ตำรวจไซเบอร์ ตามจับ 3 ผู้ต้องหาชาวไทยแก๊งคอลเซ็นเตอร์ หลังร่วมขบวนการหลอกทำงานในเฟซบุ๊ก กดไลค์ หารายได้เสริม แล้วใช้อุบายหลอกให้โอนเงินลงทุน ต้นเหตุคดีสะเทือนใจ หญิงสาววัย 28 ปี โดดแม่น้ำเจ้าพระยาเสียชีวิต เผยเหยื่อหลงเชื่อโอนหมดเกลี้ยงบัญชีกว่า 338,000 บาท เป็นเงินที่เตรียมนำไปไถ่ถอนโฉนดที่ดิน

เมื่อวันที่ 29 กันยายน 2567 พล.ต.ท.วรวัฒน์ วัฒน์นครบัญชา ผบช.สอท. สั่งการให้ พล.ต.ต.นิพล บุญเกิด ผบก.สอท.2 พ.ต.อ.ปกรณ์กิตติ์ ธนวรินทร์กุล ผกก.3 บก.สอท.2 พ.ต.ท.สมิทธิกิจ อินทรหอม รองผกก.(สอบสวน) กก.3 บก.สอท.2 นำกำลังเข้าจับกุม น.ส.ซันมา มูลศรี อายุ 19 ปี ชาว จ.สมุทรปราการ นายอุทัย อารีย์รบ อายุ 44 ปี ชาว จ.สระแก้ว และนายมาณพ ฉิมทอง อายุ 59 ปี ชาว จ.นครราชสีมา ผู้ต้องหาตามหมายจับศาลจังหวัดนนทบุรี ที่ 930, 932, 933/2567 ในความผิดฐาน “ร่วมกันฉ้อโกงประชาชน และโดยทุจริตหรือหลอกลวงนำเข้าสู่ระบบคอมพิวเตอร์ซึ่งข้อมูลคอมพิวเตอร์ อันเป็นเท็จโดยประการที่น่าจะเกิดความเสียหายแก่ประชาชน”

พล.ต.ท.วรวัฒน์ กล่าวว่า สืบเนื่องจากเมื่อวันที่ 6 ก.ย. 67 น.ส.สุดารัตน์ บัวแสน อายุ 28 ปี สาวชาว จ.นครพนม ประกอบอาชีพนวดแผนโบราณ ก่อเหตุสลดกระโดดจากเรือข้ามฟากจมดิ่งในแม่น้ำเจ้าพระยา จนเสียชีวิต ขณะลงเรือข้ามฟากจากด้านท่าน้ำนนทบุรี ไปยังท่าน้ำฝั่งบางศรีเมือง ขณะเดินทางกลับที่พักย่าน อ.บางกรวย หลังเกิดความเครียดที่เข้าไปสมัครทำงานในเฟซบุ๊ก กดไลค์ เพื่อหารายได้เสริม แล้วถูกแก๊งคอลเซ็นเตอร์หลอกให้ลงทุน ก่อนใช้อุบายหลอกให้โอนเงินในช่วงวันที่ 5 – 6 ก.ย. 67 รวม 8 ครั้ง จนหมดเกลี้ยงบัญชีกว่า 338,000 บาท โดยยอดเงินที่สูญเสียไปทั้งหมดเตรียมนำไปไถ่ถอนโฉนดที่ดินที่จำนองไว้ กระทั่งในช่วงเย็นของวันเดียวกันได้ตัดสินใจปลิดชีพตัวเอง

ต่อมาชุดสืบสวน กก.3 บก.สอท.2 ได้ทำการสืบสวนจนทราบผู้ที่เกี่ยวข้องในขบวนการหลอกลวงในเครือข่ายแก๊งคอลเซ็นเตอร์กลุ่มนี้ จึงรวบรวมพยานหลักฐานขอนุมัติศาลจังหวัดนนทบุรี ออกหมายจับผู้ที่เกี่ยวข้องรวม 5 ราย ติดตามจับกุมได้แล้ว 3 ราย อยู่ระหว่างการติดตามตัวส่วนที่เหลืออีก 2 ราย

