ปลายสัปดาห์ที่ผ่านมา “กรุงเดลี อินเดีย”…วิกฤติหนัก ฝุ่น PM2.5 ถล่มช่วงเข้าสู่ฤดูหนาวสูงถึง 209.3 ไมโครกรัมต่อลูกบาศก์เมตร…สูงกว่าค่ามาตรฐานขององค์การอนามัยโลก (WHO) ถึง 15 เท่าและมีค่า AQI (Air Quality index) สูงกว่า 350 จัดอยู่ในขั้น “ภาวะอากาศเลวร้ายมาก (very Poor)”

สาเหตุ…เกิดจากการเปลี่ยนผ่านจากฤดูฝนเป็นฤดูหนาว มวลอากาศเย็นหรือความกดอากาศสูงกดทับพื้นดิน เกิดสภาวะอากาศปิดและลมค่อนข้างนิ่ง อุณหภูมิลดลงจาก 34 เหลือ 20 องศาเซลเซียส

ช่วงที่ผ่านมาประเทศอินเดียมีฝนตกหนักมาก บนอากาศมีความชื้นสูง เมื่อเข้าสู่ฤดูหนาวจึงเกิดหมอก (Fog) ค่อนข้างมากผสมกับควันที่เกิดจากการจราจรรถเครื่องยนต์ดีเซล, โรงงานอุตสาหกรรม รวมทั้งการเผาตอซังฟางข้าวและไร่อ้อยต่างๆ จึงเกิดควัน (Smoke) ผสมกับหมอก (Fog) ในอากาศ…

กลายเป็นหมอกควัน (Smog) ระบายออกไม่ได้ จึงปกคลุมพื้นทำให้คนในกรุงเดลีเจ็บป่วยจำนวนมาก

อินเดียใช้การฉีดน้ำเป็นละอองฝอยขนาดเล็กเหนือถนนเพื่อจับฝุ่นให้ตกลงมา (An anti-smog truck sprinkles water over the street to settle down dust)

อย่างที่รู้กันว่า ฝุ่น PM2.5 เป็นฝุ่นละอองขนาดเล็กที่สามารถแทรกซึมเข้าสู่ระบบทางเดินหายใจได้ง่าย ส่งผลให้ประชาชนเผชิญกับปัญหาสุขภาพมากมาย เรียกได้ว่าเป็น “ฝุ่นจิ๋วพิษ PM2.5” มีผลกระทบต่อสุขภาพ ไล่เรียงตั้งแต่…

โรคระบบทางเดินหายใจ เช่น หอบหืด หลอดลมอักเสบ

ปัญหาทางหัวใจและหลอดเลือด, อาการระคายเคืองตา จมูก ลำคอ และยังมีความเสี่ยงที่เพิ่มขึ้นของการเกิดโรคมะเร็งปอด

เหลียวมอง “ประเทศไทย” อาจารย์สนธิ  คชวัฒน์  ผู้ทรงคุณวุฒิด้านสิ่งแวดล้อมและสุขภาพ ชมรมนักวิชาการสิ่งแวดล้อม บอกว่า ปัจจัยที่จะทำให้ฝุ่น PM2.5 ปีนี้อาจรุนแรงและเกิดนานมากกว่าปกติ

นับตั้งแต่มวลอากาศเย็นหรือความกดอากาศสูงจากแผ่นดินใหญ่ได้แผ่ลงมาที่ประเทศไทยแรงมากขึ้นในช่วงกลางเดือนพฤศจิกายน 2567 เป็นต้นไป มวลอากาศเย็นจะกดทับเหนือพื้นผิวดินประกอบกับมีความชื้นในอากาศค่อนข้างมาก  จึงทำให้พื้นที่ภาคเหนือ ภาคกลางและภาคอีสานมีอากาศปิด

“การระบายอากาศในแนวดิ่งทำได้ยากขึ้นหรือเกิดภาวะผกผันและเกิดภาวะการรมควันหรือการปกคลุมของ PM2.5 เหนือผิวดิน ปีนี้…อากาศจะหนาวมากขึ้นและนานขึ้น ดังนั้นฝุ่น PM2.5 อาจจะมีค่าสูงขึ้น”

ถัดมา…ประเทศไทยได้ประกาศเปลี่ยนค่ามาตรฐาน

ฝุ่นละออง PM2.5 ที่จะมีผลกระทบต่อสุขภาพจากเดิม 50 มคก.ต่อ ลบ.ม.เฉลี่ย 24 ชั่วโมง เป็น 37.5 มคก.ต่อ ลบ.ม.เฉลี่ย 24 ชั่วโมง เพื่อให้สอดคล้องกับผลกระทบต่อสุขภาพขององค์การอนามัยโลก มีผลบังคับใช้เมื่อวันที่ 1 มิถุนายน 2567

ดังนั้นหากฝุ่น PM2.5 เฉลี่ย 24 ชม.มีค่าระหว่าง 37.6 ถึง 50มคก.ต่อลบ.ม. จะมีค่าเป็นสีส้มคือมีผลกระทบต่อสุขภาพของประชาชน เพราะเดิมระดับสีส้มนั้นจะมีค่าฝุ่น PM2.5 ตั้งแต่ 50 มคก.ต่อ ลบ.ม.ขึ้นไป ปัจจัยที่สาม…แหล่งกำเนิดฝุ่น PM2.5 ที่อยู่ในประเทศไทยไม่ได้ลดลงแต่กลับเพิ่มขึ้น

