“วราวุธ” ลงพื้นที่เมืองสุพรรณบุรี ดูสถานการณ์น้ำในแม่น้ำท่าจีน ห่วงกลุ่มเปราะบาง ขอประชาชนที่อยู่ทั้ง 2 ฝั่งของแม่น้ำ ขึ้นไปอยู่ที่สูง
วันที่ 7 ตุลาคม 2567 นายวราวุธ ศิลปอาชา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (รมว.พม.) ลงพื้นที่จังหวัดสุพรรณบุรี เพื่อตรวจสถานการณ์น้ำในเขตตัวเมืองสุพรรณบุรี พร้อมมอบถุงยังชีพแก่ประชาชนผู้ประสบภัยน้ำท่วมที่หมู่ 4 ต.สนามชัย อ.เมือง จ.สุพรรณบุรี ให้แก่หญิงชราอายุ 89 ปี อาศัยอยู่กับบุตรสาว สุขภาพแข็งแรงและมีอารมณ์ดี และหญิงชราอายุ 80 ปี มีความพิการทางการได้ยิน สามีเสียชีวิต อาศัยอยู่กับน้องสาวอายุ 74 ปี มีความพิการทางจิตใจหรือพฤติกรรม โดยมีลูกหลานคอยดูแลและให้ความช่วยเหลือ ซึ่งหญิงชราทั้ง 2 คน มีรายได้จากเงินเบี้ยยังชีพผู้สูงอายุ เบี้ยความพิการ และเงินโครงการกระตุ้นเศรษฐกิจผ่านผู้มีบัตรสวัสดิการแห่งรัฐและคนพิการ (10,000 บาท)
จากนั้นลงพื้นที่ตรวจสถานการณ์น้ำบริเวณสะพานวัดพระรูป เทศบาลเมืองสุพรรณบุรี โดยเดินริมเขื่อนไปจนถึงโรงพยาบาลเจ้าพระยายมราช ซึ่งมี นายสรชัด สุจิตต์ สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร (สส.) จังหวัดสุพรรณบุรี รวมถึง หลุยส์ เฮสดาร์ซัน และ แชป วรากร ศวัสกร 2 นักแสดง ทีม พม.หนึ่งเดียว จังหวัดสุพรรณบุรี และหน่วยงานท้องถิ่นที่เกี่ยวข้อง ร่วมลงพื้นที่
นายวราวุธ กล่าวว่า วันนี้เรามี สส.สรชัด ปลัดจังหวัดสุพรรณบุรี นายกองค์การบริหารส่วนตำบลสนามชัย และทีม พม.หนึ่งเดียว จังหวัดสุพรรณบุรี ลงพื้นที่ร่วมกัน ซึ่งพื้นที่นี้แม้จะอยู่ใจกลาง อ.เมือง ที่ ต.สนามชัย แต่ก็อยู่ติดกับแม่น้ำท่าจีน จะเห็นได้ว่าน้ำที่ปล่อยจากประตูระบายน้ำพลเทพ พอถึงปริมาณ ณ จุดหนึ่ง จะล้นขึ้นมา และอีกฟากหนึ่งจะเป็นถนนเส้น 340 ที่จะวิ่งเข้ากรุงเทพมหานคร ทุกปีจุดนี้จะเป็นจุดที่น้ำจากแม่น้ำท่าจีน ท่วมไปถึงบริเวณถนนเส้น 340 ซึ่งขณะนี้ทางจังหวัดได้ประสานงานกับกรมโยธาธิการและผังเมือง กระทรวงมหาดไทย ในการที่จะขอสร้างเขื่อนกั้นตลิ่งต่อจากที่อยู่ในเขตเมืองขึ้นอีกประมาณ 1 กิโลเมตร เพื่อป้องกันไม่ให้น้ำบริเวณนี้ล้นขึ้นไปแล้วสร้างความเดือดร้อนให้กับพี่น้องประชาชนไปจนถึงถนนเส้น 340 และน้ำในบริเวณนี้จะลงไปในท่อระบายของเทศบาลเมืองสุพรรณบุรี และท่วมในเขตเทศบาลฯ
