ความยากจนและความเหลื่อมลํ้า “ในประเทศไทย” นับวันยิ่งเป็นปัญหาทวีความรุนแรงมากขึ้นในสังคมไทย “ส่วนหนึ่งเกิดจากระบบเศรษฐกิจและการเมือง” ที่นำมาซึ่งการแข่งขันในภาคเอกชนถูกลดลงจนอำนาจทางธุรกิจกระจุกตัว และเกิดการทุจริตคอร์รัปชันในกลุ่มคนเอื้อประโยชน์ต่อกัน

สิ่งนี้เป็นปัจจัยความไม่เท่าเทียมกัน “ยิ่งมีมากเท่าใดความเหลื่อมล้ำยิ่งทวีคูณ” กลายเป็นโจทย์ท้าทายให้รัฐบาลใหม่เร่งแก้ไขนี้ รศ.ดร.ษัษฐรัมย์ ธรรมบุษดี คณะกรรมการประกันสังคม สะท้อนบนเวทีเสวนารัฐบาลใหม่เร่งฟื้นเศรษฐกิจเพื่อใคร? จัดโดย ขสช.หัวข้อ ความเหลื่อมล้ำความยากจนกับความเป็นธรรมในระบบเศรษฐกิจว่า

เมื่อใดก็ตาม “กลุ่มผู้อยู่ด้านบนสามัคคีกัน แชร์ทรัพยากร แชร์คอนเนกชัน และแชร์อำนาจต่อกันได้” มักนำมาซึ่งการกดขี่ประชาชนที่เกิดขึ้นมาหลายศตวรรษแล้ว แม้จะผ่านมาหลายชั่วอายุคนแต่สภาพบริบทก็ไม่แตกต่างเปลี่ยนแปลงไปจากเดิม กลายเป็นก่อเกิดการสร้างสี่เสาค้ำยันความเหลื่อมล้ำในประเทศไทย กล่าวคือ

เสาตัวแรก…“ความไม่มั่นคงทางเศรษฐกิจ” เพราะความเปราะบางทางเศรษฐกิจที่คนไทยวัยทำงานเกิน 50% อยู่ได้ด้วยค่าจ้างน้อยกว่า 1 หมื่นบาท/เดือน แต่ว่าคนกลุ่มนี้ล้วนทำงานเต็มเวลาอาบเหงื่อต่างน้ำ เพื่อสร้างความมั่งคั่งให้ประเทศนี้กลับได้รับค่าตอบแทนน้อยมากแล้วในจำนวนนี้ 60% เป็นแรงงานไม่มีค่าจ้างประจำด้วยซ้ำ

เรื่องนี้ก็มิได้เป็นความบังเอิญพิสดารของระบบการจ้างงาน “แต่เป็นความตั้งใจของชนชั้นผู้นำวางระบบมาแบบนี้” ไม่ว่าจะเป็นการเหมาค่าแรงหรือพนักงานเอาต์ซอร์สที่ขัดกฎหมายแรงงานประกาศใช้มาตั้งแต่ปี 2554 สิ่งนี้คือความเปราะบางทางเศรษฐกิจ และความยากจนล้วนเกิดจาการผูกขาดทรัพยากรของกลุ่มคนไม่กี่กลุ่ม

เสาตัวที่สองเกิดตามมา “ศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ถูกละเมิด” เมื่อเงินในกระเป๋าไม่เท่ากันอำนาจย่อมไม่เท่าตาม การเข้าถึงสิ่งการันตีศักดิ์ศรีก็ไม่เท่ากันไปด้วย อย่างสวัสดิการมักมีลำดับชั้นทางสังคม เช่น การศึกษาเรียนจบ ป.ตรี ม.ธรรมศาสตร์ ตลอดหลักสูตร 4 แสนบาท เมื่อเทียบค่าเทอมอนุบาลโรงเรียนเอกชนธรรมดา 2 แสนบาท/ปี

