“วิษณุ เครืองาม” อดีตรองนายกรัฐมนตรี เสนอตั้งคณะกรรมการเฉพาะกิจ ผลักดันหลักสูตรการศึกษา Active Learning เพื่อพัฒนาการเรียนรู้ของเด็กไทยให้มั่นคงและยั่งยืนในอนาคต

วันที่ 27 ธันวาคม 2567 มีรายงานว่า ศาสตราจารย์วิษณุ เครืองาม อดีตรองนายกรัฐมนตรี เปิดเผยถึง หลักสูตร Active Learning โดยเฉพาะในรูปแบบ GPAS 5 Steps มีศักยภาพสูงในการพัฒนาผู้เรียนให้คิด วิเคราะห์ และลงมือปฏิบัติได้อย่างมีประสิทธิภาพ ด้วยการเรียนรู้ที่ไม่จำเป็นต้องพึ่งพาเทคโนโลยี หรือสื่อการสอนราคาแพง อาทิ สมาร์ตบอร์ด หรือแอปพลิเคชันเฉพาะทาง แต่อาศัยเพียงการออกแบบกิจกรรมการเรียนรู้ให้เชื่อมโยงกับชีวิตประจำวัน เช่น การแก้ปัญหา เชิงปฏิบัติ การเรียนรู้แบบโครงงาน (Project-Based Learning) และการคิดวิเคราะห์แบบเชิงระบบ (Systematic Thinking)

นอกจากนี้ หากมีการเปลี่ยนไปใช้หลักสูตรอื่น เช่น หลักสูตรฐานสมรรถนะ (Competency-Based Curriculum) หรือปรับหลักสูตรแกนกลาง (หลักสูตรแกนกลางการศึกษาขั้นพื้นฐาน พุทธศักราช 2551) ใหม่ทั้งหมด อาจนำมาซึ่งภาระค่าใช้จ่ายเพิ่มเติม สำหรับรัฐบาลและผู้ปกครอง ทั้งในเรื่องการจัดพิมพ์หนังสือเรียนใหม่ การอบรมครูผู้สอน และ การจัดหาสื่อเทคโนโลยีต่าง ๆ ที่อาจไม่จำเป็นต่อกระบวนการเรียนรู้ในบริบทของโรงเรียนขนาดเล็กหรือในพื้นที่ชนบท

สำหรับ หลักสูตร Active Learning : พัฒนาการศึกษาไทยอย่างยั่งยืน โดยเน้นการพัฒนาทักษะในศตวรรษที่ 21 ของผู้เรียนผ่านขั้นตอนสำคัญ 5 ขั้น ได้แก่

1. การกำหนดเป้าหมาย (Goal Setting) : นักเรียนและครูร่วมกันกำหนดเป้าหมายการเรียนรู้

2. การเตรียมการเรียนรู้ (Preparation) : วางแผนการเรียนรู้ร่วมกัน

3. การปฏิบัติ (Action) : ลงมือทำกิจกรรมที่เชื่อมโยงกับชีวิตจริง

4. การตรวจสอบและปรับปรุง (Supervision and Revision) : วิเคราะห์และปรับปรุงผลลัพธ์

5. การประเมินผล (Evaluation) : สรุปผลการเรียนรู้ที่เกิดขึ้น

ศาสตราจารย์วิษณุ กล่าวต่อไปว่า เชื่อว่าแนวทางที่จะประสานกับรัฐบาล และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการให้มีการขับเคลื่อนนโยบายดังกล่าวอย่างต่อเนื่อง เพื่อพัฒนาระบบของประเทศนั้น รัฐบาลคงทราบอยู่แล้วว่าจะต้องทำอย่างไร

แต่ว่าสิ่งที่สามารถแนะนำช่วยเหลือได้ก็จะทำ อาศัยว่ารู้จักมักคุ้นกันกับคนในรัฐบาล อาจจะแนะนำหรือบอกกล่าวไป แต่บางครั้งอาจจะมีคนที่แนะนำดีแล้วก็ได้ ต้องช่วยกันหลายคนหลายฝ่าย อาศัยความร่วมมือระหว่างภาครัฐและภาคเอกชน โดยเฉพาะภาคเอกชน นักการศึกษา และนักวิชาการคุรุศาสตร์ คงจะต้องให้คำแนะนำต่อกระทรวงศึกษาธิการในเรื่องนี้ และที่สำคัญที่สุดคืออย่าดื้อ เขาแนะนำก็นำไปพิจารณาประกอบด้วย

ทั้งนี้ ศาสตราจารย์วิษณุ ยังมีข้อเสนอเพื่อสร้างความต่อเนื่องในการผลักดันหลักสูตร Active Learning GPAS 5 Steps ให้มีการจัดตั้งคณะกรรมการเฉพาะกิจ เพื่อกำกับดูแล และขับเคลื่อนหลักสูตร Active Learning ให้เกิดผลอย่างเป็นรูปธรรม พร้อมทั้งวางรากฐานให้หลักสูตรนี้ สามารถดำเนินต่อไปได้ ไม่ว่าจะมีการเปลี่ยนแปลงรัฐบาลในอนาคต

โดยเน้นให้ระบบการศึกษาสร้างเด็กไทยที่สามารถคิด ค้นคว้า และสร้างสรรค์นวัตกรรมเพื่อพัฒนาประเทศ การตั้งกรรมการดีที่สุดที่จะช่วยคิดในเรื่องเหล่านี้ และทำในเรื่องนี้ทั้งระบบ พร้อมสนับสนุนให้มีการตั้งกรรมการดูแล อาจใช้ว่า “นวัตกรรมทางการศึกษา” หรือ Active Learning หรือ การจัดการเรียนการสอนเชิงรุก ซึ่งไม่ว่ารัฐบาลจะเปลี่ยนไปอย่างไร เราต้องการระบบการศึกษาที่มั่นคงและยั่งยืน หลักสูตร Active Learning สามารถตอบโจทย์นี้ได้ โดยไม่เพิ่มภาระให้ทั้งรัฐบาลและประชาชน และที่สำคัญที่สุดคือ เด็กไทยทุกคนจะได้รับโอกาสในการเรียนรู้อย่างเท่าเทียม

ดังนั้น รัฐบาลจึงควรเร่งผลักดันแนวทางนี้อย่างจริงจัง เพื่อสร้างการศึกษาไทยที่ยั่งยืน และตอบโจทย์อนาคตของประเทศ ความคาดหวังของสังคมไทย เด็กไทย ต่อขบวนการที่เราจะปฏิรูปการศึกษา เมื่อรัฐบาลตั้งตัวติด ก็จะให้สัญญาอยู่แล้วว่าปีใหม่นี้จะได้เห็นนโยบายแปลก ๆ ใหม่ ๆ เกิดขึ้น ท่านนายกฯ ก็ไปปาฐกถาเมื่อไม่นานมานี้ว่าวิสัยทัศน์ประเทศต่อไปนี้จะเป็นอย่างไร แต่นั่นเป็นเรื่องในทางเศรษฐกิจ ทางสังคม การศึกษาก็เป็นส่วนเล็ก ๆ ส่วนหนึ่งเชื่อว่า ถ้ารัฐบาลมีนโยบายชัดเจน และการศึกษาฯ ก็รับสนอง นโยบายนั้นจะเดินหน้าในเรื่องนี้ได้ต่อไป.