ดังนั้น การสร้างเขื่อนกั้นตลิ่งในบริเวณนี้จึงมีความจำเป็น และขอความอนุเคราะห์จากกรมโยธาธิการและผังเมือง เพื่อขอสนับสนุนงบประมาณในการสร้างเขื่อนให้พี่น้องที่อยู่บริเวณนี้ ถ้าเราดูในปัจจุบันจะเห็นว่าเด็กเล็ก ผู้สูงอายุ ล้วนแต่เป็นกลุ่มเปราะบางทั้งนั้น การดูแลพวกเขาไม่ว่าจะเป็นหน่วยงานใดก็แล้วแต่ งบประมาณสำคัญมาก วันนี้เรายังป้องกันไม่ให้น้ำท่วมไม่ได้ ยังมีถุงยังชีพจากหลายหน่วยงาน ทั้งจากส่วนท้องถิ่นและส่วนกลางของกระทรวง พม. และมี สส.สรชัด ที่จะคอยติดตามความเดือดร้อนอยู่ทุกระยะ แจ้งความเดือดร้อนมายังตนเพื่อประสานความช่วยเหลือกับหน่วยงานราชการต่อไป นอกจากทางส่วนราชการแล้ว ต้องขอขอบคุณ น้องหลุยส์ เฮสดาร์ซัน และน้องแชป วรากร ศวัสกร ที่ได้เข้ามาช่วยพี่น้องชาวสุพรรณบุรี
นายวราวุธ กล่าวต่อไปว่า ขณะนี้ที่ อ.เมือง จ.สุพรรณบุรี บริเวณโรงพยาบาลเจ้าพระยายมราช เป็นจุดที่แคบที่สุดของแม่น้ำท่าจีน ดังนั้นจะมีปริมาณน้ำที่ไหลเร็วและสูงกว่าพื้นที่อื่นๆ ซึ่งเขื่อนกั้นตลิ่งสร้างมาตั้งแต่ปี 2554 จากการที่ นายบรรหาร ศิลปอาชา นายกรัฐมนตรีคนที่ 21 พยายามแก้ไขปัญหาไม่ให้น้ำท่วมในเขตเศรษฐกิจของ จ.สุพรรณบุรี จนถึงวันนี้เป็นเวลา 13 ปีแล้ว ที่เขื่อนแห่งนี้ได้ป้องกันพี่น้องในเขตเทศบาลอำเภอเมือง และทุกครั้งที่มีปัญหาน้ำเยอะเข้ามา เราจะต้องมาดูที่บริเวณจุดนี้ เพราะด้านหลังจะเป็นบริเวณโรงพยาบาลเจ้าพระยายมราช และมีระดับน้ำที่ค่อนข้างจะวิกฤติ ถ้าหากมีน้ำสูงขึ้นจะกระทบต่อการรักษาประชาชน เพราะโรงพยาบาลเจ้าพระยายมราช เป็นโรงพยาบาลศูนย์ที่ไม่ใช่ดูแลแค่คนในพื้นที่ แต่ดูแลในจังหวัดใกล้เคียงด้วย
วันนี้ ตนมาดูว่าเขื่อนแห่งนี้ยังสามารถรับปริมาณน้ำได้หรือไม่ และที่น่าเป็นห่วงคือในปีนี้เขื่อนแห่งนี้น่าจะกันน้ำได้อยู่ แต่ในปีหน้าคาดการณ์ว่าจะมีปริมาณน้ำที่เยอะกว่านี้ สถานการณ์จะเป็นอย่างไร เราจะป้องกันได้อย่างไรนั้น เป็นประเด็นที่หลายฝ่าย รวมทั้งตนเอง จะต้องมาหารือกันว่าจะป้องกันให้กับพี่น้องประชาชนได้อย่างไร เพราะว่าน้ำในแต่ละปีต่อจากนี้ไปจะมีปริมาณที่เพิ่มมากขึ้นทุกปี
“ขอขอบคุณเจ้าหน้าที่ของกรมชลประทาน โดยเฉพาะสำนักงานชลประทานที่ 12 ที่บริหารจัดการน้ำได้อย่างมีประสิทธิภาพในปีนี้ จนทำให้แต่ละพื้นที่นั้นไม่ได้มีน้ำท่วมมากเกินไปและนานเกินไป การพร่องน้ำในแต่ละส่วนในแต่ละประตูน้ำมีความสำคัญมากกับพี่น้องประชาชน โดยเฉพาะบริเวณตอนล่างของแม่น้ำ คือพื้นที่อำเภอบางปลาม้าและอำเภอสองพี่น้อง วันนี้เราจึงต้องมาเตรียมตัว และมาดูความพร้อมการบริหารจัดการน้ำ เพื่อป้องกันความเดือดร้อนของพี่น้องประชาชนไม่ให้มากจนเกินไปได้อย่างไร”
