หัวข้อเรื่อง “บังทอง” ในหนังสือ “ประวัติศาสตร์สามก๊ก เล่าปี่กับยอดคนในจ๊กก๊ก” (ยศไกร ส.ตันสกุล แสงดาวพิมพ์ พ.ศ.2567) ผู้รู้จีนรุ่นใหม่ ตั้งข้อสงสัย ผู้นำแบบเล่าปี่ ที่ได้ชื่อว่าเป็นคนดี…ดีแค่ไหน?
ชื่อเสียงผู้ทรงคุณธรรมเป็นอาวุธสำคัญ สร้างพลังศรัทธาให้ผู้คนติดตามพลีกายถวายชีวิตให้ ทั้งๆ ที่เล่าปี่แทบจะไร้ซึ่งทุนรอนใดๆ ในการชิงอำนาจ ทุกครั้งที่ออกศึกเล่าปี่ล้วนมีข้ออ้างหรือความชอบธรรมที่เพียงพอ
ตัวอย่างเมื่อครั้งร่วมกับกองซุนจ้านและพันธมิตรทำศึกกับตั๋งโต๊ะ นั่นก็นับว่าชอบธรรม
ทำศึกกับอ้วนสุด เพราะมีราชโองการจากฮ่องเต้ที่โจโฉเป็นผู้อ้าง ทำศึกกับลิโป้ ก็เพราะลิโป้ไร้คุณธรรมแย่งชิงเมืองซีจิ๋วจากตน นั่นก็ชอบธรรม
ต่อมาทำศึกกับโจโฉ หากมองในมุมที่ว่าโจโฉข่มขี่ฮ่องเต้ ก็ยิ่งนับว่าชอบธรรม
แต่เมื่อเล่าปี่ เคลื่อนทัพเปิดศึกกับเล่าเจี้ยง ซึ่งไม่ได้ทำผิดทำนองคลองธรรม หรือเป็นทรราชที่ควรล้มล้าง จึงเป็นครั้งเดียวที่เล่าปี่ทำศึกชิงเมืองโดยปราศจากข้ออ้างที่ดี
เป้าหมายเล่าปี่เปิดศึกกับเล่าเจี้ยง เพราะต้องการยึดดินแดนเอ๊กจิ๋วหรือเสฉวน เป็นรากฐานในการก่อร่างสร้างอาณาจักร ตามคำแนะนำของ “บังทอง”
สถานการณ์ตอนนั้น เล่าปี่ยึดเกงจิ๋วได้แล้วให้ขงเบ้งดูแล ตัวเองกับบังทองก็จับมือกันรุกเสฉวน
บังทองเสนอแนะเล่าปี่ เมืองเกงจิ๋วมีชัยภูมิไม่สู้ดี หลังเจอภัยสงครามหลายปีติดต่อ ฝ่ายซุนกวนตั้งมั่นอยู่ตะวันออก ฝ่ายโจโฉเรืองอำนาจอยู่ทางเหนือ จึงเป็นการยากที่จะก่อรูป “กระถางธูปสามขา” ขึ้นตามแผน
เอ๊กจิ๋วมีผู้คนมาก มีทุนทรัพย์เป็นพลเมืองนับล้าน มีเสบียงมากพอเลี้ยงดูกองทัพโดยไม่ต้องหาจากภายนอก
บังทองสรุป “ด้วยแสนยานุภาพนี้ เล่าปี่สามารถทำการใหญ่ได้”
เล่าปี่ตอบ “หากเปรียบโจโฉกับข้า ย่อมประดุจไฟกับน้ำ โจโฉใจคอคับแคบ ข้าจิตใจกว้างขวาง โจโฉเหี้ยมโหดรุนแรง ข้าโอบอ้อมอารี โจโฉมากเล่ห์อุบาย ส่วนข้าเปิดเผยภักดี ข้าและโจโฉแตกต่างกันอย่างสุดขั้ว นี่จึงนำมาสร้างความสำเร็จให้
หากข้าทำลายความสัตย์และความเชื่อถือที่ผู้คนมีให้แล้ว ตัวข้าจะยังสามารถจับใจผู้คนได้อีกหรือ?”
บังทองตอบกลับ “ในกลียุคนี้ ผู้นำต้องยืดหยุ่นปรับตัว ท่านต้องละทิ้งความอ่อนแอและขลาดเขลา ท่านต้องทำศึกแย่งชิงแผ่นดิน เพื่อสยบผู้คนให้ยอมเชื่อฟัง
ซึ่งแต่อดีต ผู้คนทั้งปวงย่อมเคารพนบนอบต่อผู้ครองอำนาจเสมอมา”
เหตุผลบังทองดี เล่าปี่รับฟังและดำเนินตาม เริ่มแผนสังหารสองขุนพลของเล่าเจี้ยงที่เฝ้าด่านไป่สุย แล้วจะนำทัพใหญ่เดินทัพเข้านครเฉิงตู ระหว่างงานเลี้ยงสุราฉลองชัยชนะที่ฟู่เฉิง เล่าปี่บอกบังทอง “ชัยชนะวันนี้ทำให้ข้ายินดีนัก”
บังทองกลับเตือน “การกล่าวแสดงความยินดี เมื่อโจมตีบ้านเมืองผู้อื่น ย่อมมิใช่วิสัยผู้ทรงธรรม”
เล่าปี่กำลังเมา…ฟังแล้วก็แย้งว่า “ในอดีตโจวอู่อ๋อง (มหาราชผู้ปราบราชวงศ์ซาง) นำทัพบุกปราบทรราชโจ้ว อ๋อง ก็ร้องรำทำเพลงฉลองเหมือนกัน” แล้วหลุดปากไล่บังทอง “เจ้าจงรีบออกไปเสียให้พ้น”
หลังสร่างเมา เล่าปี่เสียใจ เชิญบังทองกลับมาดื่มกินต่อแล้วถาม “เรื่องเมื่อครู่ผู้ใดเป็นฝ่ายผิด”
“ท่านและข้าผิดด้วยกันทั้งคู่” บังทองตอบ เล่าปี่หัวเราะ เรื่องนี้ผู้รู้รุ่นหลังวิพากษ์ว่า ทั้งเล่าปี่และบังทอง ซึ่งเป็นคนดีต่างก็สำนึกเสียใจ ในการแย่งชิงเมืองผู้อื่นโดยไม่ชอบธรรม
เมืองไทย มีปฏิวัติหลายครั้ง ครั้งหนึ่ง ผู้นำทหารยอมรับ “โกหกเพื่อชาติ” จากนั้นก็ดูเหมือนว่า โรคโกหกเพื่อชาติ กลายเป็นโรคระบาดทางการเมือง คนไทยก็ดูจะเคยชินกับผู้นำโกหกมาหลายสมัย…
ถ้าคิดเสียว่าหาคนดีไม่ได้ อยู่กับคนเคยดี…หรือเอ้า! คนพยายามทำดี ก็ถือว่าโชคดีแล้ว ขนาดคนแบบเล่าปี่ยังดีไม่ได้ไปเสียทุกเรื่องนี่นา!
กิเลน ประลองเชิง
คลิกอ่านคอลัมน์ “ชักธงรบ” เพิ่มเติม
แหล่งข่าว: ไทยรัฐ