รองโฆษกสภาทนายฯ แจง กรณี “ทนายตั้ม” โดนจับ หากเป็นข้อหาคนละส่วนกับการร้องเรียนที่สภาทนายฯ จะไม่มีผลต่อการพิจารณามรรยาททนายความ
วันที่ 7 พ.ย. 67 จากกรณีตำรวจกองปราบฯ นำหมายจับศาลอาญา จับกุม นายษิทรา เบี้ยบังเกิด หรือ ทนายตั้ม พร้อม นางปทิตตา เบี้ยบังเกิด ภรรยาได้ในพื้นที่ จ.ฉะเชิงเทรา ดังที่นำเสนอข่าวไปแล้วนั้น (เปิดปฏิบัติการจับ “ทนายตั้ม-เมีย” ที่ฉะเชิงเทรา หลังซิ่งรถหรูออกจากบ้าน)
เกี่ยวกับเรื่องนี้ นายวีรศักดิ์ โชติวานิช อุปนายกฝ่ายเทคโนโลยีและสารสนเทศ และรองโฆษกสภาทนายความในพระบรมราชูปถัมภ์ กล่าวว่า นายษิทรา ถูกตำรวจจับกุมในข้อหา ฉ้อโกง ฟอกเงิน อาจทำให้ลูกความที่ว่าจ้างกับทนายตั้ม หรือสำนักงานของทนายษิทรามีความกังวล ตามกระบวนการหากพนักงานสอบสวนนำตัวส่งศาลเพื่อฝากขัง ต้องดูว่า ศาลจะพิจารณาให้ประกันตัวหรือไม่ หากทนายตั้มได้ประกันตัวย่อมสามารถออกมาดูแลลูกความได้ตามปกติ
แต่ประเด็นสำคัญคือ ถ้าศาลไม่ให้ประกันตัว ทนายตั้มจะต้องถูกส่งตัวไปคุมขังยังเรือนจำพิเศษกรุงเทพฯ ดังนั้นถ้าเกิดว่ามีนัดกับศาลในคดีของลูกความ เรื่องนี้ทางเสมียนของทนายตั้มจะต้องส่งคำร้องต่อศาล ขอเลื่อนนัดพิจารณาในคดีความนั้นๆ แต่หากลูกความรู้สึกไม่สบายใจที่จะจ้างวานทนายคนดังกล่าวต่อ ต้องไปลองคุยเจรจาขอเลิกจ้าง และข้อตกลงกับทางสำนักงานฯ หรือเจ้าตัว เพื่อหาทนายใหม่ แต่ขึ้นอยู่กับข้อตกลงระหว่างตัวทนายและลูกความ ในการชำระค่าจ้างทนายความ ซึ่งตนเอง หรือแม้แต่สภาทนายความฯ ก็ไม่อาจก้าวล่วงได้
นายวีรศักดิ์ กล่าวอีกว่า ส่วนการพิจารณาคดีมรรยาททนายความ ทางสภาทนายฯ จะดูเป็นคดีๆ ไป ถ้าทนายความผู้ใดโดนคดี หรือถูกออกหมายจับ โดยข้อหาเป็นคนละส่วนกับที่ผู้เสียหายมาร้องเรียนต่อสภาทนายฯ เรื่องมรรยาททนายความ การถูกออกหมายจับหรือมีคดี จึงไม่มีผลกับการพิจารณาเรื่องมรรยาททนายความ ต่างจากทนายความที่ถูกศาลตัดสินจนคดีถึงที่สุด ว่าทนายคนนั้นทำผิดจริง แล้วมีการลงโทษจำคุก จะมีโทษทางมรรยาททนายความ ตั้งแต่โทษเบาสุด คือ การภาคทัณฑ์ ตักเตือน ต่อมาคือ การพักใบอนุญาตไม่เกินสามปี และขั้นร้ายแรงที่สุด คือ การลบชื่อออกจากทนายความ.
แหล่งข่าว: ไทยรัฐ