“รอมฎอน ปันจอร์” เตรียมยื่นญัตติด่วนด้วยวาจา กรณีตากใบที่จะขาดอายุความในวันที่ 25 ต.ค. 67 เรียกร้องจำเลยทุกคนที่ยังไม่มารายงานตัวต่อศาลขอให้มาเข้าสู่กระบวนการยุติธรรม มอง “ทวี” ไม่ระวัง หลังสัมภาษณ์ให้รอปาฏิหาริย์คดีตากใบ พ้อ เจ้าหน้าที่รัฐทำคดีสองมาตรฐาน

วันที่ 24 ต.ค. 2567 เมื่อเวลา 15.00 น. ที่อาคารรัฐสภา นายรอมฎอน ปันจอร์ สส. พรรคประชาชน แถลงข่าว การยื่นญัตติด่วนด้วยวาจา กรณีตากใบที่จะขาดอายุความในวันที่ 25 ต.ค. 67 ซึ่งเหลือเวลาอีกเพียง 33 ชั่วโมง โดยเรียกร้องจำเลยทุกคนที่ยังไม่มารายงานตัวต่อศาลขอให้มาเข้าสู่กระบวนการยุติธรรมเพื่อให้ความจริงปรากฏ และความเป็นธรรมเกิดกับผู้ที่ได้รับผลกระทบที่รอมาตลอด 20 ปีที่ผ่านมา ซึ่งในวันพรุ่งนี้ (25 ต.ค.67) จะมีการประชุมสภาผู้แทนราษฎร ชุดที่ 26 ปีที่ 2 ครั้งที่ 35 (สมัยสามัญประจำปีครั้งที่หนึ่ง) เป็นพิเศษ พรรคประชาชนจะเสนอญัตติด่วนด้วยวาจา ขอใช้เวทีของสภาผู้แทนราษฎร เปิดโอกาสให้มีการประชุมเพื่อปรึกษาหารือหาทางออกในเรื่องสันติสุขของประชาชนในสามจังหวัดชายแดนใต้ ที่ไม่ได้รับความเป็นธรรม และกรณีที่คดีตากใบจะหมดอายุความแล้ว เพื่อหาแนวทางในการเยียวยาผู้ได้รับผลกระทบและสูญเสียในเหตุการณ์ตากใบ โดยการแก้ไขกฎหมายที่เกี่ยวข้องหรือแก้ไขระเบียบ หรือ คำสั่ง รวมทั้งการเยียวยาทางด้านจิตใจของประชาชนที่ได้รับผลกระทบ โดยประมวลข้อเสนอแนะในที่ประชุมสภาผู้แทนราษฎรเพื่อส่งให้กับรัฐบาลและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเพื่อเป็นแนวทางในการปฏิบัติต่อไป

ต่อมา นายรอมฎอน ให้สัมภาษณ์ภายหลังการแถลงข่าว ถึงกรณีที่ พันตำรวจเอกทวี สอดส่อง รัฐมนตรีกระทรวงยุติธรรมกล่าวถึงคดีตากใบว่าขอให้รอปาฏิหาริย์นั้น ตนมองว่า พ.ต.อ.ทวี คงคิดตอนนั้น ไม่ได้ระวัง ยิ่งพูดแบบนั้นคนก็ยิ่งโกรธ ซึ่งตัวของรัฐมนตรีก็อยู่ในรัฐบาล มีอำนาจคนก็มองว่าคงจะทำอะไรได้มากกว่านี้

ผู้สื่อข่าวถามต่อว่า หากผ่านวันที่หมดอายุความไปแล้วความรุนแรงในภาคใต้ทวีความรุนแรงขึ้นหรือไม่ นายรอมฎอน ย้ำว่า อยากให้ใช้ปากแทนปืน ยิ่งสื่อสารมากเท่าไหร่ความรุนแรงก็จะยิ่งน้อยลงเท่านั้น ไม่ว่าจะกลุ่ม BIN ก็ต้องมีวิธีการพูดเจรจา ตนจึงอยากย้ำว่า งานนี้ไม่ใช่เรื่องของใคร พรรคไหน แต่เป็นเรื่องที่ต้องร่วมมือกัน

ซึ่งวันนี้ คณะกรรมาธิการก็ได้เชิญนายภูมิธรรม เวชชชัย รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม แต่เจ้าตัวก็ไม่ได้มาร่วมแต่อย่างใด เพราะตนอยากพูดคุยกับนายภูมิธรรมจริง ๆ สิ่งที่พูดออกไปอาจจะคลาดเคลื่อน คนในพื้นที่ก็จะได้สื่อสาร และพูดถึงสิ่งที่เขาต้องการ

นายรอมฎอน กล่าวต่อว่า เรื่องนี้ ไม่ใช่แค่คนมุสลิมที่กังวล แต่รวมถึงคนพุทธด้วยเช่นกัน หากรัฐบาลไม่จริงใจ ผลกระทบก็จะตกที่พวกเขา ในอดีตที่ผ่านมาคนเหล่านั้นเคยเจอมาแล้ว คนที่เปราะบางก็เป็นผู้รับกรรม ตนเห็นว่า คนถืออำนาจรัฐควรใจใหญ่กว่านี้ ควรใช้โอกาสนี้ในการพลิกวิกฤต ก็ต้องรอดูต่อไปในวันพรุ่งนี้ว่าจะมีการอภิปรายอย่างไรต่อในสภาบ้าง

ผู้สื่อข่าวถามว่าควรจะต้องมีตัวแทนจากรัฐบาล ลงพื้นที่ให้ความมั่นใจกับผู้เสียหายหรือไม่ นายรอมฎอน กล่าวว่า ก่อนหน้านี้ นางอังคณา นีลไพจิตร สมาชิกวุฒิสภา (สว.) ก็อยากเชิญนายกรัฐมนตรี ในฐานะผู้หญิง ไปฟังปัญหาด้วยกัน ไปดูว่าตลอด 20 ปีที่ผ่านมา ความยุติธรรม สำคัญกับคนเหล่านั้นแค่ไหน ส่วนการลงพื้นที่ ตนเห็นว่า สส.ก็ควรลงไป แต่คนที่มีอำนาจรัฐ ควรทำอะไรได้ดีกว่านี้ ให้ดูว่ารัฐบาลแคร์เขาบ้าง ขณะนี้เหลือ 33 ชั่วโมงสุดท้าย ไม่รู้จะเป็นปลายเห็นตรงไหนแล้ว จากนี้ไปคือการรับมือความรู้สึกของผู้คน

ส่วนมุมมองที่ว่ารัฐบาลใส่เกียร์ว่างในเรื่องนี้ นายรอมฎอน ระบุว่า หลายคนก็คาดหวังมากกว่านี้ บังเอิญตอนนี้ก็มีหลายคดีที่ให้เปรียบเทียบในประสิทธิภาพของเจ้าหน้าที่รัฐ แต่กรณีที่สำคัญกับประชาชนกลับได้รับกันคนละแบบ