นายวราวุธ กล่าวว่า เรายังโชคดีที่ลำน้ำปิงมีเขื่อนภูมิพลกั้นอยู่ ดังนั้น น้ำจำนวนมากใน จ.เชียงใหม่ จะไหลไปเก็บอยู่ที่เขื่อนภูมิพล ปัญหาอยู่ที่ว่าถ้าหากว่าร่องฝนตกมาทางตอนใต้ของเขื่อน หรือแม้แต่ในพื้นที่ของ จ.สุพรรณบุรี ปริมาณน้ำนั้นมหาศาล เพราะทุกวันนี้เวลาฝนตกจะตกลงมาแบบ Rain Bomb คือตกลงมาในปริมาณมาก สืบเนื่องมาจากอุณหภูมิของน้ำทะเลที่สูงขึ้น ส่งผลให้เมฆก่อตัวนานขึ้น ปริมาณน้ำฝนจึงตกลงมาเยอะในแต่ละครั้ง ซึ่งจะตัดสินว่าการบริหารจัดการน้ำในแต่ละพื้นที่ ไม่ว่าจะเป็นท้ายเขื่อนภูมิพล หรือแม้แต่ลุ่มน้ำเจ้าพระยาในภาคกลางนี้ เราจะบริหารกันอย่างไร
ทั้งนี้ จ.สุพรรณบุรี เป็นจังหวัดที่รองรับน้ำจากทั้งภาคตะวันตก คือจาก จ.กาญจนบุรี จะไหลลงมารวมทั้งหมด เข้ามาทางเขต อ.อู่ทอง หรือแม้แต่ทางภาคตะวันออก ซึ่งมีแม่น้ำน้อย และ จ.อ่างทอง ซึ่งจริงอยู่ที่รับน้ำจากแม่น้ำเจ้าพระยา และแม่น้ำน้อย แต่ถ้าหากกรณีที่ จ.อ่างทอง รับน้ำเต็มพิกัดแล้ว จะทะลักเข้ามาในเขต จ.สุพรรณบุรี และหากมีน้ำเหนือลงมาอีก บวกกับช่วงนี้เป็นช่วงเดือนตุลาคม คือน้ำทะเลหนุนสูงสุด จะเห็นได้ว่า จ.สุพรรณบุรี ถูกน้ำขนาบ ทั้งทางทิศตะวันตก ทิศตะวันออก ทิศเหนือ และทิศใต้ ดังนั้นการบริหารจัดการน้ำในแต่ละช่วงมีความสำคัญเป็นอย่างยิ่ง
ในตอนท้าย นายวราวุธ กล่าวด้วยว่า ตอนนี้ต้องฝากพี่น้องประชาชนที่อยู่ริมน้ำท่าจีนทั้งสองฝั่งให้ขึ้นไปอยู่ที่สูงให้มากที่สุด ทางศูนย์ราชการทุกส่วนจะป้องกันและพยายามไม่ให้ปริมาณน้ำเอ่อขึ้นไปมากกว่านี้ แต่อย่างที่ได้กล่าวไปว่า ไม่รวมปริมาณน้ำฝนที่จะตกมาในพื้นที่ ถ้าหากว่ามีปริมาณน้ำฝนตกลงมามาก จะทำให้ปริมาณน้ำสูงขึ้น แต่หากเกิดประสบปัญหาความเดือดร้อนฉุกเฉิน สามารถโทรศัพท์มาได้ที่สายด่วน พม. หมายเลข 1300 ของศูนย์เร่งรัดจัดการสวัสดิภาพประชาชน (ศรส.) กระทรวง พม. แล้วเราจะประสานกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องหรือว่าจะประสานงานไปยัง ส.ส. นายกเทศมนตรี และเจ้าหน้าที่องค์การบริหารส่วนตำบล จ.สุพรรณบุรี เราพร้อมที่จะดูแลพี่น้องประชาชนทุกคนที่อยู่ในริมสองฝั่งของแม่น้ำท่าจีน.
แหล่งข่าว: ไทยรัฐ