ซึ่งเป็นค่าใช้จ่ายสูงกว่า “การเรียนตลอดหลักสูตรระดับ ป.เอก ม.ธรรมศาสตร์ด้วยซ้ำ” ซึ่งในเรื่องนี้ก็เป็นเพียงมิติการศึกษาด้านเดียวเท่านั้น “แต่ว่ายังมีมิติที่อยู่อาศัย และมิติรักษาพยาบาล” ที่ล้วนถูกแบ่งลำดับชั้น มีเจ้าภาพกลุ่มทุนทั้งด้านการศึกษา การรักษาพยาบาล ยาเวชภัณฑ์ และด้านอาหารถูกครอบงำทั้งหมด

ดังนั้นเมื่อประชาชนเข้าถึงสวัสดิการต่างกัน “ศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์” ย่อมไม่เท่าต่างกันไปด้วย

เสาตัวที่สาม…“เสรีภาพการแสดงออก” เรื่องเสรีภาพการแสดงออกไม่ใช่เกิดขึ้นเฉพาะมิติการเมืองเท่านั้น เพราะที่ผ่านมาประเทศไทยต้องตกอยู่ “ภายใต้รัฐบาลอำนาจนิยม” แม้จะเปลี่ยนผ่านรัฐบาลนั้นมาแล้ว แต่กลไกการจำกัดเสรีภาพก็ถูกใช้มาต่อเนื่อง อย่างกรณี “สื่อมวลชนกล้าวิจารณ์การเมือง” ก็มักถูกเซ็นเซอร์อยู่ตลอด

โดยเฉพาะกรณี “วิจารณ์อันมีผลกระทบกับทุนใหญ่มักถูกฟ้องปิดปาก” แม้แต่เสรีภาพรวมตัวกันนัดหยุดงานผู้ใช้แรงงานก็จะถูกจำกัดสิทธิเหมือนกับว่า “แรงงานเป็นปลาทองอยู่ในโหลที่ กลุ่มทุนใหญ่เลี้ยงไว้” ทำให้เสรีภาพที่มีก็คือเสรีภาพในการทำงานรับเงิน และซื้อสินค้าของคนกลุ่มนี้ที่เราถูกจำกัดสิทธิไว้เพียงแค่นั้น

เสาตัวที่สี่…“การเลื่อนลำดับชั้นทางสังคม” สิ่งนี้เป็นหัวใจสำคัญของความเป็นประชาธิปไตยไม่ว่าคุณจะเกิดอยู่ในชนชั้นใด “ทุกคนมีสิทธิฝันถึงทุกตำแหน่งที่มีในสังคม” ยกตัวอย่างกรณีในประเทศฟินแลนด์ “นายกฯ” ที่มาจากครอบครัวชนชั้นแรงงาน “พ่อ” ติดสุรา“แม่” แต่งงานใหม่กับเพศเดียวกัน แต่สามารถเป็นผู้นำได้ในอายุ 34 ปี

ตรงกันข้ามกับ “ประเทศไทย” ที่เคยสำรวจประเมินต้นทุนชีวิตเด็กด้วยคำถามพื้นฐานครอบครัว 10 คะแนน แล้วมีเด็กอายุ 14 ปี “อยากเป็นครูสอนคณิตศาสตร์” แต่คะแนนประเมินติดลบ 2 ก่อน ย้อนถามคะแนนเช่นนี้จะเป็นครูได้อย่างไร แล้วก็ได้คำตอบว่าถ้าประเทศนี้วัดด้วยความสามารถความพยายามเขาเชื่อว่าจะได้เป็นครูแน่นอน

ปัญหาว่า “ประเทศนี้มิได้วัดจากความสามารถ-ความพยายาม” ทำให้เด็กอายุ 14 ปี เรียกร้องต้องการสังคมมีความยุติธรรมอันเป็นเรื่องที่เกิดขึ้นยากหากมีการผูกขาดอำนาจทางเศรษฐกิจมากมายขนาดนี้อยู่

เช่นนี้ทำให้ “สวัสดิการ” ก็เป็นแค่เศษเนื้อที่พวกเขาโยนข้ามกำแพงมาทั้งที่งบประมาณอันมีอยู่นั้นก็เพียงพอต่อการจัดสรรสวัสดิการแก่ทุกคน แต่เรามัวท่องคาถาจนทำให้เชื่อว่า “หากมีคนรวย มากพอจะช่วยสร้างงาน สร้างเงิน สร้างชีวิตที่ดีให้ประชาชนได้” สิ่งนี้ก็ผ่านการพิสูจน์มาหลายทศวรรษแล้วเห็นได้ชัดว่าเป็นเรื่องไม่จริงทั้งสิ้น

