักดิ์ย่อม “ควบคุมตนเองได้”
ผมคัดทุกถ้อยคำที่อาจารย์กุสุมาเขียน อาจารย์ท่านเป็นกุลสตรีผู้ใหญ่ เป็นครูของครู เป็นอาจารย์ของอาจารย์ เล่าเรื่องในมุ้งระหว่างท้าวทุษยันต์ ผู้เป็นพระสวามี และนางศกุนตลาผู้เป็นชายา ให้เราฟังอย่างแสนสุภาพ
ผมอ่านแล้ว เข้าใจแบบผู้ชาย ท้าวทุษยันต์ต้องคำสาป จำชายาตัวเองไม่ได้ ปฏิเสธการทำหน้าที่พระสวามี
อาจารย์กุสุมาหลุดประโยค “เจ็บไหมเล่า ศกุนตลาเอ๋ย” พระสวามีที่เคยผูกสมัครรักใคร่ ใช้โวหารแยบยล ถึงขนาดยกคำที่พญาครุฑบริภาษนางกากี มาเปรียบเปรย
หากย้อนไปถึงคำพรรณนาความงามของศกุนตลา นางฟ้าแมกฟ้าหรือไฉน เดินดินคนเดียวเปลี่ยวใจ นางไม้แมกไม้มิได้ปาน… แล้ว คนอ่านอย่างผม ก็ได้แต่ใจหาย เสียดาย และเจ็บหัวใจแทน
ผู้คนวรรณกรรมล้วนแต่อ่อนไหว รักใครชังใครใช้โวหารเล็กน้อย ก็เข้าใจ แต่ผู้คนการเมือง เกลียดกันถึงขั้นไม่ร่วมสังฆกรรม ก็ยังตามถามย้ำกันอยู่ จะรู้สึกรู้สาอีกที โน่น! ม็อบเต็มถนน.
กิเลน ประลองเชิง
คลิกอ่านคอลัมน์ “ชักธงรบ” เพิ่มเติม
แหล่งข่าว: ไทยรัฐ