ด้าน พ.ต.อ.ปกรณ์กิตติ์ กล่าวว่า จากการตรวจสอบพบว่า ผู้ต้องหาที่อยู่ในขบวนการทั้ง 5 ราย มีการเปิดเป็นบัญชีธนาคารแบบปกติ และเปิดเป็นบัญชีประเภทสินทรัพย์ดิจิทัล โดยพบว่าผู้เสียชีวิตโอนเงินบาทไปยังบัญชีคนร้าย และมีการโอนเงินต่อไปยังบัญชีแถวที่ 2 เป็นบัญชีประเภทไฮบริด คือเป็นบัญชีเงินฝากธรรมดาและบัญชีเงินฝากสินทรัพย์ประเภทสินทรัพย์ดิจิทัลในประเทศไทยและนอกประเทศไทย โดยบัญชีประเภทนี้ จะเปลี่ยนจากเงิน Fiat (เงินสกุลตามท้องถิ่นนั้นๆ) เป็นสินทรัพย์ดิจิทัล โดยเงิน Fiat มิใช่เงินที่แลกเปลี่ยนในสินทรัพย์ดิจิทัล บัญชีม้าประเภทนี้ไฮบริด มักจะเปิดสินทรัพย์ไว้หลายศูนย์ เพื่อหลีกเลี่ยงการอายัดเงินของเจ้าหน้าที่ศูนย์รับแจ้งความ 1441

อีกทั้งสามารถที่จะเปลี่ยนเงินและยังใช้เงินของผู้เสียหายได้อยู่ถึงแม้บัญชีเงินฝากของคนร้ายคนนั้นจะโดนอายัด มีข้อสังเกต คือ ผู้ใช้ที่ผูกไว้กับศูนย์ซื้อขายสินทรัพย์ดิจิทัลฯ ของคนร้ายยังคงใช้ได้อยู่ แม้จะถูกอายัด คนร้ายอาจเข้าวอลเล็ตคนอื่น นำสินทรัพย์โอนไปยังบัญชีเงินฝากที่ไม่ได้ถูกอายัดเงิน ถึงแม้ธนาคารแห่งประเทศไทย ออกข้อกำหนดการโอนเงินเกิน 50,000 บาทต่อครั้ง หรือการโอนเงินเกิน 200,000 บาทต่อวัน จะต้องทำการสแกนใบหน้า ซึ่งแตกต่างกับสินทรัพย์ดิจิทัล ไม่ได้บังคับให้สแกนใบหน้า และจะมีกี่ธุรกรรมก็ได้ จึงทำให้ยากต่อการติดตาม

ทั้งนี้หากการซื้อขายสินทรัพย์ดิจิทัล กำหนดให้มีการสแกนใบหน้าจะช่วยป้องกันการถูกหลอกเป็นเหยื่อได้ อีกทั้งการซื้อขายสินทรัพย์ดิจิทัล เป็นโลกไร้พรมแดนเจอกันได้ทั่วโลก นี่คือสิ่งที่อันตราย และประกอบกับ พ.ร.ก.ป้องกันปราบปรามอาชญากรรมทางเทคโนโลยี จึงควรมีการแก้ไข มาตรา 3 นิยาม “ผู้ประกอบธุรกิจปัจจุบัน” มีแค่สถาบันการเงินและบริษัทรับชำระเงิน อาจมีปัญหาว่าสามารถอายัดได้หรือไม่ ควรใช้ ป.อาญามาตรา 33(2) ปัญหาคือ ยังไม่มีกฎหมายรับรองเช่น ฝ่ายกฎหมาย บลจ. ติดต่อกับเจ้าหน้าที่ตำรวจ เพราะไม่มี Banking เพราะไม่ใช่ธุรกิจภายใต้ พ.ร.ก.ฯ