พลเรือเอก จิรพล ว่องวิทย์ ผู้บัญชาการทหารเรือ นำกำลังพล ร่วมพิธีสงฆ์และพิธีบวงสรวงเรือพระที่นั่งและเรือรูปสัตว์ ขบวนพยุหยาตราทางชลมารค ในการพระราชพิธีเสด็จพระราชดำเนินถวายผ้าพระกฐิน ในปี 2567
เมื่อเวลา 09.09 น. วันที่ 27 ตุลาคม 2567 พลเรือเอก จิรพล ว่องวิทย์ ผู้บัญชาการทหารเรือ นำกำลังพล ร่วมพิธีสงฆ์และพิธีบวงสรวงเรือพระที่นั่งและเรือรูปสัตว์ ขบวนพยุหยาตราทางชลมารค เนื่องในโอกาสมหามงคลเฉลิมพระชนมพรรษา 6 รอบ 28 กรกฎาคม 2567 งานพระราชพิธีทรงบำเพ็ญพระราชกุศลถวายผ้าพระกฐิน โดยขบวนพยุหยาตราทางชลมารค ณ วัดอรุณราชวรารามราชวรมหาวิหาร ได้แก่ เรือพระที่นั่งสุพรรณหงส์ เรือพระที่นั่งนารายณ์ทรงสุบรรณ รัชกาลที่ 9 เรือพระที่นั่งอนันตนาคราช เรือพระที่นั่งอเนกชาติภุชงค์
โดยมีการประกอบพิธีบวงสรวงพระภูมิเจ้าที่ คล้องพวงมาลัย บวงสรวงแม่ย่านางเรือพระที่นั่ง
การบวงสรวงพระภูมิเจ้าที่ เป็นพิธีกรรมในการยอมรับนับถือและให้การคารวะบูชาต่อพระภูมิเจ้าที่ที่ปกปักรักษา คุ้มครอง ป้องกันสถานที่นั้น ๆ พิธีกรรมเป็นการสวดอาราธนาบารมี พระพุทธานุภาพ พระธรรมานุภาพ พระสังฆานุภาพ เทพพรหมเทวา รวมถึงท้าวจตุมหาราช ผู้เป็นใหญ่ในทั่วทิศทั้ง 4 ลงมาประทับ ณ สถานประกอบพิธี และพิธีเซ่นไหว้แม่ย่านางเรือ เป็นความเชื่อแต่โบราณว่าเรือทุกลำมีแม่ย่านางเรือสิงสถิตอยู่ คอยปกปักรักษา คุ้มครองป้องกันอันตรายทั้งปวง ก่อนออกเรือทุกครั้ง หรือการนำเรือไปใช้งาน จึงมักกระทำพิธีบูชาแม่ย่านางเรือก่อนเพื่อความเป็นสิริมงคล เป็นขวัญกำลังใจแก่กำลังพลประจำเรือ
สำหรับการจัดขบวนพยุหยาตราทางชลมารค ในการพระราชพิธีเสด็จพระราชดำเนินถวายผ้าพระกฐิน ในปี 2567 นี้ กองทัพเรือดำเนินการจัดรูปขบวนตามรูปแบบโบราณราชประเพณีทุกประการ โดยจัดรูปขบวนเรือ แบ่งออกเป็น 5 ริ้ว 3 สาย มีกำลังพลประจำเรือ ในทุกริ้วขบวน จำนวน 2,412 นาย (เฉพาะในส่วนของกำลังพลฝีพาย 2,200 นาย) ใช้เรือพระราชพิธีทั้งสิ้น 52 ลำ
– ริ้วสายกลาง ซึ่งเป็นเรือสายสำคัญ ประกอบด้วย เรือพระที่นั่ง 4 ลำ มีเรือพระที่นั่งสุพรรณหงส์ เรือพระที่นั่งอนันตนาคราช เรือพระที่นั่งนารายณ์ทรงสุบรรณ รัชกาลที่ 9 และเรือพระที่นั่งอเนกชาติภุชงค์ นอกจากนี้มีเรืออีเหลือง เรือกลองนอก เรือแตงโม (เรือกลองใน ซึ่งเป็นเรือของผู้บัญชาการขบวน / ผู้บัญชาการทหารเรือ) เรือกลองใน พร้อมด้วยเรือตำรวจนอก และเรือตำรวจใน
– ริ้วสายใน ขนาบข้างสายเรือพระที่นั่ง มีเรือทองขวานฟ้าและเรือทองบ้าบิ่น เป็นเรือประตูหน้าเรือเสือทยานชล และเรือเสือคำรณสินธุ์ เป็นเรือพิฆาต เรือรูปสัตว์ 8 ลำ และปิดท้ายสายในด้วยเรือเอกไชยเหินหาว และเรือเอกไชยหลาวทอง ซึ่งเป็นเรือคู่ชัก
– ริ้วสายนอก ประกอบด้วยเรือดั้ง และเรือแซง สายละ 14 ลำ
แหล่งข่าว: ไทยรัฐ