จากกรณีถนนและอาคารถล่มระหว่างการก่อสร้างที่เกิดมากขึ้นในช่วงที่ผ่านมา รศ.ดร.สุรภาพ แก้วสวัสดิ์วงศ์ อาจารย์คณะวิศวกรรมศาสตร์ ภาควิชาวิศวกรรมโยธา มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ เปิดเผยว่า เหตุการณ์อาคารหรือถนนถล่มในหลายพื้นที่ของกรุงเทพฯ ได้กลายเป็นประเด็นถกเถียงที่สังคมกำลังให้ความสนใจอย่างมาก ซึ่งไม่ได้เป็นเพียงปัญหาเฉพาะหน้าหรืออุบัติเหตุแบบสุ่ม แต่สะท้อนถึงปัญหาโครงสร้างเชิงระบบที่ต้องได้รับการแก้ไขอย่างจริงจัง
โดยตลอดหลายปีพบว่าโครงสร้างถนนและอาคารในกรุงเทพฯ ต้องเผชิญกับความท้าทายหลากหลายปัจจัย ตั้งแต่ลักษณะทางธรณีวิทยา ดินอ่อนที่ทรุดตัวง่าย ไปจนถึงการบริหารจัดการโครงการที่ขาดการประสานงานระหว่างหน่วยงานอย่างมีประสิทธิภาพ โดยปัญหาดังกล่าวมีปัจจัยซับซ้อนหลายประการ ได้แก่
1.“ธรณีวิทยา” ความซับซ้อนของพื้นที่ซึ่งเป็นอุปสรรค แรกเริ่มพื้นที่กรุงเทพฯตั้งอยู่บนที่ราบลุ่มเจ้าพระยา ซึ่งเป็นดินเหนียวอ่อน หรือที่เรียกว่า “ดินเหนียวอ่อนกรุงเทพฯ” มีความหนาแน่นต่ำ เป็นน้ำเยอะ และเกิดการทรุดตัวได้ง่ายหลังรับน้ำหนัก แม้โครงสร้างตึกอาคารหรือถนนจะถูกออกแบบและสร้างมาตามมาตรฐาน แต่เมื่อเวลาผ่านไป ดินที่อ่อนตัวนั้น ย่อมทำให้โครงสร้างเกิดการทรุดตัว
ตัวอย่างที่ชัดเจนคือกรณีถนนพระราม 2 ซึ่งเผชิญปัญหาดินทรุดบ่อยครั้งจนต้องปิดถนนเพื่อซ่อมแซมบ่อย การแก้ปัญหาในพื้นที่ลักษณะนี้ต้องใช้วิธีการพิเศษ เช่น การฉีดซีเมนต์ลงในดินเพื่อเสริมความแข็งแรง อีกทั้งการสูบน้ำบาดาลในอดีตยังเป็นตัวเร่งที่ทำให้ดินยุบตัว ในหลายพื้นที่ แม้ว่าจะมีการควบคุมในช่วงหลัง แต่ผลกระทบสะสมจากการสูบน้ำเป็นเวลาหลายสิบปีได้สร้างปัญหาที่แก้ไขได้ยาก
2.ปัญหาด้านการจัดการและประสานงานระหว่างหน่วยงาน ซึ่งการเริ่มต้นโครงการก่อสร้างถนนหรือตึกอาคารในกรุงเทพฯ ต้องผ่านกระบวนการอนุมัติจากหลายฝ่าย รวมถึงการประสานกับหน่วยงานราชการหลายหน่วยงานที่ซับซ้อน ไม่ราบรื่น และไม่มีประสิทธิภาพ
3.ปัญหาการจัดการจราจรที่หนาแน่น ทำให้ต้องวางแผนให้รัดกุมเพื่อไม่กระทบต่อชีวิตประจำวันของประชาชน จึงมักต้องดำเนินการในช่วงเวลากลางคืน แต่ก็ส่งผลให้กระบวนการก่อสร้างล่าช้าออกไปอีก
4.การขาดการบำรุงรักษาและความประมาทระหว่างการก่อสร้าง ทำให้มีความเสี่ยงสะสมที่รอวันพังเสียหาย จากในกรณีสะพานหรือถนนที่ทรุดตัวและพังลง การซ่อมแซมมักมุ่งเน้นไปที่การแก้ไขเฉพาะหน้ามากกว่าการปรับปรุงเชิงโครงสร้างอย่างถาวร สิ่งนี้เพิ่มความเสี่ยงที่จะเกิดการถล่มได้อีก
รศ.ดร.สุรภาพกล่าวถึงมาตรการที่ควรดำเนินการ คือ 1.ต้องเพิ่มความเข้มงวดในการตรวจสอบโครงสร้าง ถนน สะพาน และอาคารอย่างสม่ำเสมอ โดยเฉพาะในพื้นที่ที่มีประวัติการทรุดตัวเยอะ เช่น พื้นที่โซนล่างกรุงเทพฯ 2.พัฒนาเทคโนโลยีเพื่อเฝ้าระวังความเสี่ยง โดยใช้ AI มาช่วย อาทิ การใช้โดรนประเมินสภาพของสะพาน รวมถึงใช้ AI ในการตรวจสอบหารอยแตกในโครงสร้าง พร้อมวิเคราะห์หาสาเหตุเบื้องต้นแบบเรียลไทม์
3.ยกระดับมาตรฐานการก่อสร้างและการออกแบบ โดยวางแนวทางการออกแบบโครงสร้างที่คำนึงถึงสภาพธรณีวิทยา และใช้วัสดุที่มีมาตรฐานสูงเพื่อลดปัญหาการทรุดตัวของดินเหนียวอ่อน โดยเฉพาะโครงการที่เกี่ยวข้องกับถนนและสะพาน 4.จัดทำแผนบำรุงรักษาระยะยาว โดยสร้างระบบการบำรุงรักษาและปรับปรุงโครงสร้างพื้นฐานในเชิงรุก แทนที่จะรอให้เกิดความเสียหายก่อนจึงดำเนินการ 5.ประชาสัมพันธ์ข้อมูลเกี่ยวกับเส้นทางที่มีความเสี่ยง พร้อมให้คำแนะนำเกี่ยวกับพฤติกรรมการใช้ถนนที่ปลอดภัย
นอกจากนี้ การทำให้ประชาชนเชื่อมั่นในระบบการคมนาคมต้องเริ่มจากความโปร่งใสของโครงการ ให้ความสำคัญกับการรายงานความคืบหน้าอย่างสม่ำเสมอ และการเปิดเผยข้อมูลงบประมาณ เพื่อสร้างความไว้วางใจในกระบวนการก่อสร้าง การอัปเดตข้อมูลผ่านช่องทางออนไลน์หรือแอปพลิเคชันจะช่วยให้ประชาชนเข้าใจและปรับตัวได้ง่ายขึ้น
และที่สำคัญกรุงเทพฯควรพัฒนาโครงข่ายการขนส่งสาธารณะที่ครอบคลุมและตรงต่อเวลาให้แก่ประชาชน เพื่อเป็นทางเลือกที่ดีในการลดความหนาแน่นของการจราจรบนท้องถนน.
อ่าน “คอลัมน์หนังสือพิมพ์ไทยรัฐ” เพิ่มเติม
แหล่งข่าว: ไทยรัฐ