ตร.ไซเบอร์ รวบหนุ่ม 32 ปี บัญชีม้าแก๊งมิจฉาชีพ หลอกย่าหลานชาว จ.อุดรธานี ให้โอนเงินเก็บทั้งชีวิต จำนวน 3.4 ล้านบาท พบวิธีการคล้ายกับเคส “ชาล็อต”
เมื่อเวลา 11.00 น. วันที่ 19 ธ.ค. 67 ที่กองบัญชาการตำรวจสืบสวนสอบสวนอาชญากรรมทางเทคโนโลยี (บช.สอท.) เมืองทองธานี อ.ปากเกร็ด จ.นนทบุรี พล.ต.ท.ไตรรงค์ ผิวพรรณ รรท.ผบช.สอท. พล.ต.ต.วิวัฒน์ คำชำนาญ รอง ผบช.สอท. พ.ต.อ.สุรพงษ์ ไทยประเสริฐ รรท.ผบก.สอท.3 พ.ต.อ.อภิรักษ์ จำปาศรี ผกก.1 บก.สอท.3
ร่วมแถลงผลการจับกุม นายภีมากร รสสุคนธ์สกุล อายุ 32 ปี ชาว จ.บุรีรัมย์ ผู้ต้องหาตามหมายจับศาลอาญา ที่ 6106/2567 ลง 16 ธ.ค. 67 ในความผิดฐาน ร่วมกันฉ้อโกงโดยแสดงตนเป็นบุคคลอื่น, ร่วมกันทำให้ผู้อื่นเกิดความกลัวหรือตกใจด้วยการขู่เข็ญ, ร่วมกันโดยทุจริตหลอกลวงนำเข้าสู่ระบบของคอมพิวเตอร์ ซึ่งข้อมูลคอมพิวเตอร์ที่บิดเบือนหรือปลอมไม่ว่าทั้งหมดหรือบางส่วน หรือข้อมูลคอมพิวเตอร์อันเป็นเท็จ โดยประการที่น่าจะเกิดความเสียหายแก่บุคคลใดบุคคลหนึ่ง และสมคบกันโดยการตกลงกันตั้งแต่สองคนขึ้นไปเพื่อกระทำความผิดฐานฟอกเงินและได้มีการกระทำความผิดฐานฟอกเงินเพราะเหตุที่ได้มีการสมคบกันและร่วมกันฟอกเงิน
พล.ต.ท.ไตรรงค์ กล่าวว่า มีผู้เสียหายเป็นหญิงอายุ 58 ปี และหลานชาย อายุ 17 ปี ชาว จ.อุดรธานี สองย่าหลาน เข้าร้องทุกข์กับตำรวจไซเบอร์ ว่าถูกแก๊งคอลเซ็นเตอร์ อ้างตัวเป็นเจ้าหน้าที่ ดีเอสไอ โทรศัพท์ติดต่อมายังหลานชาย แจ้งว่าได้อายัดบัญชีและปิดการใช้งานแอป Mobile Banking ในโทรศัพท์มือถือของผู้เสียหายได้ เมื่อผู้เสียหายตรวจสอบ ปรากฏว่าบัญชีธนาคารได้โดนอายัด และไม่สามารถเข้าใช้งานแอป Mobile Banking ผ่านทางโทรศัพท์มือถือจริง ทำให้ผู้เสียหายหลงเชื่อว่าผู้ที่ติดต่อเข้ามาเป็นเจ้าหน้าที่ตัวจริง
จากนั้นมีคนแต่งกายเป็นตำรวจทั้งชายและหญิง วีดีโอคอลเข้ามาพูดคุย แล้วแจ้งให้โอนเงินไปตรวจสอบจำนวน 50,000 บาท แต่เนื่องจากผู้เสียหายไม่มีเงินในบัญชี มิจฉาชีพจึงบอกให้ไปหาเงินจากบัญชีธนาคารของญาติหรือใครก็ได้ แล้วโอนไปให้ตรวจสอบ ผู้เสียหาย และย่าของผู้เสียหายหลงเชื่อ จึงนำโทรศัพท์ของย่าที่มีแอปพลิเคชันธนาคาร มียอดเงินในบัญชีจำนวน 2 บัญชี โอนเงินไปให้คนร้ายรวม 10 ครั้ง เป็นจำนวนเงิน 1,372,311 บาท
โดยผู้เสียหายยังได้นำโทรศัพท์ของปู่ตนเอง โอนเงินให้คนร้ายอีก จำนวน 1 ครั้ง เป็นเงิน 46,163 บาทแล้วได้นำบัญชีธนาคารอีกบัญชีของย่าซึ่งไม่สามารถโอนผ่านแอปพลิเคชันได้ ไปปิดบัญชีที่ธนาคาร แล้วนำเงินเข้าบัญชีของผู้เสียหาย ก่อนโอนให้มิจฉาชีพอีก 1 ครั้ง เป็นเงินจำนวน 1,998,004 บาท รวมความเสียหายที่โอนเงินทั้งสิ้น 3,412,642 บาท ซึ่งทั้งหมดเป็นเงินเก็บของปู่และย่าของผู้เสียหาย ที่สะสมเก็บออมจากการทำงานทั้งชีวิต
พล.ต.ไตรรงค์ กล่าวอีกว่า จากการสืบสวนสอบสวน พบว่ากลุ่มขบวนการแก๊งคอลเซ็นเตอร์กลุ่มนี้ใช้แผนอุบาย และวิธีการหลอก และสคริปต์การพูดติดต่อเหยื่อคล้ายกับวิธีการที่ใช้หลอก “ชาล็อต มิสแกรนด์” จึงทำการสืบสวนจนพบข้อมูลหลักฐานว่าเป็นกลุ่มขบวนการเดียวกัน ก่อนรวบรวมพยานหลักฐานในการขออนุมัติศาลอาญาออกหมายจับผู้ที่เกี่ยวข้องในการกระทำผิดทั้งหมด 6 ราย จับกุมได้แล้ว 1 รายคือ นายภีมากร ที่ไปเกี่ยวข้องในการเปิดบัญชีม้าใช้รับโอนเงินให้กับกลุ่มขบวนการหลอกลวงกลุ่มนี้ โดยติดตามจับกุมตัวได้ในพื้นที่ จ.บุรีรัมย์
จากการสอบสวน นายภีมากร อ้างว่าได้นำข้อมูลส่วนตัวไปใช้สมัครงานทางออนไลน์ โดยไม่ทราบว่าถูกนำไปใช้ในการกระทำความผิดในการเปิดบัญชีม้าในคดีนี้ อย่างไรก็ตาม ชุดสืบสวนอยู่ระหว่างการติดตามผู้กระทำผิดในส่วนที่เหลืออีก 5 ราย มาดำเนินคดีต่อไป.
แหล่งข่าว: ไทยรัฐ