“ตัวอย่างกรณีนโยบายลดหย่อนภาษีบีโอไอสำหรับกลุ่มทุนขนาดใหญ่มักได้รับการลดหย่อนสูงกว่า 2 แสนล้านบาท แต่ว่าเรื่องนี้สวนทางงานวิจัยชี้ที่ให้เห็นว่าเงินจำนวนนี้กลับเข้าสู่ระบบเศรษฐกิจเพียงแค่ประมาณแสนล้านบาทเท่านั้น ดังนั้นคาถาที่บอกกันว่าถ้าเจ้าสัวเข้มแข็งแล้วจะมาช่วยคนอื่นได้นั้นไม่จริง” รศ.ดร.ษัษฐรัมย์ว่า

ย้ำว่าวิธีแก้ควรต้องกลับกันคือ “เงินบาทแรกจนถึงบาทสุดท้าย” ควรถูกกระจายสู่สวัสดิการของประชาชน เพราะสิ่งนี้ไม่ใช่เพียงแค่สิทธิทางการเมือง หรือสิทธิทางสังคมเท่านั้น “แต่เมื่อใดก็แล้วแต่คนในประเทศรู้สึกปลอดภัย” อย่างเช่นกรณีผู้เป็นแม่ถ้าไม่ต้องกังวลว่าจะไม่มีเงินซื้อนมให้ลูกก็ย่อมจะสามารถไปทำอย่างอื่นได้

ทำให้ไม่นานมานี้ “ได้ผลักดันสิทธิประโยชน์ด้านดูแลบุตรจาก 800 บาทเป็น 1,000 บาท/เดือน” ด้วยการใช้งบประมาณ 3 พันล้านบาทส่งผลให้เด็ก 1.2 ล้านคนได้รับประโยชน์ส่วนนี้ แต่ก็ยังมีสวัสดิการอื่นๆที่ไม่อาจเกิดขึ้นได้จาก “รัฐบาล” เห็นบางอย่าง สำคัญกว่าจนเงิน 7 พันล้านบาท จะมาอุดหนุนเด็กถ้วนหน้า 3 พันบาท ไม่เกิดขึ้น

เช่นเดียวกับ “เบี้ยผู้สูงอายุก็ไม่ได้ถูกปรับมานาน” เพราะผู้มีอำนาจเห็นกลุ่มกินรวบกินแบ่งทางเศรษฐกิจสำคัญกว่าหรือไม่ “จนไม่คิดว่าเรื่องนี้เกี่ยวกับความสามารถ” แต่เกี่ยวกับแรงจูงทางการเมืองเป็นสำคัญ

เมื่อเป็นแบบนี้ “ต้องปรับแนวคิดการลงทุน” อย่างกรณีกองทุนประกันสังคมจากลงทุนหุ้นตามใบสั่งมาเป็นการลงทุนให้ประโยชน์เพิ่มจาก 3% เป็น 5% กองทุนจะมีอายุเพิ่ม 9 ปี ขยับสิทธิประโยชน์ได้ หรือปรับสวัสดิการเข้าเรียน ป.ตรีฟรี ไม่ต้องกู้เงิน กยศ.ที่ใช้เงิน 4 หมื่นล้านบาท จะทำให้เด็กไทยสามารถจะเลื่อนลำดับชั้นทางสังคมได้

ฉะนั้นรัฐบาลมีอำนาจเต็มสามารถทำสวัสดิการให้เกิดประโยชน์แก่ประชาชนมากกว่าที่เป็นอยู่ได้ “แทนการเอื้อประโยชน์กลุ่มทุนขนาดใหญ่” ก็สามารถนำเงินมากระจายให้คนตัวเล็กที่เดือดร้อนได้.

คลิกอ่านคอลัมน์ “สกู๊ปหน้า 1” เพิ่มเติม