คนดังแวดวงบันเทิง…หลอกให้ ลงทุนธุรกิจคลินิกเสริมความงามและสินค้าแบรนด์เนม ความเสียหายกว่า 500 ล้านบาท อีกข่าวร้อนๆเมื่อไม่นานมานี้
ย้อนไปก่อนหน้าช่วงต้นปี แวดวงเดียวกันมีกรณีรับเรื่องร้องทุกข์ที่ศูนย์รับแจ้งความ บช.ก. ประเด็น “มิจฉาชีพออนไลน์” เรื่องการซื้อของออนไลน์ แต่ไม่ส่งของ ไม่คืนเงิน และมีการโกงหลายรูปแบบ
ประเด็นสำคัญมีว่า…ร้านนี้เป็นร้านดังใน IG เคยมีการซื้อสินค้าแล้วก็ปกติดีไม่มีปัญหา ก่อนที่จะเลือกซื้อสินค้าก็ได้มีการตรวจสอบมาก่อนแล้วว่าร้านซื้อขายกับใคร…มีความน่าเชื่อถือขนาดไหน ที่ผ่านมามีดาราและคนมีชื่อเสียงซื้อขายกับร้านนี้มานาน อีกทั้งร้านนี้ก็เปิดมานานกว่า 10 ปี น่าจะมีความน่าเชื่อถือ
แล้วก็มาถึงกรณีบรรดา “บอสๆ” ขายตรงฉาว ใช้ดารามาล่อเหยื่อ ที่เชื่อมโยงส่อเค้าเข้าข่ายธุรกิจ “แชร์ลูกโซ่” รูปแบบธุรกิจที่ผิดกฎหมายในหลายประเทศที่มีกลโกงที่ซับซ้อน เพื่อดึงดูดให้ผู้คนเข้าร่วม
ย้ำว่ากลโกงสำคัญใน “ธุรกิจแชร์ลูกโซ่” คือ…“การนำเสนอรายได้สูงแบบเกินจริง”
“มุ่งเน้นไปที่การโฆษณาว่าผู้เข้าร่วมจะสามารถสร้างรายได้มหาศาลได้อย่างง่ายดายในเวลาอันรวดเร็ว โดยใช้ตัวอย่างผู้ที่
ดูเหมือนประสบความสำเร็จ เพื่อกระตุ้นความสนใจ ทั้งที่ในความเป็นจริง รายได้มักจะเกิดขึ้นจากการหาสมาชิกใหม่เท่านั้น ไม่ใช่จากการขายสินค้าอย่างแท้จริง”
แน่นอนว่า “คนดัง” ย่อมมีอิทธิพลสูงต่อการตัดสินใจชักชวน ชวนเชื่อมากกว่าคนทั่วไป ยิ่งถ้าคนดังผู้มีอิทธิพลเหล่านี้ใช้ไปในทางที่ผิด ย่อมสร้างความเสียหายให้กับผู้หลงตกเป็นเหยื่อได้มาก
พุ่งเป้าไปที่ “ประโยคชวนเชื่อ” เครื่องมือที่เป็นเหมือน “ดาบสองคม” มักใช้ในการสร้างความน่าเชื่อถือ กระตุ้นความสนใจ และจูงใจให้เกิดการตัดสินใจในทันที เป็นเทคนิคที่พบเห็นได้บ่อยในการตลาดและการโฆษณา
แต่…เมื่อประโยคชวนเชื่อเหล่านี้ถูกใช้โดยผู้ไม่หวังดี หรือเพื่อการหลอกลวงและฉ้อโกง อาจกลายเป็นเครื่องมือที่นำไปสู่การสูญเสียเงินหรือทรัพย์สินของเหยื่อ
ลองคิดวิเคราะห์แยกแยะกันในเบื้องต้นถึงประโยคชวนเชื่อ เพื่อเพิ่มความน่าเชื่อถือที่ว่านี้ คนดังมักจะใช้ประโยคที่เน้นความน่าเชื่อถือของตนเองในการแนะนำสินค้าหรือบริการ เช่น “ฉันลองใช้แล้ว ดีจริงๆค่ะ” หรือ “นี่คือสิ่งที่ฉันใช้เป็นประจำ”
ประโยคเหล่านี้ทำให้ผู้ติดตามรู้สึกว่าคนดังเหล่านั้นเคยใช้หรือทดลองจริง และสร้างความมั่นใจในสินค้า “การหลอกลวง” มักอาศัยวิธีนี้โดยให้คนดังพูดในลักษณะของการ “รับรอง” ซึ่ง
บางครั้งคนดังก็อาจไม่ได้ทดลองใช้จริง แต่การใช้คำว่า “ดีจริงๆ” ทำให้ผู้ติดตามเชื่อและตัดสินใจซื้อได้ง่ายขึ้น
ถัดมา…การใช้คำที่กระตุ้นความรู้สึกเร่งด่วน ข้อนี้เป็นอีกเทคนิคที่พบได้บ่อยคือการกระตุ้นความรู้สึกรีบเร่ง เช่น “มีจำนวนจำกัดนะคะ” หรือ “ลดราคาถึงวันนี้เท่านั้น” ประโยคแบบนี้มักทำให้ผู้ติดตามรู้สึกว่าเป็นโอกาสพิเศษที่มีอยู่จำกัด