ดังเช่นในพื้นที่เขตกรุงเทพมหานครมีรถเครื่องยนต์ดีเซลจดทะเบียนอยู่ประมาณ 2.9 ล้านคัน จากที่จดทะเบียนในปี 2566 ทั่วประเทศไทยทั้งหมด 12.625 ล้านคัน รถยนต์เหล่านี้ส่วนใหญ่ใช้น้ำมันดีเซลชนิดธรรมดา ซึ่งมีค่ากำมะถันสูงปล่อยฝุ่นออกมาได้ง่าย

ส่วนการใช้น้ำมันยูโร 5 ยังใช้กันน้อยมากเนื่องจากมีราคาแพงมากกว่า 40 บาทต่อลิตร…นอกจากนี้มีโรงงานอุตสาหกรรมในเขตกรุงเทพฯ และปริมณฑลเกือบ 6,000 แห่ง บางส่วนใช้เชื้อเพลิงจากฟอสซิล เช่น ถ่านหิน น้ำมันเตาหรือน้ำมันดีเซล รวมทั้งยังมีไซส์ก่อสร้างในเขต กทม.มากขึ้น

ส่วนในพื้นที่ภาคอีสานและภาคเหนือตอนบน ปีนี้มีโรงงานน้ำตาล 57 แห่ง มีการปลูกอ้อยมากกว่า 9.7 ล้านไร่คิดเป็นปริมาณน้ำตาลที่ผลิตได้ประมาณ 76.0 ถึง 78.0 ล้านตัน อาจมีการเผาไร่อ้อยเพื่อนำอ้อยไฟไหม้เข้าโรงงานน้ำตาลให้ทันก่อนโรงงานปิดหีบอ้อยในช่วงต้นเดือนเมษายน

ขณะที่ในพื้นที่ภาคเหนือมีการปลูกข้าวโพดบนพื้นที่สูงปีนี้เพิ่มขึ้นถึง 6.7 ล้านไร่และอาจจะเกิดการเผาตอซังของข้าวโพดในช่วงเดือนกุมภาพันธ์ถึงมีนาคม 2568 รวมทั้งอาจมีการเผาตอซังฟางข้าวในพื้นที่ภาคกลางในช่วงประมาณเดือนธันวาคมและเดือนมกราคม 2568 ด้วย

ปัจจัยที่สี่…เกิดการเผาไหม้ป่าไม้ในพื้นที่อนุรักษ์และป่าสงวนแห่งชาติรวมทั้งการเกิดไฟในพื้นที่เกษตรกรรม ซึ่งเกิดขึ้นเป็นประจำทุกปีในช่วงฤดูแล้งช่วงเดือนกุมภาพันธ์ ถึงต้นเดือนพฤษภาคม เป็นแหล่งกำเนิดฝุ่น PM2.5 ที่สำคัญ

ปัจจัยที่ห้า…ฝุ่นข้ามแดนจากประเทศเพื่อนบ้านซึ่งเกิดจากการไฟไหม้ป่าและการเผาตอซังฟางข้าวในประเทศเพื่อนบ้านและจะพัดเข้ามาสู่ประเทศไทยทางภาคเหนือและภาคอีสานในช่วงเดือนกุมภาพันธ์ถึงเมษายนของทุกปี ปัจจัยที่หก…ร่าง พ.ร.บ.อากาศสะอาดซึ่งเป็นความหวังของประชาชนในการที่จะใช้เป็นเครื่องมือที่สำคัญในการควบคุมแหล่งกำเนิดและลดปริมาณ

ฝุ่น PM2.5 รวมทั้งฝุ่นข้ามแดน

ซึ่ง “รัฐสภา” ได้มีมติรับในหลักการแล้วเมื่อต้นเดือนมกราคม 2567 แต่ผ่านมา 10 เดือนแล้วก็ยังไม่ออกมาเป็นกฎหมายที่จะใช้ในการจัดการฝุ่น PM2.5 ซึ่งคาดว่าคงใช้ไม่ทันในปีนี้แน่นอน…ทำให้ปีนี้มาตรการลดฝุ่น PM2.5 ของรัฐบาลคงไม่แตกต่างจากปีก่อน…

ปิดท้ายด้วยปัจจัยสุดท้าย…นโยบายและมาตรการในการป้องกัน ควบคุมและลดแหล่งกำเนิดของฝุ่น PM2.5 ปีนี้ของรัฐบาลยังไม่ชัดเจน ยังไม่เห็นนโยบายที่เป็นรูปธรรม

เท่าที่ควร ถึงตรงนี้ “ประเทศไทย” ก็ยังคงวนๆเวียนๆอยู่กับปัญหาฝุ่นจิ๋วพิษ PM2.5 ซ้ำซากกันต่อไป.

คลิกอ่านคอลัมน์ “สกู๊ปหน้า 1” เพิ่มเติม