“การหลอกลวงมักใช้กลยุทธ์นี้เพื่อกระตุ้นให้ผู้บริโภครีบตัดสินใจโดยไม่ทันได้ตรวจสอบข้อมูล ซึ่งเป็นกับดักที่ผู้ไม่หวังดีมักใช้ในการหลอกลวงเงินผู้บริโภคอย่างได้ผล”
สาม…การอ้างถึงผลลัพธ์ที่น่าดึงดูด โดยมีคำพูดที่เกี่ยวกับผลลัพธ์ เช่น “เห็นผลไวใน 7 วัน” หรือ “ได้กำไรมากถึง 10เท่า” เป็นตัวอย่างประโยคที่ใช้กระตุ้นความคาดหวังของผู้บริโภค
“เมื่อคนดังออกมาพูดถึงผลลัพธ์ในแง่บวก ผู้ติดตามจะเกิดความคาดหวังและมีแนวโน้มที่จะเชื่อว่าสินค้าหรือบริการนั้นๆ
สามารถให้ผลลัพธ์ตามที่กล่าวอ้าง การหลอกลวงมักอาศัยประโยชน์จากความคาดหวังเหล่านี้ โดยมักจะเสริมว่าสินค้าผ่านการทดลองหรือพิสูจน์แล้วว่าเห็นผลจริง ทำให้ผู้บริโภคคล้อยตามได้ง่าย”
สี่…การแอบอ้างถึงผลลัพธ์เชิงวิทยาศาสตร์ ข้อนี้เป็นอีกเทคนิคหนึ่งที่พบได้บ่อย เช่น “ได้รับการรับรองทางวิทยาศาสตร์” หรือ “ผ่านการทดสอบในห้องแล็บแล้ว” ซึ่งคำเหล่านี้ทำให้ผู้ติดตามรู้สึกว่าสินค้ามีมาตรฐานและปลอดภัย โดยเฉพาะอย่างยิ่งหากคนดังพูดว่าตนเองเป็นผู้ที่สนใจสุขภาพหรือคุณภาพชีวิต
น่าสนใจว่ากลยุทธ์การแอบอ้างถึงการทดสอบนี้มักใช้ในกรณีที่สินค้าหรือบริการนั้น…เป็นการฉ้อโกงและมักไม่มีหลักฐานจริงรองรับ
ห้า…การใช้คำที่เน้นการสร้างความใกล้ชิดกับคนดู บางครั้งคนดังจะใช้คำพูดที่สร้างความรู้สึกเป็นกันเองกับผู้ติดตาม เช่น “แค่ลองดูไม่เสียหาย” หรือ “ฉันอยากให้ทุกคนมีโอกาสได้ใช้”
“การใช้คำพูดลักษณะนี้ทำให้คนดูรู้สึกใกล้ชิด ไว้ใจ เนื่องจากคิดว่าคนดังนั้นห่วงใยตน กลยุทธ์นี้จึงช่วยสร้างความรู้สึกผ่อนคลาย ลดการระแวง อาจทำให้คนติดตามลองตัดสินใจซื้อโดยไม่คิดหน้าคิดหลัง”
หก…การสร้างแรงบันดาลใจเพื่อโน้มน้าวความเชื่อ คนดังมักใช้ประโยคที่ทำให้คนดูรู้สึกว่า “นี่คือโอกาสที่ยิ่งใหญ่” เช่น “ถ้าอยากเปลี่ยนชีวิต ลองใช้สิ่งนี้ดู” หรือ “นี่คือสิ่งที่ทำให้ชีวิตฉันดีขึ้น”
คำพูดเหล่านี้มีผลในการสร้างแรงบันดาลใจให้ผู้ติดตามรู้สึกว่า หากไม่ใช้สินค้านี้อาจเสียโอกาสไป การหลอกลวงที่อาศัยการสร้างแรงบันดาลใจเช่นนี้มักทำให้ผู้ติดตามคล้อยตาม โดยเฉพาะหากมีการโชว์ภาพลักษณ์คนดังในมุมที่ประสบความสำเร็จ หรือมีชีวิตที่ดีจากสินค้าหรือบริการนั้นๆ
ถึงตรงนี้ให้พึงระวัง…จะทำธุรกิจ จะซื้อ จะขาย จะทำอะไรเกี่ยวกับคนดังก็ต้องฟังหูไว้หู โดยเฉพาะประโยคชวนเชื่อที่ใช้ในการหลอกลวงฉ้อโกงมักมีลักษณะการสื่อสารที่ทำให้ผู้บริโภค (เหยื่อ) คล้อยตามได้ง่าย ซึ่งเน้นความน่าเชื่อถือ…กระตุ้นความรู้สึกเร่งด่วน…อ้างผลลัพธ์ที่น่าดึงดูด สร้างความใกล้ชิด…แรงบันดาลใจ
เหล่านี้ล้วนมีผลกระทบต่อการตัดสินใจ “ผู้บริโภค” ต้องพิจารณาตรวจสอบให้รอบคอบก่อนตัดสินใจ “คนดัง”…ก็เหมือนแบตเตอรี่มี “ขั้วบวก” และ “ขั้วลบ”
คลิกอ่านคอลัมน์ “สกู๊ปหน้า 1” เพิ่มเติม
แหล่งข่าว: ไทยรัฐ